กรมชลฯเตรียมลดน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา

28 ต.ค. 2560 | 09:09 น.
กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีการบริหารจัดการน้ำเจ้าพระยา ย้ำเตรียมลดปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา หลังระดับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนลดลงอย่างต่อเนื่อง ยืนยันไม่มีแผนการระบายน้ำเพิ่มแต่อย่างใด

[caption id="attachment_224767" align="aligncenter" width="335"] นายทองเปลว กองจันทร์ นายทองเปลว กองจันทร์[/caption]

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ตามที่ พล.อ.ฉัตรชัย สารีกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนโยบายให้กรมชลประทาน วางมาตรการในการเร่งระบายน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาและน้ำในทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาออกสู่ทะเลโดยเร็วที่สุดนั้น

สถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน่ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน(28 ต.ค. 60) ปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ ลดลงอย่างต่อเนื่อง เช้านี้วัดได้ 2,919 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำลดลงจากวานนี้(27 ต.ค. 60)  12 เซนติเมตร ส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ +17.35 เมตร(รทก.) ระดับน้ำลดลง 6 เซนติเมตร ปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยายังคงที่ในอัตรา 2,697 ลบ.ม./วินาที ทำให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนจนถึงบริเวณจ.อ่างทอง มีระดับน้ำทรงตัว ส่วนที่คลองโผงเผง ระดับน้ำลดลง 1 เซนติเมตร บ้านป้อม จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำลดลง 3 เซนติเมตร และบริเวณอ.บางบาล ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 1 เซนติเมตร

จากสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น กรมชลประทาน ได้ปรับแผนการระบายน้ำ โดยควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาไม่เกิน 2,700 ลบ.ม./วินาที พร้อมกับลดน้ำเข้าพื้นที่ฝั่งตะวันตก จาก 500 เหลือ 475 ลบ.ม./วินาที และจะลดลงตามลำดับ สำหรับในพื้นที่ฝั่งตะวันออก เมื่อระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาลดต่ำลงอยู่ที่ระดับ +17.30 เมตร(รทก.) จะลดการรับน้ำเข้าระบบชลประทานจาก 270 เหลือ 245 ลบ.ม./วินาที และจะลดลงตามลำดับเช่นกัน

จากนั้นเมื่อระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาลดลงอยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เหนือเขื่อนแล้ว จะทยอยลดปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาลง ให้สมดุลกับปริมาณน้ำที่ไหลเข้าในสัดส่วนที่สอดคล้องกัน ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลดลงในระยะต่อไป

ในส่วนของการนำน้ำออกจากทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำทั้งหมด ซึ่งปัจจุบัน(28 ต.ค. 60) มีปริมาณน้ำในทุ่งรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 1,418 ล้าน ลบ.ม. นั้น กรมชลประทาน ได้วางแผนทยอยระบายน้ำออกจากทุ่งทีละทุ่ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 60 – ต้นเดือน ม.ค. 61 โดยจะเริ่มตั้งแต่ทุ่งบางระกำก่อน ไล่ลงมาจนถึงทุ่งสุดท้ายคือทุ่งโครงการฯโพธิ์พระยา เพื่อให้สอดคล้องกับการเพาะปลูกของเกษตรกรในพื้นที่ด้วย

สำหรับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 953 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 99 ของความจุอ่างฯ ระบายน้ำ วันละ 25 ล้าน ลบ.ม./วัน พร้อมกับควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหก ในอัตรา 500 – 550 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทั้งนี้ จะรับน้ำส่วนหนึ่งเข้าระบบชลประทานฝั่งตะวันออกตอนล่างผ่านคลองระพีพัฒน์ ในอัตราเฉลี่ย 120 – 160 ลบ.ม./วินาที เพื่อแบ่งรับน้ำจากแม่น้ำป่าสักลงสู่คลองรังสิตก่อนที่จะระบายออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำบางปะกง โดยจะควบคุมปริมาณน้ำให้อยู่ในคลองไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพื้นริมคลองที่น้ำไหลผ่าน

S__1630342 ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้เร่งระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาให้ไหลลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุด โดยได้รับการสนับสนุนเรือผลักดันน้ำ 7 ลำ และเรือหลวงมารวิชัย 1 ลำ จากกองทัพเรือ ติดตั้งในบริเวณท้ายประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์   จ.สมุทรปราการ ช่วยเร่งระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงที่น้ำลง นอกจากนี้ ยังได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำอีก 14 เครื่อง ในบริเวณคลองระพีพัฒน์ ไซฟ่อนพระธรรมราชา ไซฟ่อนพระอินทราชา คลองเปรมประชากร ประตูระบายน้ำคอกกระบือ ประตูระบายน้ำบางน้ำจืด และบริเวณท้ายท่อระบายน้ำบึงฝรั่ง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำลงสู่ทะเลให้เร็วขึ้น

ในส่วนของลุ่มน้ำท่าจีน ในช่วงวันที่ 27 ต.ค. - 5 พ.ย. 60 จะควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านประตูระบายน้ำโพธิ์พระยา ในอัตราที่ไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน พร้อมกับรับน้ำเข้าทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำ ประกอบด้วย ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งบางบาล ทุ่งบ้านแพน ทุ่งโพธิ์พระยา ทุ่งป่าโมก และทุ่งผักไห่ โดยจะสูบน้ำและเปิดระบายน้ำลงสู่แม่น้ำท่าจีนตอนล่างตามความเหมาะสม ทั้งนี้ ได้ติดตั้งเรือผลักดันน้ำ 55 ลำ บริเวณจ.สมุทรสาคร ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทัพเรือ และเครื่องผลักดันน้ำของกรมชลประทานอีก 53 เครื่อง ติดตั้งบริเวณ จ.นครปฐม เพื่อเร่งระบายน้ำจากพื้นที่ฝั่งตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีนให้ไหลลงสู่ทะเลโดยเร็วต่อไป

อนึ่ง กรมชลประทาน ขอยืนยันว่า ไม่มีแผนที่จะเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาแต่อย่างใด พร้อมกันนี้ขอย้ำว่าปริมาณน้ำที่อยู่ในทุ่ง จะระบายลงแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีนเป็นหลัก หลังจากที่ได้ระบายน้ำในแม่น้ำทั้งสองที่รับมาจากพื้นที่ตอนบน ลงทะเลจนระดับน้ำอยู่ต่ำกว่าตลิ่งแล้ว จึงจะเริ่มระบายหรือสูบน้ำในทุ่งต่างๆ ลงสู่แม่น้ำผ่านระบบชลประทาน โดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ที่น้ำไหลผ่าน หากประชาชนมีข้อสงสัยประการใด สามารถติดต่อสอบถามได้ทางสายด่วนกรมชลประทาน หมายเลข 1460 ตลอด 24 ชั่วโมง ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว