รัฐควัก 5 หมื่นล้านช่วยเหลือชาวนาปีการผลิต 2560/61

09 พ.ย. 2560 | 09:54 น.
ธ.ก.ส.พร้อมจ่ายสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปี 2560/61 โดยไม่คิดอัตราดอกเบี้ย และสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร อัตราดอกเบี้ย 1% เป้าหมายรวม 4.5 ล้านตัน เพื่อชะลอปริมาณข้าวเปลือกออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก และบรรเทาความเดือดร้อนเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในครัวเรือนระหว่างรอขายผลผลิต รวมถึงเพิ่มทางเลือกให้เกษตรกรในการเก็บรักษา และปรับปรุงข้าวเปลือกให้มีคุณภาพ วงเงินสินเชื่อ รวม 33,510 ล้านบาท พร้อมเตรียมวงเงิน 47,273 ล้านบาท จ่ายค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 3.9 ล้านราย ตามมติคณะรัฐมนตรี

นายนุกูล ปาระชาติ ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.พร้อมสนับสนุนสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ตามนโยบายของรัฐบาล ในการรักษาเสถียรภาพและยกระดับราคาข้าวเปลือกในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก โดยเพิ่มทางเลือกให้กับเกษตรกรในการเก็บรักษาและปรับปรุงคุณภาพข้าวเปลือกเพื่อรอราคา รวมถึงไม่ต้องกังวลกับภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และภาระหนี้สิน

tks

โครงการแรกคือ สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2560/61 โดยจ่ายสินเชื่อให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรเพื่อเก็บรักษาข้าวเปลือกไว้ที่ยุ้งฉางของตนเอง กำหนดวงเงินสินเชื่อต่อตันข้าวเปลือกที่ความชื้นไม่เกิน 15% สิ่งเจือปนไม่เกิน 2% ในอัตรา 90% ของราคาตลาด ตามชนิดข้าวเปลือก คือ ข้าวเปลือกหอมมะลิ และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาตันละ10,800 บาท ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 7,200 บาท ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ตันละ 8,500 บาท

ทั้งนี้กำหนดวงเงินกู้สำหรับเกษตรกรสูงสุดรายละไม่เกิน 300,000 บาท สหกรณ์การเกษตรไม่เกิน 300 ล้านบาท กลุ่มเกษตรกร ไม่เกิน 20 ล้านบาท และวิสาหกิจชุมชนไม่เกิน 5 ล้านบาท โดยไม่คิดอัตราดอกเบี้ยจากผู้กู้ เนื่องจากรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยแทนผู้กู้ทั้งหมด กำหนดชำระคืนเสร็จสิ้นไม่เกิน 5 เดือนนับถัดจากเดือนที่รับเงินกู้ เริ่มจ่ายสินเชื่อแล้วตั้งแต่วันนี้ - 28 กุมภาพันธ์ 2561 ยกเว้นภาคใต้ไม่เกินเดือนกรกฎาคม 2561 เป้าหมาย 2 ล้านตัน วงเงินสินเชื่อ 21,010 ล้านบาท

Inforice

นอกจากนี้รัฐบาลได้สนับสนุนเงินช่วยเหลือ เป็นค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือก เพื่อจูงใจให้เกษตรกรได้มีการปรับปรุงคุณภาพโดยผ่านกระบวนการตากลดความชื้น การคัดแยกสิ่งเจือปน ก่อนนำขึ้นยุ้งฉาง อีกตันละ 1,500 บาท ซึ่งจะจ่ายพร้อมการจ่ายสินเชื่ออัตราตันละ 1,000 บาท และจ่ายให้อีกตันละ 500 บาท เมื่อเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรนำเงินมาชำระหนี้ ซึ่งรัฐบาลจะใช้งบประมาณเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรวมทั้งสิ้น 50, 273 ล้านบาท เพราะจะมีทั้งการสนับสนุนเงินให้เปล่าและชดเชยดอกเบี้ยในอัตรา 3% ด้วย

นายนุกูลกล่าวต่อว่า แนวโน้มราคาข้าวในตลาดมีทิศทางดีขึ้น จากปัจจุบัน อยู่ที่ 11,550-13,000 บาทต่อตัน เพราะปริมาณการผลิตข้าวลดลง จากพื้นที่เพาะปลูกน้อยลง ผลผลิตเสียหายจากอุทกภัย โดยคาดว่า ผลผลิตข้าวในปีนี้จะออกมาทั้งหมด 29 ล้านตัน และเมื่อมีโครงการดูดซับข้าวออกจากระบบอีก 2 ล้านตัน และความเสียหายจากน้ำท่วมอีก 1 ล้านตันจะทำให้ปริมาณข้าวเหลือ26 ล้านตัน ซึ่งเพียงพอกับความต้องการในตลาดด้วย และทำให้ราคาข้าวมีเสถียรภาพมากขึ้นด้วย

ricc1

นอกจากนั้นยังมีโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2560/61 เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับสถาบันเกษตรกรในการรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรสมาชิก และรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อนำไปจำหน่ายหรือแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม รวม 2.5 ล้านตัน วงเงินสินเชื่อ 12,500 ล้านบาท โดยสถาบันรับภาระดอกเบี้ยในอัตรา 1% และรัฐบาลรับภาระดอกเบี้ยแทนสถาบันเกษตรกรไม่เกิน 3% ต่อปี ระยะเวลาไม่เกิน 12 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2560 – 30 มิถุนายน 2561 ซึ่งปัจจุบันจ่ายสินเชื่อให้สถาบันเกษตรกรไปแล้ว 20 สถาบัน เป็นเงิน 1,314 ล้านบาท

รัฐบาลยังได้เห็นชอบในการจ่ายเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2560/61 ที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าว ฯ ปีการผลิต 2560/61 กับกรมส่งเสริมการเกษตร 3.9 ล้านราย ไร่ละ 1,200 บาท ตามพื้นที่ที่ปลูกข้าวจริง แต่ไม่เกินรายละ 10 ไร่ ครัวเรือนละไม่เกิน 12,000 บาท โดยเตรียมวงเงินไว้ 47,273 ล้านบาท ซึ่งพร้อมจะจ่ายเงินดังกล่าวโดยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว