ผู้ส่งออกฟันกำไรยาง กดราคาซื้อตุนสต๊อก

20 พ.ย. 2560 | 12:31 น.
สวนยางปักษ์ใต้นํ้าตาร่วง ยางแผ่นดิบเหลือ 42 บาท/กก. ตํ่าสุดรอบ 1 ปี 3 เดือน ฝนชุกกระหนํ่าซํ้ากรีดได้ไม่ถึง 18 วันต่อเดือน อีกด้านพ่อค้าแฉผู้ส่งออกกดซื้อตุนสต๊อก หวังฟันกำไรช่วงปิดกรีด วงในบอร์ด กยท.ร้อน “ฉัตรเฉลิม” ทุบโต๊ะ ป้อง “ธีธัช”

นายมนัส บุญพัฒน์ ผู้ประสานงาน 15 เครือข่ายชาวสวนยางภาคใต้ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าโดยปกติในช่วงฤดูฝนราคายางพาราจะปรับขึ้น เนื่องจากชาวสวนกรีดไม่ได้ หรือกรีดได้น้อยลง แต่ปรากฎว่าราคายางมีแนวโน้มตํ่าลง ราคาประมูล ณ ตลาดกลางยางพารา อ.หาดใหญ่ ณ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2560 ราคายางแผ่นดิบลดลงเหลือ 42.56 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) ตํ่าสุดในรอบ 1 ปี 3 เดือน ส่วนนํ้ายางสดเหลือ 35-36 บาท/กก. และช่วงนี้ยังเจอวิกฤติฝนตกชุกในภาคใต้ กรีดยางได้ไม่ถึง 18 วันต่อเดือน

[caption id="attachment_170173" align="aligncenter" width="503"] มนัส บุญพัฒน์ มนัส บุญพัฒน์[/caption]

“วันนี้กลุ่มจะเดินหน้าเพื่อปฏิรูปการจัดการตามเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 เรียกร้องทุกช่องทางเพื่อให้ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และบอร์ดทั้งคณะพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ โดยจะเสนอรัฐบาลภายใต้ คสช. ให้ใช้อำนาจพิเศษ(ม.44) ตั้งคณะกรรมการบริหารชุดเฉพาะกิจเข้ามาทำงานกันก่อน โดยกำหนด 180 วัน เพื่อออกระเบียบกฎหมายลูกใหม่ เพื่อให้ชาวสวนทุกคนได้เข้าถึงสวัสดิการที่ต้องเสียภาษีจากนํ้ายางทุกหยด”

ด้านนายธนพล พลพิสิฐกุล ประธานชมรมพ่อค้ายางพาราจ.บึงกาฬ เผยว่า ราคายางที่ตกตํ่าในขณะนี้ผิดปกติ เหตุที่บริษัทใหญ่กดราคา เพราะต้องการตุนสต๊อกยางราคาตํ่าไว้ ทำกำไรในช่วงปิดกรีด ซึ่งเหลือเวลาอีก 3 เดือนเท่านั้น ทางชมรมได้มีการประเมินเฉพาะ 5 บริษัทผู้ค้ายางรายใหญ่ จะมีสต๊อกยางรวมกันไม่ตํ่ากว่า 1 ล้านตัน ดังนั้นทางออกของกระทรวง เกษตรฯคือ 1. จะต้องจำกัดปริมาณส่งออกยาง 2. ปรับเงินเซสส์ (ค่าธรรมเนียมในการส่งออกยางพารา) ให้เป็นแบบขั้นบันได ไม่ใช่เก็บอัตราคงที่ 2 บาท/กก.เช่นในปัจจุบัน ซึ่งเป็นอีกต้นเหตุหนึ่งที่ผู้ส่งออกมากดราคายาง 3. ให้นำนวัตกรรมยางออกมาใช้ และบังคับให้ยางล้อทุกเส้นที่กองทัพใช้ให้เป็นยางที่ผลิตและใช้วัตถุดิบในประเทศ เป็นต้น

บาร์ไลน์ฐาน แหล่งข่าวจาก กยท. เผยว่า การแก้ปัญหายางพาราในช่วงตกตํ่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐ มนตรีไม่มีนโยบายให้แทรกแซง ส่วนทางนายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการ กยท.ทางพล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานบอร์ด กยท.ไม่เห็นด้วยที่จะมีคำสั่งให้ปลด เนื่องจากเห็นว่าไม่ได้ทำผิดอะไร หากปลดแล้วราคายางจะดีหรือไม่ ก็ไม่เกี่ยวกัน อย่างไรก็ดีจะมีการประชุมบอร์ดเพื่อหารือกันอีกครั้งในวันที่ 22 พฤศจิกายนนี้

ขณะที่นายชัยพจน์ เรืองวรุณวัฒนา นายกสมาคมนํ้ายางข้นไทย เผยว่า ช่วงนี้ราคายางแผ่นดิบลดลงมาก จึงเสนอให้เกษตรกรหันไปทำนํ้ายางข้นแทนโดยราคานํ้ายางข้นวันนี้อยู่ที่ กก.ละ 42-43 บาท เทียบกับราคายางแผ่นดิบในตลาดท้องถิ่นที่เกษตรกรขายได้ 35-36 บาทต่อกก. ต่างกัน 6-7 บาท ดังนั้นต้องศึกษาว่าตลาดต้องการอะไร เพื่อปรับตัวให้อยู่รอด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,315 วันที่ 19 - 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว