ธุรกิจหลักทรัพย์ไม่ตาย ตลาดโตอีกมาก‘เร่งพัฒนาระบบเทรด-คน’ตอบโจทย์ลูกค้า

26 พ.ย. 2560 | 11:15 น.
คนไทยสนใจลงทุนมากขึ้น นวัตกรรมทันสมัย สนับสนุนธุรกิจหลักทรัพย์ขยายตัว บล.จะไปได้ไกล คนในอุตสาหกรรมจะโตขึ้นได้ ต้องเร่งพัฒนาตัวเอง

นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย)ฯ เปิดเผยกรณีธุรกิจหลักทรัพย์จะอยู่ไม่ได้ เมื่อมีนวัตกรรมเข้ามาแข่งขันว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ปรับตัวไม่ทัน อาจจะเหนื่อยนิดหน่อย แต่ไม่ตาย เพราะยังมีลูกค้าใหม่ที่ต้องการเข้ามาลงทุนอีกจำนวนมาก และไม่กังวลเรื่องการแข่งขันลดค่าคอมมิสชัน แต่กังวลว่าจะพาโบรกเกอร์ให้ไปสู่ยุค 4.0 ได้อย่างไร คาด 1-2 ปีจะเห็นเป็นรูปเป็นร่าง

ปัจจุบันมีนักลงทุนมาเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นประมาณ 1 ล้านบัญชี แต่มีการเคลื่อนไหวประมาณ 4-5 แสนบัญชีเท่านั้น ในขณะที่กองทุนรวมมีมากถึง 5 ล้านบัญชี ในอนาคตจะหันมาลงทุนในหุ้นมากขึ้น และที่สำคัญการมีเทคโนโลยีที่ดีจะช่วยให้นักลงทุนเข้าถึงข้อมูล ช่วยในการเรียนรู้ ทำให้เกิดการลงทุนง่ายและมากขึ้น

MP17-3317-A นางภัทธีรากล่าวว่า ตลาดทุนไทยจะมีโอกาสเติบโตมาก แต่บริษัทหลักทรัพย์ และคนในอุตสาหกรรมนี้จะต้องเร่งพัฒนา ปรับรูปแบบในการให้บริการ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้นักลงทุนแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ เริ่มต้นการลงทุนจากเงินออม ใช้แอพพลิเคชันมาช่วยหรือลงทุนแบบง่ายๆ กลุ่มที่ 2 เป็นการลงทุนด้วยตัวเอง บล.พัฒนาเทคโนโลยี มีกลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะกับความต้องการของลูกค้า จัดการข้อมูลที่มีอยู่มากให้นำมาใช้ง่ายและมีประสิทธิภาพ ช่วยให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ดีและลงทุนในหลักทรัพย์ที่หลากหลายมากขึ้น ไม่กระจุกตัวอยู่ในหุ้นไทยเหมือนที่ผ่านมา

“สภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนแปลงมากขึ้น บล.ต้องรู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร ขณะนี้เรื่องการลงทุนไม่ใช่เป็นเรื่องใกล้ตัวเหมือนแต่ก่อน แต่เป็นเรื่องที่ต้องรู้และต้องลงทุน คนไทยตื่นตัวมากเรื่องสังคมสูงวัย ขณะที่เทคโนโลยีหาซื้อได้ ในราคาที่ถูกลง ฟินเทคนำเสนอรูปแบบการให้บริการในราคาที่ตํ่าลง เพื่อการลงทุนที่มีความสุขที่เลือกได้ นวัตกรรม 4.0 สามารถตอบโจทย์ประเทศ ตอบโจทย์สังคมผู้สูงวัย” นางภัทธีรากล่าว

นางภัทธีรากล่าวกรณีที่เกรงว่า AI (ปัญญาประดิษฐ์) จะมาแย่งงานนักวิเคราะห์ ผู้แนะนำการลงทุน (IC) ว่า ไม่ค่อยกังวล เนื่องจาก AI ไม่สามารถเข้ามาทำงานแทน IC ได้ทั้งหมด นักวิเคราะห์มองอนาคตได้ ไปพบผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน รู้เรื่องการลงทุนและคาดการณ์กำไรได้ ขณะที่ AI รู้เรื่องในอดีต แต่นักวิเคราะห์ต้องผสมผสานผลิตภัณฑ์การลงทุน และต้องทำงานเชิงลึกมากขึ้น รวมถึงนักกลยุทธ์ ต้องคิดและนำเสนอบริการแปลกๆใหม่ๆให้กับลูกค้า เพื่อเพิ่มมูลค่าอีกระดับหนึ่ง ส่วน IC จะต้องยกระดับพัฒนาไปตามลูกค้าได้ใบอนุญาตใหม่ขายของได้มากขึ้น เช่น Investment Planner

สําหรับดีบีเอสมีนโยบายเน้นดิจิตอลแบงกิ้งมานาน 3 ปี ที่ผ่านมามีการลงทุนพัฒนาระบบ และเพิ่มการให้บริการใหม่ แต่ยังจะต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น ระบบปฏิบัติการหลังบ้าน (Back Office) และจะนำเครื่องมือทางการเงินใหม่ (IdeaBOX) มาใช้ในปีหน้า เป็นศูนย์กลางรวบรวมคำแนะนำการลงทุนของผู้เชี่ยวชาญ นักวิเคราะห์ นักกลยุทธ์ เพื่อให้ผู้แนะนำการลงทุนสามารถเข้าถึงข้อมูลทั้งหมด สามารถนำไปนำเสนอต่อลูกค้าได้รวดเร็วและถูกต้อง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,317 วันที่ 26 - 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว