ผ่าตัด “สหกรณ์” ลดดอกฝาก! คุมหนี้ต่อทุน

08 พ.ย. 2560 | 03:22 น.
1309

คุมเข้ม! เกณฑ์กำกับสหกรณ์ออมทรัพย์ ลดดอกเบี้ยฝากจาก 7 เป็น 4.5% คุมหนี้ต่อทุน 1.5% แต่ยอมให้เงินฝากสมาชิกไม่นับเป็นหนี้สิน พร้อมสั่งชุมนุมสหกรณ์ฯ วางระบบป้องกันเสี่ยง หากใช้เงินฝากเป็นการดำรงสภาพคล่อง ... มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 มี.ค. 2560 เห็นชอบแนวทางการปฏิรูปการบริหารจัดการและกำกับดูแลกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน (สินทรัพย์ตั้งแต่ 5,000 ล้านบาท 134 สหกรณ์) ตามที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เสนอ

ล่าสุด การประชุมร่วมระหว่าง สศค., ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกรมส่งเสริมสหกรณ์ (กสส.) ได้ข้อสรุปแนวทางการกำกับเพิ่มเติมใน 3 เรื่อง คือ การกำหนดอัตราส่วนหนี้ต่อทุน (D/E Ratio), สัดส่วนการลงทุนของสหกรณ์และการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกร์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า 1.เรื่องอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน ที่ประชุมให้ยึดหลักตามมติ ครม. คือ ต้องไม่เกิน 1.5 เท่า แต่ผ่อนผันในส่วนของหนี้สิน ให้คำนวณนับเฉพาะหนี้เงินกู้ของสหกรณ์บวกกับเงินฝากจากสหกรณ์อื่น แต่ไม่ต้องนับรวมเงินฝากของสมาชิก 2.สัดส่วนลงทุนของสหกรณ์ต้องไม่เกิน 20% ของทุนเรือนหุ้นบวกทุนสำรอง จากมติ ครม. ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 10%


วิทยุพลังงาน

“ทุกวันนี้ สหกรณ์บางแห่งมีการลงทุนมากกว่า 40-50% ของสินทรัพย์ บางแห่งลงทุนสูงถึง 100% ของส่วนผู้ถือหุ้น ทางสหกรณ์ได้ต่อรองขอเป็น 100% ของทุนเรือนหุ้นบวกทุนสำรอง แต่แบงก์ชาติเห็นว่า หากเป็นเช่นนั้นจะไม่ตรงหลักการ แต่ปัญหา คือ ปัจจุบัยหลายสหกรณ์ลงทุนในสัดส่วนที่เกินกว่าเกณฑ์กำหนดอยู่มาก จะปรับดึงให้เข้ามาอย่างไร จึงให้เสนอเพดานที่ 20% ไปก่อน และให้คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ (คพช.) เป็นผู้พิจารณา”


TP15-3311-1

3.การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง 3% จากมติ ครม. ที่กำหนดให้ไม่น้อยกว่า 6% ของหนี้สิน ขณะที่ กฎกระทรวงสหกรณ์ปัจจุบัน ให้ดำรงเพียง 1% เกณฑ์บังคับใหม่ 3% แยกเป็นการดำรงสภาพคล่องส่วนของเงินสด, เงินฝากธนาคาร 1% และพันธบัตร 2% โดย ธปท. ได้ผ่อนผันให้สหกรณ์ที่มีเงินฝากกับชุมนุมสหกรณ์แห่งประเทศไทย ให้นับเป็นการดำรงสภาพคล่อง 1% ได้ แต่ทางชุมนุมสหกรณ์ฯ ได้ต่อรองให้นับเอาเงินสหกรณ์ที่ฝากกับชุมนุมสหกรณ์ฯ เป็นการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง ทั้งสัดส่วน 6% เพราะเห็นว่า ไม่ต่างกับเงินฝากธนาคารอยู่แล้ว ธปท. จึงให้โจทย์ว่า หากผ่อนผัน ให้นับเงินฝากของสหกรณ์เป็นการดำรงสภาพคล่อง ทั้ง 6% ชุมนุมสหกรณ์ฯ จะวางระบบการป้องกันและกำกับอย่างไรไม่ให้เกิดความเสี่ยง

นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้ กสส. ไปจัดทำตัวเลขว่า สหกรณ์ออมทรัพย์ที่ปล่อยกู้วนซ้ำต่ำกว่า 1 ปี มีกี่แห่ง สมาชิกกี่ราย เพื่อที่ ธปท. จะหาทางแก้ปัญหาหนี้กลุ่มนี้ ซึ่งเป็นสาเหตุการสร้างหนี้ครัวเรือน ก่อนที่ กสส. จะไปพูดคุยกับ ธปท. ในปลายเดือนนี้ ทั้งนี้ เกณฑ์กำกับตามมติของ ครม. ระบุว่า สัญญาเงินกู้ที่กู้วนซ้ำน้อยกว่า 1 ปี จะต้องกันสำรองหนี้ ทั้ง 100% ซึ่งสหกรณ์ยังไม่เห็นด้วย

“กสส. จะไปร่างกติกาก่อนประกาศเพิ่ม เมื่อรวมกับเกณฑ์กำกับที่ออกมาแล้วเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2560 ถือว่า ปฏิรูปกำกับระบบสหกรณ์ค่อนข้างสมบูรณ์”

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1-14

| ดอกเบี้ยเหลือ 4.5% |
ส่วนเกณฑ์กำกับที่ประกาศไปก่อนหน้า อาทิ 1.กำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินรับฝากของสหกรณ์ สูงสุดปีแรกที่ 4.5% (จากเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเดิมที่ 7%) อิงอัตราดอกเบี้ยประจำเฉลี่ยของ 5 ธนาคารขนาดใหญ่ (ปัจจุบันอยู่ที่ 1.5%) บวก 3%, ปีที่ 2 อิงดอกเบี้ยฝากบวก 2.5% เหลือ 4% และปีที่ 3 อิงดอกเบี้ยฝากบวก 2% เหลือ 3.5% ก่อนทยอยปรับลงปีต่อมา 2.การรับฝากหรือปล่อยกู้ให้สหกรณ์อื่น ต้องไม่เกิน 10% ของทุนเรือนหุ้นบวกทุนสำรอง หรือรวมเงินกู้และเงินรับฝากจากสหกรณ์แต่ละรายต้องไม่เกิน 10% และ 3.อัตราเงินปันผลต้องไม่เกิน 80% ของกำไรสุทธิ เมื่อหักตามกฎหมาย

ธปท. มีความกังวลว่า ถ้าสหกรณ์ก่อหนี้มาก ๆ หากดอกเบี้ยขาขึ้น จะทำให้สหกรณ์เกิดภาวะวิกฤติได้ และโอกาสที่ดอกเบี้ยขาขึ้น ยังส่งผลต่อให้สหกรณ์ขาดสภาพคล่องได้ทันที โดยเห็นว่า สถานการณ์โลกมีความไม่แน่นอนสูง และไปไวไม่เหมือนอดีต เกณฑ์กำกับจึงเป็นการจัดสมดุลให้ระบบสหกรณ์ อาทิ การคุมหนี้ต่อทุนไม่ให้เกิน 1.5% เพื่อลดการก่อหนี้ คุมการลงทุนไม่ให้เกินตัว

“เราไม่อยากให้ใช้สหกรณ์เป็นแหล่งเงินทุนไปปล่อยในตลาดทุน หรือ ปล่อยกู้สหกรณ์อื่นมาก ๆ เงินจะได้ไม่กระจุกที่ใดที่หนึ่ง และการจำกัดเพดานดอกเบี้ยฝากและเงินปันผล ไม่ให้นำตลาดจนจูงใจให้คนมาฝากหาประโยชน์”


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,311 วันที่ 5-8 พ.ย. 2560 หน้า 01-02



ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1-13