ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ยาขมคนไทย กินยาก แต่ดีแน่

16 ธ.ค. 2560 | 13:17 น.
MP31-3322-2A มาถึงสถานการณ์ปัจจุบันเรื่องภาษีที่ดินฯ มีการนำเสนอต่อรัฐบาลมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน เป็นกฎหมายที่สามารถเปลี่ยนแปลงกระบวนการจัดหารายได้ และนำงบประมาณไปพัฒนาประเทศแบบเก็บตรงไหน พัฒนาตรงนั้น ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างดีในชุมชนนั้นๆ แล้วทำไมของที่ว่าดี จึงเกิดไม่ได้สักที ใครจับก็มีอันต้องเจ็บอดีตเอาแค่พอรู้ว่ามีที่มา แต่เอา ปัจจุบันมาใส่ใจคิดกันเพื่อพัฒนาต่อ โดยคิดแบบคนยุค 4.0 เราจะเอาปัญหา Pain Point มาเป็นสาเหตุที่จะนำไปสู่การพัฒนา

โดยสาเหตุของปัญหาคือ 1.ข้อจำกัดของภาษีแบบเดิม (ภาษีโรงเรือน และ ที่ดิน กับภาษีบำรุงท้องที่) เกี่ยวกับฐานภาษี อัตราภาษี 2.ซึ่งมีความซํ้าซ้อนกับภาษีเงินได้ กับปัญหาการใช้ดุลพินิจของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการประเมินรายได้ 3.การจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่จากราคาประเมินของที่ดินซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2521-2524 ซึ่งไม่สะท้อนราคาตามปัจจุบัน 4.ไม่มีมาตรการในการกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างตามสมควรแก่สภาพทำให้เกิดพื้นที่รกร้างทั้งในใจกลางเมืองและรอบนอก ซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชาติ แถมหลายกรณีกลายเป็นพื้นที่อาชญากรรมดังปรากฏในข่าวมาทุกยุคสมัย จากความเปลี่ยว รก ขาดการดูแลของเจ้าของที่ดินนั้นๆ

สำหรับประโยชน์ที่ได้รับ ประกอบไปด้วย 1.ปฏิรูประบบโครงสร้างภาษีทรัพย์สินให้มีประสิทธิภาพในการจัดเก็บ และ เป็นไปตามมาตรฐานสากล และ สามารถแก้ไขระบบภาษีรูปแบบเดิมได้ 2.สร้างการพัฒนาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความสามารถในการพัฒนาการจัดเก็บ และสร้างจุดเริ่มต้นในการสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีการพัฒนาการบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน 3.ลดการใช้ดุลพินิจของพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่จะมีการใช้อำนาจในการให้คุณ ให้โทษต่อผู้เสียภาษี 4.เป็นการสร้างแรงผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างผลผลิตเพื่อพัฒนาต่อประเทศชาติ

ทั้งนี้พบว่ายังมีอุปสรรคในกระบวนการพิจารณา ดังนี้คือ 1.ประชาชนส่วนใหญ่มีทัศนคติเป็นลบต่อระบบการนำภาษีไปใช้ ซึ่งไม่ว่าภาษีตัวไหน หากมีการเปลี่ยนแปลงก็จะเป็นเรื่องยากที่จะได้รับการยอมรับ ตราบใดที่ระบบคอร์รัปชันยังคงมีอยู่มากในสังคมไทย (อันนี้เป็นกับภาษีทุกชนิดไม่มีอะไรให้น่าน้อยใจ) 2.ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดิน ฉบับติดกระดุมผิด อดีตที่เราไม่สามารถทำเรื่องนี้ได้สำเร็จ เพราะเราติดกระดุมเม็ดแรกผิด ตั้งแต่รัฐบาลชุดแรกๆ ที่นำ พ.ร.บ.นี้มาพิจารณาโดยมีความเชื่อดั้งเดิมว่า การออกกฎหมายภาษีเป็นอำนาจ และดุลพินิจของรัฐ แต่ฝ่ายเดียว แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ความมีส่วนร่วมในสังคมเป็นกระดุมเม็ดแรกที่ต้องถูกกลัดให้ถูกรังดุม จึงเป็นที่มาของ มาตรา 77 ได้กำหนดให้ “รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง” ซึ่งในเรื่องของภาษี ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงเลยก็คือ ประชาชน (ซึ่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญนี้ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง) นั่นคืออุปสรรคสำคัญที่เกิดจากอดีต ที่ส่งผลถึงปัจจุบัน

3.ระบบบริหารจัดการฐานข้อมูลของอสังหาริมทรัพย์ ที่จะต้องพัฒนาให้เกิด การทำเหมืองข้อมูล (Data mining) ระบบจัดเก็บข้อมูล (Data warehouses) ซึ่งใช้งบประมาณสูงมาก แต่ ณปัจจุบันทางกรมธนารักษ์ซึ่งเป็นผู้ถือข้อมูลบัญชีรายแปลงที่ดินทั้งประเทศได้ดำเนินการพัฒนาระบบดังกล่าวพร้อมที่จะใช้เป็นฐานในการจัดเก็บภาษีฉบับนี้ได้แล้ว 4.การสร้างความเชื่อมั่นในระบบการบริหารจัดการ และ ควบคุมมิให้เกิดกลไกการใช้ดุลพินิจแบบไร้การควบคุม หรือ หย่อนประสิทธิภาพในการควบคุมตรวจสอบ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทำให้ประชาชนมีศรัทธา และ เชื่อมั่น แต่เราก็ยังคงต้องเดินหน้าสร้างศรัทธากันต่อไปด้วยอาศัยกลไกของ ผู้ตรวจสอบภาคประชาชน ที่ใช้ IOT เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความเชื่อมั่น ซึ่งการสร้างความมีส่วนร่วมเพื่อนำไปสู่การยอมรับ และสนับสนุนในร่าง พ.ร.บ. ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง

MP31-3322-1A โดยได้นำเสนอแนวคิดในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้อย่างสร้างสรรค์ ดังนี้ คือ 1.คิดจากในไปหานอก คือคิดจาก อสังหาริมทรัพย์ของตน ให้เข้าใจอย่างแท้จริงก่อน เช่น ทรัพย์ของเราเข้าข่ายเสียภาษีนี้หรือไม่ ได้รับการยกเว้น หรือบรรเทาไหม แต่ถ้าเสีย เสียอย่างไร เท่าไรรับได้ไหม เช่น บ้านราคา ตํ่ากว่า 20 ล้านบาทไม่เสีย เกินจากนั้นเสีย 0.3% คือเป็นล้านละ 3,000 บาท

2.คิดจากร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง ไม่แนะนำให้คิดจากที่เขาบอกมา เขาเล่าว่า เพราะความสับสนปัจจุบันหลายกรณีเกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนที่บอกต่อกันมา จนกลายเป็นความเข้าใจผิด สร้างความสับสนให้กับสังคม ซึ่งท่านสามารถดาวน์โหลดร่าง พ.ร.บ. ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ... ได้ที่ http://www.senate.go.th/bill/bk_data/312-1.pdf

3.คิดแบบกลับด้าน คือ นึกถึงในมุมที่เราจะได้รับ ว่าถ้าเราเสียภาษีไป เราจะได้รับอะไรมา ซึ่งระบบภาษีนี้สามารถสังเกตและติดตามได้ง่ายมากกว่าท้องถิ่น เรามีรายได้จาก พ.ร.บ.นี้เท่าใด เอาไปพัฒนาอะไรให้เกิดประโยชน์บ้าง บางครั้งสิ่งที่เราไม่คาดคิด แต่มันส่งผลกับเราทั้งชีวิต ตัวอย่างเช่น หากท้องถิ่นท่านมีงบประมาณที่ดีในการพัฒนา สิ่งหลักๆ ที่ท้องถิ่นจะทำคือเรื่องของความปลอดภัย ไฟถนนหนทาง ซอกซอยที่สว่าง กล้องวงจรปิดที่ครอบคลุม นั่นคือประโยชน์ที่จะส่งผลแก่ลูกหลานเราโดยตรง ซึ่งสิ่งนี้แหละ คือการเสียไปเพื่อได้มา (ซึ่งมาตรฐานชีวิตที่ดีขึ้น)

ฝากให้ช่วยกันลองพิจารณา ช่วยคิด ช่วยทำเพื่อชาติ และลูกหลานเราเอง “If you focus on results, you will never change. If you focus on change, you will get results.” Jack Dixon ถ้ามัวแต่รอให้ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างก็จะไม่มีวันเปลี่ยนไป แต่ถ้าคุณเริ่มสร้างความเปลี่ยน แปลงด้วยตัวเอง สิ่งที่คุณคาดหวังก็จะมาถึง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,322 วันที่ 14 - 16 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว