ทีวีดิจิตอลโชว์จุดแข็ง ปี61แข่งดุคอนเทนต์-การตลาดดันรายได้โฆษณา

25 พ.ย. 2560 | 09:56 น.
จับทีวีดิจิตอลปี 61 แข่งเดือด “สปริงนิวส์ 19” ชูจุดแข็งคอนเทนต์ข่าว - พันธมิตร CNN สร้างรายได้ผ่านสื่อออนไลน์ “บีอีซีเวิลด์” ฉุด 200 ดาราดังต่อยอดขายแพ็กเกจโฆษณา “ไทยรัฐทีวี” ผนึกพันธมิตร เพิ่มรายการวาไรตีบันเทิง

แม้ว่าเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อในปีนี้จะมีตัวเลขติดลบ แต่สื่อโทรทัศน์ทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นทีวีอนาล็อก ทีวีดิจิตอล ทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี ยังคงเป็นสื่อที่มีผู้ใช้งบโฆษณาสูงสุดและเชื่อว่าแม้จะก้าวข้ามสู่ปี 2561 สื่อโทรทัศน์ก็ยังเป็นสื่อที่มีแชร์สูง ในอุตสาหกรรมสื่อมูลค่าแสนล้านบาทนี้ ท่ามกลางปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น รวมถึงผลกระทบจาก Digital Disruption ที่ฉุดรั้งให้ผู้ชมหันไปเสพสื่อผ่านช่องทางออนไลน์ การเดินหน้าผลักดันให้ธุรกิจอยู่รอดและสร้างการเติบโตได้จึงเป็นงานหนักของผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล

โดยนายโกศล สงเนียม ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด ผู้บริหาร “สปริงนิวส์ ช่อง 19” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าแนวทางการดำเนินธุรกิจในปี 2561 นั้น ช่องสปริงนิวส์ 19 ยังคงเน้นจุดแข็งคอนเทนต์ด้านข่าวและสาระ ในการดำเนินธุรกิจและต่อยอดไปสู่ช่องทางการรับข้อมูลข่าวสารของผู้ชม อาทิ ช่องทางออนไลน์ ที่จะรุกเข้าไปนำเสนอคอนเทนต์ต่างๆ และหลากหลายรูปแบบเพิ่มมากขึ้น เช่น คลิปวิดีโอ เพื่อสร้างรายได้ การเป็นพันธมิตรแบบเอ็กซ์คลูซีฟกับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ที่จะนำเสนอข่าวไปยังช่องทางต่างๆ ขณะเดียวกันจะเน้นการบริหารงานภายในให้มีประสิทธิภาพ การลดต้นทุนการบริหาร จัดการ และการเพิ่มประสิทธิภาพงานให้องค์กรเดินหน้าต่อไป

MP36-3316-A “ช่องสปริงนิวส์ 19 จะยังคงใช้จุดแข็งการเป็นสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือ และคอนเทนต์ข่าวที่มีคุณภาพในการนำเสนอ ซึ่งปีหน้ามีแผนปรับผังรายการให้มีความเข้มข้นในการนำเสนอรายการ รวมถึงการมีพันธมิตรอย่างสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นที่จะต่อยอดไปในส่วนต่างๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม ปีหน้ายังประเมินว่ากลุ่มทีวีที่เป็นช่องข่าวและสาระยังคงต้องประคับประครองตัวให้อยู่รอด กับค่าบริหารจัดการที่เกิดขึ้น เพราะรายได้ค่าโฆษณาส่วนใหญ่ยังคงใน 10 ช่องหลัก จึงเห็นว่าการแบ่งกลุ่มทีวีเพื่อจัดเรตติ้งก็จะช่วยทำให้เห็นภาพธุรกิจทีวีที่ชัดเจนขึ้น” สำหรับทิศทางธุรกิจทีวีดิจิตอลในปี 2561 นั้นยังไม่เห็นทิศทางการฟื้นตัวจากภาพรวมการใช้เม็ดเงินในสื่อโฆษณาที่คาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท และจะเข้ามาสู่ธุรกิจทีวีดิจิตอลมูลค่าเท่าไร เนื่องจากการใช้เงินของผู้ประกอบการสินค้ายังคงกระจายงบประมาณไปยังสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับสื่อออนไลน์ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันงบประมาณส่วนใหญ่ในสัดส่วนกว่า 60% ยังคงถูกใช้ไปในสื่อทีวีอนาล็อก และแม้ว่าเม็ดเงินที่เข้ามาสู่ช่องทีวีดิจิตอลจะมีมากขึ้น แต่ยังคงใช้ในช่องทีวีดิจิตอลที่เป็นช่องบันเทิงและวาไรตีมากกว่า

นายโกศล กล่าวอีกว่า การวัดเรตติ้งทีวี เห็นว่าน่าจะมีการแยกกลุ่มแบ่งตามประเภทของช่อง เพื่อจะได้เห็นว่าแต่ละกลุ่มใครมีเรตติ้งเท่าไร เพราะเรตติ้งมีผลทางจิตวิทยาต่อผู้ซื้อโฆษณา การวัดโดยรวมทีวีทุกช่อง จึงทำให้ช่องข่าวยังมีเรตติ้งสู้ช่องบันเทิงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนการผลักดันให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล เพื่อแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมทีวีดิจิตอล จากผลกระทบในเรื่องของเทคโนโลยีและสื่อดิจิตอล ยังคงดำเนินหน้าต่อไป เพราะปัญหาต่างๆ ดังกล่าวยังมีผลต่อค่าใบอนุญาตที่ผู้ประกอบการต้องชำระ รวมถึงปัญหาอื่นๆ อีกด้วย

ด้านนายประชุม มาลีนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารช่อง 33, ช่อง 28 และช่อง 13 กล่าวว่า ทิศทางธุรกิจทีวีดิจิตอลในปีหน้า ยังคงแข่งขันรุนแรงกว่าปี 2560 ซึ่งถือเป็นตลาดเรดโอเชียลตลอด 4 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะงบประมาณที่ใช้ในสื่อโฆษณาที่ยังไม่กลับมาเติบโตเป็นปกติ ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการรายใหญ่ อาทิ กลุ่มยูนิลีเวอร์ กลุ่มพีแอนด์จี ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้ากลุ่มอุปโภคบริโภค ก็ยังไม่กลับมาใช้งบโฆษณาเป็นปกติ หรือส่งสัญญาณที่ดีขึ้น ทำให้ปี 2561 ธุรกิจทีวียังคงแข่งขันรุนแรงอย่างต่อเนื่อง

บาร์ไลน์ฐาน “กลุ่มบีอีซีเวิลด์ วางแนวทางการทำธุรกิจ ด้วยการมองหาโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ ที่คนอื่นไม่มอง เพราะหากไปแข่งขันในสิ่งที่ผู้ประกอบการรายอื่นมีคงไม่ไหว การปรับโมเดลการขายโฆษณาเป็นแบบแพ็กเกจ การตอบสนองความต้องการของลูกค้า และการนำดาราศิลปินในสังกัดกว่า 200 คนมาใช้ในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าต่างๆ ด้วย ถือว่าเป็นการปรับโมเดลการทำธุรกิจของทั้งกลุ่ม แต่เรื่องคอนเทนต์ยังคงเป็นสิ่งหลักที่ยังให้ความสำคัญ ตอนนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนธุรกิจในปี 2561 ว่าจะเป็นอย่างไร”

ขณะเดียวกัน กลุ่มบีอีซีเวิลด์ยังมีแผนนำคอนเทนต์ที่มีอยู่ สร้างรายได้ด้วยการขายให้กับผู้ประกอบการทีวีในประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มซีแอลเอ็มวี และยังมองตลาดประเทศจีนด้วย เพราะเป็นตลาดขนาดใหญ่ ถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญ แต่คงต้องศึกษากฎหมายและระเบียบให้ดี เพราะละครบางเรื่องอาจจะไปขัดกับกฎหมายหรือความเชื่อของประเทศเขาได้ ซึ่งคาดว่ารายได้จากการนำคอนเทนต์ไปขายในตลาดต่างประเทศจะเริ่มเข้ามาได้ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2561”

ขณะที่นายวัชร วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจ บริษัท เทรนด์ วีจี 3 จำกัด ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ “ไทยรัฐทีวี” กล่าวว่า กลยุทธ์ที่จะนำมาใช้ในการขยายฐานผู้ชมในปีหน้า จะให้ความสำคัญกับการเสริมคอนเทนต์ต่างๆ ร่วมกับพาร์ตเนอร์ในกลุ่มรายการเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ขณะที่คอนเทนต์ประเภทกีฬาถ่ายทอดสดถือเป็นคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมและมียอดผู้ชมสูงสุดของทางช่อง โดยมียอดโต 8-10 เท่าของวันปกติ บริษัทก็จะให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง โดยจะเน้นการเพิ่มกราฟิกหน้าจอทีวีเพื่อให้ผู้ชมได้รับอรรถรสของการรับชมจริงๆ รวมถึงการมีระบบถ่ายทอดสดที่มีคุณภาพ นอกจากนี้บริษัทยังมีการสร้างการรับรู้ในคอนเทนต์ต่างๆ ของบริษัทผ่านสื่อที่มีอยู่ในมือ ทั้งหนังสือพิมพ์ ทีวี ออนไลน์ ในการสร้างฐานผู้ชมอย่างต่อเนื่อง

วิทยุพลังงาน “ต้องยอมรับว่าต้นทุนของกลุ่มทีวีดิจิตอลถือเป็นฟิกซ์คอร์สที่ไม่สามารถลดได้ ทั้งค่าไลเซนส์ ค่ามัด โดยปัจจุบันบริษัทขาดทุนสะสมอยู่ที่กว่า 3,000 ล้านบาท ดังนั้นเราจะต้องมีการบริหารจัดการที่ดีเพื่อลดการขาดทุนและเพิ่มรายได้ให้มากที่สุด โดยปีหน้าบริษัทมีแผนปรับค่าโฆษณาขึ้น 10% ตามเรตติ้งที่เพิ่มขึ้นซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติด้วย โดยมีเรตราคาตั้งแต่หลักแสน (ในช่วงไพรม์ ไทม์) ถึงหลักหมื่นบาท”

ล่าสุด บริษัทได้ร่วมมือกับ M Channel หรือ บริษัท เมเจอร์ กันตนา บรอดแคสติ้ง จำกัด ในการเปิดรายการใหม่ M Theater ซึ่งการเพิ่มคอนเทนต์ด้านความบันเทิงเข้าไปบริษัทมั่นใจว่าจะสามารถเพิ่มเรตติ้งให้แก่ทางช่องจนสามารถ ขยับเรตติ้งขึ้นไปติดท็อป 3 ของกลุ่มทีวีดิจิตอลภายใน 2-3 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่มีเรตติ้งอยู่อันดับ 6 ในกลุ่มทีวีดิจิตอลขณะที่ปีนี้รายได้ของบริษัทคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมาที่ปิดรายได้ 800 ล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,316 วันที่ 23 - 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1