เยือนเมืองชิงเต่า เจาะแหล่ง‘เกาเถี่ย’(1)

27 ธ.ค. 2560 | 07:04 น.
ด้วยวัตถุประสงค์สำคัญที่ต้องการยกระดับความรู้ เปิดโลกทัศน์และสร้างความเข้าใจของสื่อมวลชนไทยที่มีต่อสาธารณรัฐประชาชนจีนในเรื่องราวต่างๆ “สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน” จึงดำเนินโครงการ Insight China ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 ภายใต้การสนับสนุนจากสถานทูตจีนประจำประเทศไทย ในการนำคณะสื่อมวลชนไทยไปเยือนจีนเพื่อเจาะลึกในประเด็นที่น่าสนใจ โดยเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา คณะสื่อไทยได้เดินทางสู่ปักกิ่งและเมืองชิงเต่า มณฑลซานตง เพื่อทำความรู้จักและแสวงหาข้อมูลเชิงลึกเรื่อง “เกาเถี่ย” หรือ รถไฟความเร็วสูง ที่อีกไม่นานจะมาอยู่ใกล้ชิดกับคนไทย

TP10-3324-1A อาศัยการประสานงานจากเพื่อนสื่อมวลชนจีนจากสำนักข่าวซินหัว คณะสื่อไทยจึงได้มีโอกาสพบปะกับฝ่ายบริหารของบริษัท China Railway Rolling Stock Corporation (CRRC) ที่สำนักงานใหญ่ในกรุงปักกิ่ง บริษัท CRRC เกิดจากการควบรวม 2 บริษัทใหญ่ในธุรกิจรถไฟคือ CSR กับ CNR ในปี 2557 จนกลายเป็นอภิมหายักษ์ใหญ่ผลิตรถไฟที่ครองตลาดจีนมากกว่า 80% และมีเป้าหมายจะเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดโลกตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาลจีนในยุคประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่ต้องการ “ก้าวออกไป”

เหตุที่ต้องคุยกับ CRRC มิใช่เพราะเป็นบริษัทที่ติด TOP 500 ของโลก แต่เพราะโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทาง หนองคาย-กรุงเทพฯ ที่เจรจากันมายืดเยื้อยาวนาน จนต้องหาทางออกโดยใช้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาศัยอำนาจตาม ม.44 เร่งรัดโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 244 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุน 1.79 แสนล้านบาทก่อน โดยช่วงบ่ายของวันพฤหัสบดีที่ 21 ธันวาคม 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. จะเดินทางไปทำพิธี ตอกเสาเข็มต้นแรกในช่วงที่ 1 กลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร โดยผู้รับเหมาไทยจะเป็นผู้ก่อสร้าง แต่จีนเป็นผู้ออกแบบ ที่ปรึกษาควบคุมงานวิศวกรรม เทคโนโลยี และจัดหาขบวนรถไฟซึ่งเป็นบริษัทลูกของ CRRC

[caption id="attachment_243560" align="aligncenter" width="503"] ผู้เขียนขณะเยี่ยมชมโรงงานผลิต ผู้เขียนขณะเยี่ยมชมโรงงานผลิต[/caption]

คนจีนโบราณบอกว่า ถ้าอยากจะรํ่ารวยต้องสร้างถนน แต่คนจีนปัจจุบันบอกว่าต้องสร้างทางรถไฟความเร็วสูง ผู้บริหารของ CRRC ปักกิ่งกล่าวว่า รถไฟความเร็วสูงมีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ปัจจุบัน ระยะทางของรถไฟความเร็วสูงของจีนรวมทั้งสิ้นกว่า 20,000 กิโลเมตร เท่ากับ 60% ของระยะทางทั่วโลก ถือว่าเป็นเครือข่ายคมนาคมที่ทรงประสิทธิภาพของจีนที่เกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน

TP10-3324-2A จุดพัฒนาของ “เกาเถี่ย” เริ่มต้นอย่างจริงจังในปี 2547 ซึ่งนโยบายของจีนตอนนั้นคือ นำเข้าเทคโนโลยีและพัฒนาไปด้วยกัน จีนมีความมุ่งมั่นยกระดับเทคโนโลยีของตนเอง เพิ่มขีดความสามารถการขนส่ง ตั้งเป้าหมายที่เหนือกว่า สร้างกระบวนการผลิตขึ้นใหม่ ในปี 2550 จีนสามารถสร้างรถไฟที่ยาวถึง 16 ขบวน ปี 2551 สามารถเปิดเส้นทาง ปักกิ่ง-เทียนจิน อู่ฮั่น-กวางโจว จีนสามารถพัฒนาความเร็วได้ถึง 380 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและมีเป้าหมายจะพัฒนาให้เร็วกว่า 400 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในปี 2563 (ค.ศ.2020) ปัจจุบัน CRRC สามารถผลิตรถไฟที่ควบคุมจากระยะไกลได้ในกรณีฉุกเฉิน และให้ผู้โดยสารสามารถใช้ระบบการสื่อสารได้อย่างสะดวกสบาย

เส้นทางปักกิ่ง-คุนหมิง ระยะทาง 2,700 กิโลเมตร ยาวที่สุดในโลก เจาะภูเขา 226 ลูก คือผลงานที่จีนภาคภูมิใจ วันนี้ จีนคือฐานผลิตรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่ใหญ่ที่สุดในโลก กำลังการผลิต 5,000 คันต่อปี ผู้บริหารCRRC สรุปภาพว่า “เกาเถี่ย” เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง เพิ่มมูลค่าการขนส่ง ช่วยแก้ปัญหาการเดินทางของมหาชนในช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ เศรษฐกิจกระจายตัวมากขึ้นขณะที่เวลาในการเดินทางระหว่างเมืองลดลง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,324 วันที่ 21 - 23 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9