กฤษฎีกาชี้ไทยพีบีเอสผิดซื้อหุ้นกู้CPF

22 พ.ย. 2560 | 09:12 น.
จากกรณีอดีตผู้บริหารไทยพีบีเอสนำเงินทุน 193,615,553.80บาท ไปซื้อหุ้นกู้ของCPFจนเกิดเสียงทักท้วงอย่างหนักจนต่อมาได้ไถ่ถอนคืนและนายกฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ขอลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการ ด้านสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ได้มีหนังสือแจ้งองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย(ส.ส.ท.-ไทยพีบีเอส)ว่า การไปลงทุนในหุ้นกู้เป็นกิจการนอกเหนือภารกิจหลัก และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์การจัดตั้งองค์การ การอ้างอำนาจตามระเบียบว่าด้วยการเงิน การบัญชีและการงบประมาณ พ.ศ. 2558ข้อ 9 ที่กำหนดให้สามารถนำรายได้ไปหาผลประโยชน์ได้นั้น ไม่สอดคล้องกับกฎหมายไทยพีบีเอส แต่ผู้บริหารไทยพีบีเอสไม่เห็นด้วย จึงส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัย เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2560

ล่าสุด คณะกรรมการกฤษฎีกา(คณะที่ 2) ได้มีบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นเรื่องเสร็จที่ 1439/2560 เดือนพฤศจิกายน 2560 ลงนามโดยนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา แจ้งผลวินิจฉัยว่า กรณีตามข้อหารือ การที่ส.ส.ท.ได้อาศัยระเบียบองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการเงิน การบัญชี และการงบประมาณ พ.ศ.2558 ข้อ 9(4) นำเงินไปลงทุนในหุ้นกู้ CPF แม้จะเป็นการนำเงินรอการใช้จ่ายไปหาดอกผลทางนิตินัยก็ตาม แต่อำนาจในการทำกิจการของส.ส.ท.ตามมาตรา 9แห่งพ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ไม่ได้บัญญัติถึงการนำเงินไปลงทุนในกิจการอื่นแต่อย่างใด

คงมีแต่เพียงกรณีตามมาตรา 9(3) ที่บัญญัติถึงการเข้าวมทุนกับบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นทั้งในและต่างประเทศแต่ต้องเป็นกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับวัตถุประสงค์ขององค์การเท่านั้น และแม้ว่ามาตรา 9(5)จะให้อำนาจ ส.ส.ท.สามารถดำเนินการอื่นใดที่จำเป็นหรือต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การได้ แต่การดำเนินการดังกล่าวต้องอยู่ภายในขอบเขตวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่หลักตามมาตรา 7 และ 8 ด้วยเช่นกัน

TP02-3315-1B เมื่อเทียบเคียงกับรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นบางแห่งที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะพบว่ารัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานดังกล่าวได้มีการบัญญัติไว้ในกฎหมายแม่บทอย่างชัดเจนถึงอำนาจในการนำเงินไปลงทุนได้แต่ปรากฏว่าในมาตรา 9 ของกฎหมายส.ส.ท.มิได้บัญญัติให้อำนาจในการนำเงินไปลงทุนหรือซื้อหุ้น ได้ การที่ส.ส.ท.ออกระเบียบฯข้อ9 กำหนดให้สามารถนำรายได้ไปหาผลประโยชน์โดยการนำไปลงทุนอื่นๆ จึงไม่สอดคล้องกับพ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2551

หลังจากมีคำวินิจฉัยดังกล่าวคณะกรรมการนโยบายส.ส.ท.มีคำแถลงเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2560 ระบุความเห็นเรื่องข้อกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นความเห็นเกี่ยวกับคำสั่งทางปกครอง โดยระเบียบฯนี้ออกมาตั้งแต่ปี 2551และปรับปรุงเมื่อปี 2558เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายคณะกรรมการนโยบายฯ ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อทบทวนและปรับปรุงระเบียบฯข้อ 9 ดังกล่าวโดยนำความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกามาประกอบ โดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์ส.ส.ท. เป็นสำคัญ

ขณะที่มีกระแสทวงถามว่า นอกจากการจะแก้ระเบียบให้เป็นไปตามกฎหมายแล้วเมื่อชี้ชัดว่าการซื้อหุ้นกู้ CPF โดยอ้างระเบียบที่ขัดกับกฎหมาย ถือว่าความผิดเกิดขึ้นแล้ว ต้องดำเนินการกับผู้รับผิดชอบในกรณีนี้ด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,315 วันที่ 19 - 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว