สนช.ผ่านฉลุย 177 เสียงร่างก.ม.ลูกที่มาส.ว.

30 พ.ย. 2560 | 10:03 น.
ท่ีประชุม สนช.มีมติรับหลักการร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. 177 เสียง "กล้านรงค์" ห่วงปมเลือกไขว้ส.ว. หวั่นบล็อตโหวต-ฮั้วกันง่าย

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ได้ พิจารณาร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์  ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)ชี้แจงว่าสาระสำคัญที่สุดของร่างกฎหมายนี้ คือการแบ่งกลุ่มบุคคลที่จะสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกและวิธีการเลือก ซึ่งทั้ง 2 เรื่อง ได้กำหนดเป็นแนวทางในรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ซึ่งในชั้นการพิจารณาสมมติไว้ 20 กลุ่ม เพราะวัตถุประสงค์ที่จะให้มีการเลือกส.ว.นั้น ต้องการให้ประชาชนทุกอาชีพ และทั่วประเทศ มีส่วนในการใช้สิทธิถ้วนหน้ากัน ให้ทุกคนไม่ว่าจะอยู่อาชีพใด สามารถมีสิทธิเข้าสมัครรับเลือกในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้เสมอ

ส่วนที่เป็นห่วงเรื่องความไม่เป็นธรรม เพราะประชากรแต่ละจังหวัดแตกต่างกัน โดยเฉพาะพื้นที่กทม.จะมีกลุ่มคนที่มีสาขาอาชีพที่เด่นดังจำนวนมาก แต่หลักการการมีส.ว.คือการเป็นตัวแทนประชาชนทั้งประเทศ ตามสาขาหรือคุณลักษณะที่สังกัดอยู่ ไม่ใช่เอาตัวจังหวัดเป็นเกณฑ์ หากดูคุณสมบัติจะเห็นชัดว่า การกำหนดคุณลักษณะเกี่ยวกับสถานที่ กรธ.ได้กำหนดไว้หลายอย่าง ดังนั้น ผู้สมัครแต่ละคนสามารถเลือกที่ไปลงสมัครได้หลายแห่ง สำคัญที่สุดขอให้คงหลักการว่าทุกคนที่มีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้าม ต้องลงสมัครได้ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ส่วนวิธีการเลือกที่เป็นลักษณะการเลือกไขว้ เพื่อป้องกันการฮั้ว หากถ้าสนช.มีอะไรที่เพิ่มเติมเสริมแต่งเพื่อป้องกันเล่ห์เพทุบายได้ ทางกรธ.ก็ยินดีรับฟัง

สำหรับการอภิปรายของสมาชิกส่วนใหญ่แสดงความเป็นห่วงวิธีการเลือกไขว้ และการบล็อคโหวต เช่น นายกล้านรงค์ จันทิก สมาชิกสนช. กล่าวว่า ตนเข้าใจดีว่ากรธ.พยายามร่างกฎหมายเพื่อให้ได้ส.ว.ที่มีความรู้ ความสามารถ และทำงานตอบสนองได้ทุกสาขาอาชีพ ขจัดการซื้อเสียง แต่ข้อกังวลคือการเลือกตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ ค่อนข้างสับสน และจะมีปัญหามาก แต่ละจังหวัดมีพื้นที่เล็กใหญ่ไม่เท่ากัน เราต้องยอมรับสภาพว่าพรรคการเมืองเขาคุมจังหวัด ทำให้กำหนดจังหวัดได้ จึงเกรงว่าสิ่งที่กรธ.วางไว้จะไม่ได้ผลตามเจตนารมณ์เพราะบล็อคกันได้ ทั้งนี้ การแปรญัตติให้กฎหมายดังกล่าวสมบูรณ์ก็ยากที่สุด เพราะถึงอย่างไรระบบแบบนี้ต้องเกิดขึ้น เนื่องจากเป็นไปตามกลไกรัฐธรรมนูญ แต่ตนอยากสะท้อนไปสู่กรธ. ว่าทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหากรณีที่เราพยายามหนีปัญหาการซื้อเสียง การบล็อคโหวต และระบบนี้จะแก้ปัญหาได้ดีกว่าระบบการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนหรือไม่

Meechai-1 ด้านประธานกรธ. ชี้แจงว่า ถ้าเราไม่มีความหวังที่จะทำสิ่งใหม่เดินไปข้างหน้าเพื่อเปลี่ยนแปลงให้เกิดประโยชน์สูงสุด บ้านเมืองคงจมปรักที่เดิม คงไม่ต้องลุกขึ้นมาปฏิรูปประเทศ ไม่ต้องทำยุทธศาสตร์ สิ่งที่ทำวันนี้จะเป็นตัวพิสูจน์ว่าคนไทยได้พัฒนาไปมากน้อยเพียงใด ถ้าคิดเพียงสิ่งที่เคยเป็นมา อาจจะเป็นอย่างที่สมาชิกพูด แต่นั่นแปลว่าคนไทยทั้งประเทศถูกซื้อได้หมดทุกคน ไม่ว่าจะใช้ระบบอะไรก็จะเกิดผลอย่างเดียวกัน แต่ความหวังคือคนไทยไม่ได้เป็นแบบนั้น ยังมีสิ่งดีงามลึกๆในตัวคนไทย เพียงแต่เขามีทางออกมากน้อยแค่ไหน ตนคิดว่าความน่าเป็นห่วงก็มีอยู่ แต่กรธ.พยายามหาลู่ทางขจัดให้เหลือน้อยที่สุด และหากสนช.ช่วยคิดเพิ่มเติมให้ดีกว่าที่มีอยู่ก็จะเป็นพระคุณใหญ่หลวง
จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติรับหลักการวาระแรก ด้วยคะแนนเห็นด้วย 177 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 10 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง โดยตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณา จำนวน 27 คน กำหนดเวลาพิจารณาของกรรมาธิการฯ 58 วัน ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว