ขับเคลื่อนท่องเที่ยวปีวอก สู่ ควอลิตี เดสติเนชัน ปั๊มรายได้ 2.3 ล้านล้านบาท

01 ม.ค. 2559 | 05:30 น.
ปิดฉากท่องเที่ยวปี 2558 กับการเติบโตของการท่องเที่ยวไทยในปีนี้ สะท้อนได้ถึงความแข็งแกร่ง แม้จะมีปัจจัยลบด้านการท่องเที่ยวในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นระเบิดย่านราชประสงค์เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 แต่ก็ฟื้นตัวในเวลาไม่นาน ขณะที่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะรัสเซีย ความผันผวนของค่าเงิน ภัยก่อการร้ายในเมืองปารีส ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบเพียงช่วงสั้น และไม่ได้ฉุดการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวในภาพรวมของไทยอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งยังมีโมเมนตัมเติบโตต่อเนื่องในปี 2559 และยังเป็นความหวังในการขับเคลื่อนจีดีพีของประเทศในปีหน้าด้วยเช่นกัน

[caption id="attachment_24181" align="aligncenter" width="600"] จำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ จำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ[/caption]

ปิดปี 58 ทัวริสต์เฉียด 30 ล.คน

จากสถิติการเติบโตของการท่องเที่ยวในปีนี้ ตัวเลขล่าสุด ณ วันที่ 27 ธันวาคม 2558 พบว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาเที่ยวไทยแล้ว 29.47 ล้านคน เพิ่มขึ้น 20.74% สร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว 1.41 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.66% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ดังนั้นในอีก 4 วันที่เหลือของปี 2558 กรมการท่องเที่ยว จึงประเมินว่าปีนี้ไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 29.8-29.8 ล้านคน สร้างรายได้ 1.42-1.43 ล้านล้านบาท หากรวมกับรายได้จากการเดินทางเที่ยวในประเทศของคนไทย ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 7.9 แสนล้านบาท

ทำให้ในปี 2558 ไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยว 2.2 ล้านบาทตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และมีการเติบโตมากสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งในแง่ของรายได้ และจำนวนนักท่องเที่ยว ที่เพิ่มกว่าประมาณการคาดไว้เมื่อต้นปี 2558 ที่มองไว้ที่ 28.8 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเที่ยวไทยมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ จีน ที่ปีนี้ประเมินว่าจะเกิน 8 ล้านคน รองลงมาเป็นมาเลเซีย และญี่ปุ่น นักท่องเที่ยวที่สร้างรายได้สูงสุด 3 อันดับแรก คือ จีน มาเลเซีย และสหราชอาณาจักร และนักท่องเที่ยวที่มีค่าใช้จ่ายต่อทริปสูง 3 อันดับแรก คือ อิสราเอล สวีเดน และแคนาดา

 ปี 59 ไม่เน้นปริมาณมุ่งรายได้

ส่วนเป้าหมายการท่องเที่ยวในปี2559 นั้น รัฐบาลตั้งเป้าสร้างรายได้ 2.3 ล้านล้านบาท แบ่งออกเป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศ 1.5 ล้านล้านบาท และรายได้ในประเทศ 8 แสนล้านบาท ซึ่งเน้นการตั้งเป้าหมายไปที่การเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งถือเป็นครั้งแรก ที่ในปี2559ไม่ได้นำเรื่องของการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวมาเป็นเป้าหมายในการทำงาน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ "กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ได้ประเมินศักยภาพในการรองรับด้านการท่องเที่ยวของไทยในขณะนี้แล้วว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เหมาะสมอยู่ในระดับ 28-30 ล้านคนต่อปี หากมากกว่านี้อาจไม่เป็นผลดีต่อทรัพยากรทางการท่องเที่ยวนั่นเอง

ต่อเรื่องนี้นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เผยว่า ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวในปี 2559 กระทรวงการท่องเที่ยวฯวางนโยบายไว้ชัดเจนว่าจะไม่เน้นจำนวนนักท่องเที่ยว แต่จะให้ความสำคัญการขยายฐานรายได้ เพื่อให้ตอบโจทย์เป้าหมายรายได้การท่องเที่ยวของรัฐบาลที่วางไว้ 2.3 ล้านล้านบาทในปี 2559 และเพิ่มเป็น 2.5 ล้านล้านบาทในปี 2560

ดังนั้นสิ่งที่จะเห็นในปี 2559 คือการปฏิรูปด้านการตลาด เน้นปฏิบัติการ 3 R คือ 1. Repositioning ปรับตำแหน่งทางการตลาดของประเทศไทย จากภาพลักษณ์จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวแบบคุ้มค่า (แวลู ฟอร์ มันนี่) มุ่งสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพ (ควอลิตี เลเชอร์ เดสติเนชัน) ผ่านการนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ 2. Restructure ปรับโครงสร้างตลาด มุ่งเจาะตลาดนักท่องเที่ยวระดับกลาง-บน ซึ่งจะมีการปรับโครงสร้างรายได้ ขยายตลาดการท่องเที่ยว 10 อันดับแรก เน้นหนักไปยังตลาดบน และกลาง อาทิ ตะวันออกกลาง บราซิล ลาตินอเมริกา ยุโรปตะวันออก เพื่อสร้างสมดุลในตลาด และเจาะกลุ่มตลาดใหม่ๆ ลดความเสี่ยงหากตลาดหลักอย่างจีนมีผลกระทบด้านเศรษฐกิจ

และ3. Rebalance ปรับสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มุ่งกระจายประโยชน์ในมิติเศรษฐกิจ โดยใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการสร้างสมดุล ด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

[caption id="attachment_24184" align="aligncenter" width="600"] เป้าหมายรายได้จากการท่องเทียว เป้าหมายรายได้จากการท่องเทียว[/caption]

เออีซีหนุนท่องเที่ยวอาเซียนโต

อีกทั้งการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ยังส่งผลดีต่อการขยายตลาดการท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนให้เติบโตขึ้นในปี 2559 จากปัจจัยบวกจากการเดินทางของนักท่องเที่ยวอาเซียน ที่มีประชากรรวมกัน 600 ล้านคนที่จะเดินทางท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้มากขึ้น รวมถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจใน 3 ประเทศอาเซียน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย มีประชากรรวมกันสูงถึง 400 ล้านคน ซึ่งไทยถือเป็นเดสติเนชันที่คนอาเซียนชอบมาเที่ยวและช็อปปิ้ง

นอกจากนี้ยังจะเห็นความร่วมมือกันของกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ภายใต้ยุทธศาสตร์ "อาเซียน คอนเน็กต์" (ASEAN Connect) พัฒนาท่องเที่ยวเชื่อมโยง 3 ระดับ ได้แก่ ระดับทวิภาคี ส่งเสริมให้ไทยกับประเทศคู่ค้าเที่ยวกันเอง, ระดับอาเซียนฟอร์อาเซียน (ASEAN for ASEAN) ดึงนักท่องเที่ยวชาติอาเซียนมาเที่ยว และระดับอาเซียนฟอร์ออล (ASEAN for All) เพื่อโปรโมตนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก อาทิร่วมกับกัมพูชา ผ่านแคมเปญ "ทู คิงดอมส์ วัน เดสติเนชัน" โปรโมตตลาดท่องเที่ยวร่วมกันที่กำหนดไว้ 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง-ตราด-เกาะกง-สีหนุวิลล์-กัมปอต-พนมเปญ-กรุงเทพฯ และเส้นทางกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ-ปอยเปต-พระตะบอง-เสียมราฐ-พนมเปญ-กรุงเทพฯ เป็นต้น

สำหรับโจทย์ใหญ่ปี 2559 บทหนักที่สุด คือ การเพิ่มรายได้จากเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ โดยวางเป้าหมายดันรายได้เติบโตราว 12% หรือราว 5.74 แสนล้านบาทโดยหากแยกเป็นรายตลาด จะพบว่าจีนเป็นถือเป็นพระเอกในการสร้างรายได้ครั้งนี้ เพราะต้องเพิ่มรายได้สูงถึง 14.1% หรือราว 4.01 แสนล้านบาท ขณะที่ฮ่องกง ต้องเพิ่ม 7.3% ญี่ปุ่น 7.6% เกาหลี 7.8% ไต้หวัน 9.8% และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกันอีก 3.3% เนื่องจากแนวโน้มของตลาดนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคดังกล่าวยังเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดนักท่องเที่ยวยุโรป วางเป้าหมายการเติบโตด้านรายได้ของตลาดยุโรปในปีหน้าไว้ราว 4% หรือราว 4.2 แสนล้านบาท โดยเพิ่มวันพักเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวที่ปัจจุบันอยู่ราว 9 - 10 วัน ให้ยาวนานมากขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,118
วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558 - 2 มกราคม พ.ศ. 2559