ศาสตร์พระราชาตำราของพ่อ (จบ) วิชานิเวศปฐมวัย

12 พ.ย. 2560 | 10:27 น.
วิชา 9 หน้า ศาสตร์พระราชาตำราของพ่อ ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ดึง 9 บุคคลผู้มีอิทธิพลทางความคิดในแต่ละแวดวง มาร่วมสืบสานปณิธานพ่อ ผ่านการนำเสนอใน 9 วิชา ที่ทรงใช้พัฒนาชีวิตคนไทยให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน

MP22-3312-6C Take A trip ฉบับนี้ ขอนำเสนอวิชาที่ 9 ซึ่งเป็นวิชาสุดท้าย นั่นคือ “วิชานิเวศปฐมวัย” ซึ่งถ่ายทอดการร่วมสืบสานปณิธานพ่อ โดย “ชุดารี เทพาคำ” หรือ “เชฟตาม” Top Chef Thailand คนแรกของประเทศไทย ที่จะนำคุณไปเยือน “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.จันทบุรี” เพื่อเรียนรู้โลกแห่งเนิร์สเซอรีสัตว์นํ้าของในหลวงรัชกาลที่ 9

MP22-3312-1C สัตว์นํ้าตัวเล็กๆ ก็เหมือนกับเด็ก หากไม่มีการดูแลที่ดี โอกาสที่จะเจริญเติบโตเป็นแหล่งโปรตีนที่ดีก็คงลำบาก ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี จึงเป็นสาเหตุว่า ทำไมจึงโปรดฯให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน เมื่อเดือนธันวาคม 2524

การก่อกำเนิดของศูนย์ดังกล่าว เริ่มขึ้นเมื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ชายฝั่งทะเลและหมู่เกาะต่างๆ ทรงพบว่าทรัพยากรธรรมชาติชายฝั่งถูกทำลายอย่างหนัก สัตว์นํ้าถูกจับขายจนขยายพันธุ์ไม่ทัน ทำให้ปริมาณลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่ออาชีพประมงโดยตรง นอกจากนี้ในพื้นที่ป่าชายเลน ซึ่งเป็นแหล่งอาหารและแหล่งเจริญพันธุ์ของสัตว์นํ้านานาชนิด และยังเป็นแนวป้องกันชายฝั่งที่สำคัญ ก็ประสบปัญหานํ้าทะเลเอ่อล้นจนท่วม บางแห่งก็ถูกบุกรุกจนกลายสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม ต้องหามาตรการวิธีป้องกันและอนุรักษ์พื้นที่ชายฝั่งและป่าชายเลนโดยเร่งด่วน

MP22-3312-5C ภารกิจสำคัญที่พระองค์ทรงรับสั่งให้ทำที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน มีตั้งแต่การทดลองเพาะเลี้ยงสัตว์ชนิดต่างๆ ในนํ้ากร่อย เช่น ปลากะพงขาว และหอยนางรม ซึ่งถือเป็นสัตว์ชนิดใหม่ที่ชาวบ้านไม่เคยเลี้ยงมาก่อน รวมทั้งยังโปรดฯให้อนุรักษ์และขยายพันธุ์ไม้โกงกาง อันเป็นไม้ชายเลนที่เพาะพันธุ์ได้ยากมาก ต้องอาศัยระบบการขึ้นลงของนํ้าทะเลช่วยในการเติบโต เพราะหากขยายพันธุ์ไม้โกงกางได้สำเร็จแล้ว ก็สามารถจัดระบบนิเวศได้เหมาะสมสำหรับการอนุบาลสัตว์นํ้าเช่นกัน

ที่นี่จึงเปรียบเสมือนโรง เรียนอนุบาลป่าชายเลนของพระองค์ ที่มีแนวคิดการพัฒนาแบบครบวงจร คือ อนุรักษ์ ขยายพันธุ์ และต่อยอด ส่งผลให้ชีวิตของคนคุ้งกระเบน และพื้นที่โดยรอบเปลี่ยนแปลงไป มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีอาหารการกิน มีอาชีพที่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ ที่สำคัญกว่านั้น คือ ทรัพยากร ธรรมชาติชายฝั่งที่ฟื้นคืนกลับมา รวมไปถึงป่าชายเลน ที่ทรงยํ้า ให้ทุกคนหวงแหน เพื่อต่อชีวิตสัตว์นํ้าตัวเล็กๆ ทั้ง กุ้ง หอย ปู ปลา ให้มีโอกาสเติบโตต่อไป

MP22-3312-4C ทั้งอยากจะชักชวนให้ทุกคนไปเดินเล่นที่ “ศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนคุ้งกระเบน” ซึ่งอยู่ใกล้กัน เพราะที่นั่นเปรียบเสมือนพิพิธภัณฑ์บอกเล่าเรื่องราวของธรรมชาติให้ได้เห็นกับตา บนสะพานไม้ที่ทอดยาวเข้าไปในดงป่าชายเลนของอ่าวที่มีรูปร่างเหมือนปลากระเบน ตลอดระยะทาง 1.6 กิโลเมตร คุณจะพบความอุดมสมบูรณ์และความร่มรื่นของต้นไม้น้อยใหญ่หลากหลายชนิด ทั้งต้นโกงกาง แสม ลำพู เป็นต้น แต่ละต้นจะมีชื่อและสรรพคุณกำกับเอาไว้ รวมถึงกุ้ง หอย ปู ปลา ก็มีให้ดูตลอดทางไม่ต้องกลัวเหนื่อย ทั้งระหว่างการเดินศึกษาธรรมชาติ ก็มีศาลาให้พัก 10 ศาลา พร้อมบอร์ดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับโซนนั้นๆ

แล้วอย่าลืมแวะไปทัก ทาย “แสม” ที่ยืนต้นยาวนานมาถึง 100 ปี ที่เรียกกันว่า “ปู่แสม” รวมไปถึงการได้ชมแนว ป่าชายเลนที่ทอดตัวยาวขนานไปกับผืนนํ้า และวิถีชีวิตประมงชายฝั่งขนาดเล็ก จากมุม “ศาลาชมวิว” หรือจะเดินขึ้น “หอดูเรือนยอดไม้” สูงราว 15 เมตร ขึ้นไปชั้นบนสุดที่เป็นระเบียง 5 เหลี่ยม ชมวิวอ่าวคุ้งกระเบนและป่าชายเลนมุมสูง ถ้าตาดีหน่อยอาจได้เห็นนกที่อาศัยอยู่ในแถบนี้ที่มีมากกว่า 120 ชนิด ไปจนถึง “พายคยัค” ลัดเลาะเข้าป่าชายเลน และการไปชม “อนุสรณ์หมูดุด” หรือพะยูน เจ้าแห่งคุ้งกระเบนที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ซึ่งทางศูนย์การพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนได้จัดทำอนุสรณ์หมูดุดไว้เพื่อให้ความรู้แก่ผู้มาเยี่ยมชม

MP22-3312-3C โครงการอ่าวคุ้งกระเบนในวันนี้ ยังคงเดินหน้าต่อไป และเป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริ พระองค์จึงเปรียบเสมือนผู้ที่อนุบาลสังคมไทย ผ่านโครงการต่างๆ มากมายที่เกิดขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,312 วันที่ 9 - 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว