ผงะ! กู้สหกรณ์เวียนเทียนซ้ำ ธปท.สั่งคุมเข้ม หวั่นหนี้ครัวเรือนท่วมหัว

12 พ.ย. 2560 | 05:20 น.
ธปท.เข้มคุมสหกรณ์ปล่อยกู้สมาชิก rollover พบกู้วนซํ้าหน้าเดิม กระจุกตัวหลังผ่อนชำระเพียง 3-6 เดือน สั่งกรมส่งเสริมฯ ส่งข้อมูล 134 แห่งสิ้นเดือนนี้ ก่อนหาแนวทางกำกับหลังเกณฑ์สำรอง 100% ทำไม่ได้

ความเปราะบางยังมีสำหรับธุรกิจของสหกรณ์ออมทรัพย์ จากเงินให้สินเชื่อที่เติบโตอย่างรวดเร็วเป็นเท่าตัวในช่วงเพียง 6 ปี จาก 9 แสนล้านบาทในปี 2553 เป็น 1.8 ล้านล้านบาท ในปี2559 ล่าสุดการปล่อยกู้วนซํ้า (rollover) ให้สมาชิก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องใช้มาตรการคุมเข้ม

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ (กสส.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ธปท.กังวลประเด็นเรื่องการปล่อยกู้วนซํ้าให้กับสมาชิก โดยเฉพาะในรายที่ตํ่ากว่า 1 ปี (ทำสัญญากู้ใหม่ หลังส่งชำระตํ่ากว่าปี) ส่วนใหญ่เป็นการกู้เพื่อการบริโภคผิดหลักการการปล่อย rollover หนี้ของสถาบันการเงินที่จะปล่อยกู้ใหม่ต่อเมื่อลูกหนี้ต้องผ่อนชำระมาแล้วไม่น้อยกว่า 1-2 ปี ซึ่งถือเป็นสัญญาณอันตราย

TP02-3313-A “การกู้วนซํ้าทำให้สินเชื่อไม่มีคุณภาพเติบโตเร็ว หนี้ไม่ถูกปลดออกเสียทีและผู้กู้วนซํ้ามักจะเป็นรายเดิม ธปท.จึงกังวลจะสร้างภาระหนี้บุคคล จากปัจจุบันสหกรณ์ออมทรัพย์ปล่อยกู้ให้ครัวเรือนเป็นสัดส่วนถึง 15.3% จากหนี้ครัวเรือนทั้งระบบ 1.79 ล้านล้านบาท จึงเริ่มคุมเข้มดังจะเห็นจากมติ ครม. ที่ออกเมื่อเดือนมีนาคม 2560 กำหนดให้สหกรณ์ต้องตั้งสำรองหนี้ 100% สำหรับเงินกู้วนซํ้าที่ตํ่ากว่า 1 ปี ซึ่งสหกรณ์ไม่สามารถปฏิบัติตามเกณฑ์ได้ เพราะก่อนหน้านี้ที่ไม่มีเกณฑ์ตั้งสำรอง”

นายพิเชษฐ์ยกตัวย่างสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ตนสังกัด มีวงเงินกู้รวม 4,000 ล้านบาท เป็นเงินกู้วนซํ้าตํ่ากว่า 1 ปี ถึง 2,000 ล้านบาท หากต้องตั้งสำรอง 100% คือทั้ง 2,000 ล้านบาท สหกรณ์จะขาดทุนทันทีเพราะปีหนึ่งมีกำไรแค่ 100 ล้านบาท ทำให้ต้องสำรองนานติดต่อกันถึง 20 ปี กระทบต่อการดำเนินงานและกำไร การประชุมกับธปท.ในปลายเดือนนี้ กสส.จะรวบรวมข้อมูลเงินกู้วนซํ้าของสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่ 134 แห่ง (สินทรัพย์ตั้งแต่ 5,000 ล้านบาท) ส่งให้ธปท.เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลวิเคราะห์ โดยผู้ว่าการ ธปท.ได้มอบหมายให้ กสส.จัดส่งข้อมูลมาว่าสหกรณ์ออมทรัพย์รายใหญ่ ปล่อยกู้วนซํ้าตํ่ากว่า 1 ปีมีกี่แห่ง และสมาชิกมีกี่รายเพื่อจะได้เป็นข้อมูลที่ ธปท.จะใช้วิเคราะห์แนวทางแก้ปัญหา

ข้อมูลสหกรณ์ออมทรัพย์ 933 แห่ง (จากทั้งระบบ 2,000 แห่ง) สมาชิก 2.23 ล้านราย พบว่ามีกู้วนซํ้า 5 แสนรายคิดเป็น 23% ของจำนวนผู้กู้ ลักษณะการกู้วนซํ้าจะเป็นการกู้รวมหนี้สัญญาเดิมสมาชิกส่วนใหญ่จะกู้หลังจากส่งชำระหนี้ในระยะเวลา 3 เดือนพบมากถึง 50% กู้วนซํ้าภายใน 6 เดือน มี 36% ที่เหลือเป็นการกู้วนซํ้าในรอบ 2 เดือนและ 4 เดือน

สหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่นำส่งข้อมูลให้ กสส.แล้วขณะนี้มี 92 สหกรณ์ สมาชิก 1.16 ล้านราย (จากทั้งหมด 134 สหกรณ์ ) มีสมาชิกที่กู้วนซํ้ารวม 2.32 แสนราย คิดเป็น 19.92%ของสมาชิกทั้งหมด โดยสหกรณ์ที่ปล่อยกู้วนซํ้าตํ่ากว่า 1 ปี มี 64 สหกรณ์เป็น 69.57% ของจำนวนสหกรณ์ และในจำนวนกู้วนซํ้าพบมักจะกู้ใหม่หลังส่งชำระหนี้ในระยะเวลา 4-6 เดือนถึง 1.04 แสนราย คิดเป็น 44.86% ของจำนวนกู้วนซํ้ารวม

[caption id="attachment_152599" align="aligncenter" width="380"] วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธปท. วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธปท.[/caption]

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธปท.กล่าวปาฐกถาเรื่อง “ธรรมาภิบาลในการบริหารสหกรณ์ยุค 4.0” เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนระบุในตอนหนึ่งได้หยิบยกวิกฤติทางการเงินปี 2540 ว่า จะใช้บทเรียนมาเป็นประโยชน์สำหรับสถานะของสหกรณ์ออมทรัพย์ปัจจุบันได้อย่างไร เพราะหากมองในเชิงระบบสหกรณ์ออมทรัพย์เริ่มสะสมความเสี่ยงมากขึ้นหลายแห่งมีปัญหาการบริหารจัดการที่คล้ายกัน

โดยหนึ่งในนั้น ระบุว่า สหกรณ์ออมทรัพย์มีพฤติการณ์ช่วยเหลือลูกหนี้ด้วยการให้ลูกหนี้ rollover หนี้ไปเรื่อยๆ หรือกู้หนี้ใหม่มาใช้หนี้เก่า ซึ่งเป็นการต่ออายุหนี้เพิ่มให้กับผู้กู้ที่มีคุณภาพด้อยลง ส่งผลให้ลูกหนี้ไม่ได้รับการแก้ไขหนี้อย่างจริงจัง ติดอยู่ในวงจรหนี้อย่างไม่รู้จบ

“การจัดชั้นลูกหนี้และการกันสำรองตํ่ากว่าเกณฑ์สากล และการที่ NPL ในระบบสหกรณ์ออมทรัพย์อยู่ระดับตํ่า (NPL ปี59 ที่0.07% ) จึงไม่ได้สะท้อนฐานะความเสี่ยงและคุณภาพสินเชื่อที่แท้จริง ผลที่ตามมาคือสงสัยว่าเงินสำรองจะมีพอที่จะรองรับความเสียหายหรือไม่”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,313 วันที่ 12 - 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-11