‘เอสเอ็มอีไทย’ ร้องระงม! ‘สินค้าจีน’ ทะลัก หวั่นปรับตัวไม่ทันตายแน่

03 ธ.ค. 2560 | 08:28 น.
1528

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีประสานเสียง! ห่วงสินค้าเอสเอ็มอีจีนทำรายได้หด หากไม่ปรับตัวตายแน่ ขณะที่ กำลังซื้อในประเทศยังไม่ฟื้น หวั่นค่าเงินบาทผันผวน ทุบซ้ำธุรกิจ ด้าน หน่วยงานเกี่ยวกับเอสเอ็มอี ระบุ จีดีพีเอสเอ็มอีอยู่ที่ 41-42% หรือมีมูลค่าตลาดประมาณ 4 ล้านล้านบาท

นายณัฐวุฒิ เผ่าปรีชา กรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารของบริษัท โจ-ลี่ แฟมิลี่ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลไม้อบแห้ง แบรนด์ ‘Wel-b’ กล่าวให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ความเสี่ยงที่สำคัญและกำลังจะกลายเป็นปัญหาในการทำตลาดอย่างมากสำหรับเอสเอ็มอี คือ เรื่องของสินค้าจากเอสเอ็มอีประเทศจีน ที่จะเข้ามาเป็นคู่แข่งโดยตรงกับเอสเอ็มอีไทย ซึ่งเข้ามาทำตลาดช่องทางออนไลน์ โดยมีจุดดึงดูดที่น่าสนใจสำหรับผู้บริโภค ก็คือ การจัดส่งสินค้าให้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และไม่มีข้อกำหนดในการซื้อสินค้าขั้นต่ำ ซึ่งมาจากการที่รัฐบาลจีนได้มีการทำข้อตกลงในเรื่องการยกเว้นภาษีกับประเทศต่าง ๆ และการสนับสนุนเรื่องของโลจิสติกส์


TP13-3234-B

ขณะที่ เรื่องการบริโภคภายในประเทศที่ค่อนข้างแย่ ก็ถือว่า เป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วง โดยกำลังซื้อในประเทศยังไม่ฟื้นกลับมา ทำให้ผู้บริโภคไม่ยอมจับจ่ายใช้สอย นอกจากนี้ เรื่องค่าเงินบาทที่ค่อนข้างแข็งค่า มาอยู่ที่ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา ก็ส่งผลกระทบอย่างมากต่อเอสเอ็มอี เพราะส่วนใหญ่จะกำหนดราคาขายเอาไว้ที่ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้เกิดปัญหา

ทั้งนี้ เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ก็ยังเข้าไม่ถึงการประกันความเสี่ยงเรื่องค่าเงิน อีกทั้งเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ยังรับจ้างเป็นผู้ผลิตแบรนด์ท้องถิ่น (House Brand) ให้กับลูกค้าในประเทศ เมื่อค่าเงินบาทแข็งก็จะได้รับผลกระทบ เนื่องจากไม่สามารถปรับขึ้นราคาค่าจ้างได้ เพราะลูกค้าก็จะหนีไปจ้างผู้ประกอบการในประเทศอื่น ที่ราคาถูกกว่าให้เป็นผู้ผลิต

สอดคล้องกับความคิดเห็นของ นายพัฒนศักดิ์ แสนสมรส กรรมการผู้จัดการ บริษัท พี ควอลิตี้ แมชชีน พาร์ท จำกัด และอุปนายกสมาคมรับช่วงการผลิตไทย ซึ่งมองว่า การเข้ามาทำตลาดของเอสเอ็มอีจากประเทศจีนด้วยช่องทางออนไลน์ จะเป็นความเสี่ยงอย่างมาก ต่อการทำธุรกิจของเอสเอ็มอีไทย ภาครัฐจะต้องเข้ามามีส่วนในการช่วยสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการจัดสัมมนาอบรมเกี่ยวกับการใช้งานเทคโนโลยี เนื่องจากต้องยอมรับว่า ยังมีเอสเอ็มอีอีกจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงการใช้งานเทคโนโลยี นอกจากนี้ ยังอาจจะต้องช่วยส่งเสริมหรือสนับสนุนในเรื่องค่าจัดส่งสินค้า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้วย


บาร์ไลน์ฐาน

“เอสเอ็มอีจะต้องรู้จักใช้ทุกช่องทางบนดิจิตอลเพื่อทำตลาด ไม่ว่าจะเป็น ไลน์ เฟซบุ๊ก และเว็บไซต์ เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น จึงต้องพยายามเข้าไปให้ถึงกลุ่มเป้าหมาย”

สำหรับข้อแนะนำสำหรับเอสเอ็มอีนั้น จะต้องระมัดระวังเรื่องการลงทุน ต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ทยอยลงทุนแบบค่อยเป็นค่อยไป ยังไม่ต้องลงทั้งหมด 100% โดยจะต้องติดตามสถานการณ์และข่าวสารอย่างใกล้ชิด เพราะแม้ว่า เศรษฐกิจจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องภัยก่อการร้ายอยู่ เช่น ที่ประเทศเกาหลีเหนือ ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากประเทศญี่ปุ่นเท่าใดนัก

นอกจากนี้ ยังต้องดูเรื่องของเสถียรภาพของค่าเงินด้วย เพราะหากเศรษฐกิจดี ค่าเงินบาทก็ย่อมแข็งค่า ผู้ประกอบการทางด้านส่งออกอาจจะได้รับผลกระทบ ดังนั้น จึงต้องมีการทำประกันเรื่องของค่าเงินไว้ เพื่อป้องกันความผันผวนของค่าเงินที่จะมากระทบต่อธุรกิจ

 

[caption id="attachment_236103" align="aligncenter" width="503"] พิมพ์มาดา พัฒนปรัชญาพงศ์ ประธานกรรมการผู้บริหาร บริษัท โอคุสโน่ ฟู้ด จำกัด พิมพ์มาดา พัฒนปรัชญาพงศ์ ประธานกรรมการผู้บริหาร บริษัท โอคุสโน่ ฟู้ด จำกัด[/caption]

น.ส.พิมพ์มาดา พัฒนปรัชญาพงศ์ ประธานกรรมการผู้บริหาร บริษัท โอคุสโน่ ฟู้ด จำกัด เจ้าของธุรกิจคางกุ้งทอดอบกรอบฯ แบรนด์ Okusno เอง ก็ยอมรับเช่นกันว่า สินค้าจากเอสเอ็มอีจีนที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย ถือว่าเป็นความเสี่ยงที่จะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดกับธุรกิจในภาพรวมของเอสเอ็มอีไทย เนื่องจากมีโปรโมชันที่ดึงดูดใจลูกค้าทั้งเรื่องของราคาและบริการจัดส่งสินค้า โดยเอสเอ็มอีไทยที่ไม่มีการปรับตัว หรือปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการทำตลาด อาจจะได้รับผลกระทบอย่างมาก

สำหรับในส่วนของบริษัทเอง ก็คงจะได้รับผลกระทบบ้าง แต่คงไม่มากมายเท่าใดนัก เนื่องจากไม่ได้มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นคู่แข่งโดยตรงกับของบริษัทเข้ามาทำตลาด แต่จะเป็นไปในลักษณะของทางอ้อมมากกว่า จากการที่มีผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารขบเคี้ยวเข้ามาเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคมากขึ้น อย่างไรก็ดี บริษัทเองได้มีการปรับตัว เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยการออกผลิตภัณฑ์ต่อยอดจากเดิม ภายใต้รูปแบบของน้ำพริกขากุ้ง ซึ่งจะเน้นไปที่ตลาดส่งออกไปยังประเทศจีน เพราะมีรสนิยมในการรับประทานที่ใกล้เคียงกัน

“การที่บริษัทมุ่งเน้นไปที่ตลาดส่งออกมากขึ้น ก็ทำให้มีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเข้ามาในเรื่องของค่าเงินบาท ที่มีการแข็งค่าเป็นอย่างมาก ซึ่งส่งผลทำให้ผลตอบแทนที่ได้รับลดลง จากอัตราแลกเปลี่ยนกลับมาเป็นค่าเงินบาท”

 

[caption id="attachment_133391" align="aligncenter" width="503"] มงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธพว. มงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธพว.[/caption]

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ เอสเอ็มอี เดเวลลอปเม้นท์แบงก์ (SME Development Bank) กล่าวว่า จำนวนเอสเอ็มอีในประเทศ จากการสำรวจมโนประชากรจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า มีอยู่ประมาณ 3 ล้านราย หากคิดเป็นมูลค่าการตลาดทั้งหมดต่อปี น่าจะอยู่ที่ประมาณ 4 ล้านล้านบาท หากจากมูลค่าจีดีพีเอสเอ็มอีอยู่ที่ระดับ 41-42% ของจีดีพีประเทศไทย


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,318 วันที่ 30 พ.ย. - 2 ธ.ค. 2560 หน้า 13

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว