เศรษฐกิจญี่ปุ่นปลายปียังแผ่ว เงินเฟ้อ 0.1% ยังห่างเป้า ลุ้นบีโอเจ ออกมาตรการอัดฉีดเพิ่ม

01 ม.ค. 2559 | 06:00 น.
นายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ยังต้องพยายามอีกมากในการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศและเพิ่มอัตราเงินเฟ้อให้ได้ตามเป้าหมายในปี 2559 หลังจากข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดที่เปิดเผยออกมาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคมที่ผ่านมา พบว่า ดัชนีราคาสินค้ายังขยับตัวน้อยมากแทบไม่กระเตื้องขึ้นเลย และการจับจ่ายใช้สอยของภาคครัวเรือนก็ยังคงแผ่วบาง

ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคหลัก หรือ core consumer-price index (Core CPI) ที่ไม่รวมอาหารสดและพลังงานในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ขยับขึ้นเพียง 0.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากค่าเงินเยนที่อ่อนตัวลงทำให้ราคาสินค้าที่ญี่ปุ่นนำเข้าจากต่างประเทศมีราคาสูงขึ้น ตัวเลขดังกล่าวยิ่งตอกย้ำความคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางของญี่ปุ่น หรือ บีโอเจ คงถูกสถานการณ์บีบบังคับให้จำเป็นต้องนำมาตรการใหม่ๆ มาใช้เพิ่มเติมในปีหน้า (2559) เพื่อเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจและขยับอัตราเงินเฟ้อให้ได้ตามเป้า

นับเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือนที่อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นขยับสูงขึ้น แต่มันก็ยังคงห่างไกลจากเป้าหมายของบีโอเจที่ตั้งเป้าเงินเฟ้อไว้ถึง 2% ส่วนการใช้สอยของผู้บริโภคในภาคครัวเรือนลดลงถึง 2.9% ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา นับเป็นการลดลงติดต่อกันไปเดือนที่สามแล้ว

ผู้ให้การสนับสนุนรัฐบาลของนายอาเบะออกมาระบุถึงผลงานของรัฐบาลว่า นับตั้งแต่ที่เขาเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา มีสัญญาณทางบวกเกิดขึ้นมาก เช่น ผลกำไรของธุรกิจภาคเอกชนขยับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ราคาหุ้นของบริษัทสูงขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ ตลาดแรงงานยังคึกคักเนื่องจากมีความต้องการแรงงานใหม่ สถิติในเดือนพฤศจิกายนชี้ว่า อัตราส่วนระหว่างตำแหน่งงานกับผู้สมัครงานขยับจาก 1.24 มาอยู่ที่ 1.25 ซึ่งหมายความว่า มีตำแหน่งงาน 125 ตำแหน่งสำหรับผู้สมัครงานทุกๆ 100 คน

สัดส่วนดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าตลาดแรงงานของญี่ปุ่นยังขาดบุคลากรที่จะป้อนตำแหน่งงาน ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้ค่าจ้างแรงงานขยับสูงขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงบริษัทขนาดใหญ่ ผลการสำรวจของเคดันเรน สมาคมธุรกิจใหญ่สุดของญี่ปุ่น พบว่า เงินโบนัสที่บริษัทขนาดใหญ่จะจ่ายให้พนักงานในช่วงปลายปีนี้เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 3.8% แต่เศรษฐกิจในภาพรวมยังไม่เข้าสู่วงจรที่รัฐบาลคาดหมายไว้ นั่นคือ เมื่อค่าจ้างแรงงานสูงขึ้นนำไปสู่ความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นของประชาชน และเมื่อการใช้เงินมากขึ้นเศรษฐกิจก็จะขยายตัว ซึ่งนำไปสู่การขึ้นค่าจ้างแรงงานอีก "ตอนนี้เศรษฐกิจยังคงเปราะบางกับความเสี่ยงทางด้านลบ เช่น การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคที่ยังคงแผ่วบาง" เป็นทรรศนะของนายยูกิ เอ็นโดะ นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัยฮามะกิน เขายังระบุว่า บีโอเจได้นำมาตรการการเงินเชิงผ่อนคลายมาใช้และซื้อพันธบัตรรัฐบาลคิดเป็นมูลค่าปีละประมาณ 80 ล้านล้านเยน (6.64 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เพื่ออัดฉีดเงินสดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ คาดว่าบีโอเจจะยังคงใช้มาตรการลักษณะนี้ต่อไปอีกในปีหน้า ซึ่งอาจจะมีต่อไปถึงเดือนเมษายนแล้วอาจมีการพิจารณาทบทวนนโยบายหลังทราบผลการเจรจาประจำปีเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน

ก่อนหน้านี้ นายฮะรุฮิโกะ คุโรดะ ประธานธนาคารกลางของญี่ปุ่น และนายอาเบะ ได้พยายามกระตุ้นเตือนให้บริษัทต่างๆ ปรับขึ้นเงินเดือนให้พนักงานเพื่อเป็นช่องทางหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็ยังไม่พอใจกับผลลัพธ์มากนักโดยทั้งคู่เห็นว่า บริษัทเอกชนยังเก็บเงินสดส่วนเกินไว้กับตัวมากเกินไปและปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานทั้งช้าและน้อยเกินไป ทั้งนี้ บีโอเจ ตั้งเป้าหมายเกี่ยวกับเงินเฟ้อไว้ที่อัตรา 2% ในปี 2559 "บีโอเจมีความตั้งใจมุ่งมั่นที่จะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาสภาวะเงินฝืดให้จงได้ และจะทำเป้าหมายเงินเฟ้อให้ได้ 2%" ประธานแบงก์ชาติญี่ปุ่นกล่าว

ด้านนายชูจิ โทโนะอุชิ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากบริษัทหลักทรัพย์ มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ มอร์แกน สแตนลีย์ ซีเคียวริตี้ ให้ความเห็นว่า การขึ้นราคาสินค้าโดยผลักภาระไปสู่ผู้บริโภคให้ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นนั้น เป็นสิ่งที่ผู้ค้าต้องทำอย่างรอบคอบ ไม่เช่นนั้นการขึ้นราคาอาจทำให้ลูกค้าหนีหาย การที่ตัวเลขการใช้จ่ายของผู้บริโภคภาคครัวเรือนในเดือนพ.ย.ลดลงนั้น ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสตุลาคม-ธันวาคมปีนี้ อาจจะหดตัว เนื่องจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคภายในประเทศมีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 60% ของจีดีพี และตั้งแต่ต้นปีมานี้ จีดีพีของญี่ปุ่นในไตรมาสเดือนเมษายน - มิถุนายน ก็เคยหดตัวลงครั้งหนึ่งแล้วก่อนจะกลับมาขยายตัวเล็กน้อยในไตรมาสกรกฎาคม - กันยายน นักวิเคราะห์กล่าวว่า ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบโลกยังอยู่ในทิศทางขาลง ทำให้มีความเสี่ยงว่าราคาสินค้าจะถูกกดดันให้ลดตาม ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่จะได้เห็นราคาสินค้าปรับสูงขึ้นอย่างที่บีโอเจคาดหวัง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,117 วันที่ 27 - 30 ธันวาคม พ.ศ. 2558