อีโค่ชงม.44 แก้พื้นที่ทับซ้อน ถก‘กรมป่าไม้-ดีเอสไอ’ไม่คืบผลิตน้ำมันดิบชะงัก5ปี

11 พ.ย. 2560 | 08:51 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

“อีโค่ โอเรียนท์” ขอรัฐบาลใช้ม.44 แก้ปัญหาพื้นที่แหล่งปิโตรเลียมทับซ้อนพื้นที่ป่าไม้ หลังเจรจากรมป่าไม้กับดีเอสไอ ยังไม่ได้ข้อยุติว่าจะฟ้องหรือไม่ กระทบต่อการวางแผนดำเนินงาน ผลิตนํ้ามันดิบไม่ได้ 400-500 บาร์เรลต่อวัน ยันไม่เข็ดหากเปิดประมูลสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ โดดเข้าร่วมแน่

นายนาวิน พรรณธรรม ผู้จัดการฝ่ายบริหารและมวลชนสัมพันธ์ บริษัท อีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส(ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า พื้นที่สัมปทานปิโตรเลียมในเขตอำเภอวิเชียรบุรี และอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่มีปัญหาทับซ้อนพื้นที่ป่าไม้ และต้องหยุดดำเนินการไปตั้งแต่ปี 2555 นั้น ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนจากทางกรมป่าไม้และกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร เพราะหากเห็นว่า พื้นที่ดังกล่าวมีการทับซ้อนกับพื้นที่ป่าไม้จริง และไปดำเนินการฟ้องร้อง บริษัทจะได้ดำเนินการต่อสู้คดีในชั้นศาล แต่หากจำหน่ายคดีออก บริษัทก็จะสามารถกลับมาผลิตนํ้ามันดิบได้เต็มที่ แต่เวลาผ่านมาเกือบ 5 ปีแล้ว ข้อเท็จจริงทางภาครัฐก็ยังไม่ปรากฏออกมา ทำให้บริษัทไม่สามารถเข้าไปวางแผนการผลิตปิโตรเลียมได้

โดยปัจจุบันการผลิตนํ้ามันดิบรวมอยู่ที่ 1 พันบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากช่วงต้นปี 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งผลิตอยู่ที่ 1.2 พันบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากอัตราการผลิตนํ้ามันดิบของแต่ละหลุมลดลง แต่หากรวมกับแปลงที่ต้องหยุดผลิตจะเพิ่มขึ้นอีก 400-500 บาร์เรลต่อวัน

TP09-3312-1a “ขณะนี้ยังรอความชัดเจนจากทางภาครัฐ เพราะตั้งแต่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ไปหารือกับทางกรมป่าไม้และดีเอสไอ ก็ยังไม่มีความชัดเจนออกมา บริษัทคงต้องรอความชัดเจนจากทางภาครัฐต่อไป โดยในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ บริษัทก็อาจจะมีการสอบถามกรณีดังกล่าวกับทางกรมด้วย นอกจากนี้ สิ่งที่อยากให้ภาครัฐช่วยเหลือคือ ให้รัฐบาลนำมาตรา 44 ออกมาใช้ในการแก้ปัญหา เพราะที่ผ่านมา ม.44 กำหนดการใช้พื้นที่สัมปทานทับซ้อนกับพื้นที่การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(สปก.) เท่านั้น แต่ไม่ได้ระบุถึงพื้นที่ทับซ้อนป่าไม้เข้าไปด้วย” นายนาวิน กล่าว

นายนาวิน กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างพัฒนาโครงการติดตั้งเครื่องผลิต-อัดก๊าซธรรมชาติที่จําเป็นต้องเผาทิ้ง โดยจะอัดใส่ถังเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ หรืออาจส่งไปยังโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งโครงการดังกล่าวกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติก็ให้การสนับสนุน

วิทยุพลังงาน ส่วนการเปิดประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่นั้น บริษัทยังสนใจที่เข้าร่วมประมูล ซึ่งเมื่อครั้งที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเตรียมจะประกาศเปิดสัมปทาน 21 เมื่อช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ต้องหยุดชะงักไป ซึ่งในตอนนั้นบริษัทก็เตรียมข้อมูลเพื่อยื่นประมูล แต่จะเน้นพื้นที่บนบกเป็นหลัก ดังนั้นหากจะเปิดสัมปทานบริษัทก็สนใจเข้าร่วมประมูล

สำหรับการเปิดประมูลสัมปทานแปลงเอราวัณและบงกช ที่ทางกระทรวงพลังงานคาดว่า จะสามารถเปิดยื่นประมูลได้ภายในปลายปีนี้ ทางบริษัทคงไม่เข้าร่วมประมูล เนื่องจากเป็นแปลงในทะเล บริษัทไม่มีความเชี่ยวชาญและบุคลากรเพียงพอ

AppDSC_7647 นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า การเข้าร่วมประมูลแหล่งเอราวัณและบงกช จะมีผู้ยื่นเสนอมากกว่า 2 ราย นอกเหนือจากบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. และกลุ่มเชฟรอน โดยก่อนหน้านี้ได้พบกลุ่มอาบูดาบี ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์(ยูเออี) และบริษัท Mitsui Oil Exploration จำกัด จากญี่ปุ่น ซึ่งกรมได้นำข้อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อปรับระเบียบเงื่อนไขการประมูล (ทีโออาร์) ให้มีความเหมาะสมเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายเล็ก และรายใหญ่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ โดยกรม เตรียมนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงพลังงาน จากนั้นจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป โดยภายหลังออกประกาศทีโออาร์ จากนั้นเข้าสู่กระบวนการคัดเลือก ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6-7 เดือน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,312 วันที่ 9 - 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว