หล่อหลอม “ใจ” สู่ ... ทีมอิเกีย

30 ต.ค. 2560 | 03:53 น.
‘ธุรกิจค้าปลีก’ ถือเป็นธุรกิจที่มีการเข้า-ออกของบุคลากรเยอะติดอันดับต้น ๆ ของตลาดแรงงาน แต่สำหรับ ‘อิเกีย’ ศูนย์จำหน่ายเฟอร์นิเจอร์และสินค้าตกแต่งบ้านจากประเทศสวีเดน ที่เข้ามาเปิดตัวอย่างเป็นทางการในไทยเมื่อปี 2554 กลับเป็งองค์กรค้าปลีกที่มีอัตราการเข้า-ออกของบุคลากรลดลงเรื่อย ๆ

‘ลาร์ซ สเวนสัน’ ผู้อำนวยการด้านความยั่งยืนและการสื่อสาร บริษัท อิคาโน่ รีเทล เอเชีย (ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) บอกกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อ 3 ปีที่แล้ว อิเกียมีการเข้า-ออกของพนักงานประมาณ 60% ปีถัดมา ลดเหลือ 30% และปีนี้เหลือแค่ 19.6% และอิเกียมีเป้าหมายที่จะทำให้ตัวเลขการเข้า-ออกของพนักงานลดลงทุกปี สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น มันเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกคนเข้ามาทำงาน


MP26-3308-2B

หัวใจหลักที่ทำให้พนักงานอยู่กับอิเกีย ... มันเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกพนักงานเข้ามาทำงาน เราเลือกคนที่มีวิสัยทัศน์เหมือนกัน มีค่านิยมเหมือนกัน เมื่อเข้ามาทำงานกับเรา เขาจะไม่คิดว่า เราล้างสมอง หรือ บังคับให้เขาคิดแบบนี้แบบนั้น มันเป็นธรรมชาติของเขาเองที่เขาจะทำงานแบบนี้ คิดแบบนี้ เป็นองค์กรที่คลิกกับแนวทางการใช้ชีวิตของเขา คนทำงานก็จะแฮปปี้และอยากจะอยู่กับเรา”

นอกจากนี้ อิเกียยังพัฒนาให้พนักงานมีส่วนร่วมกับองค์กร ผูกพันธ์กับองค์กร (Engagement) เปิดโอกาสให้พนักงานกล้าตัดสินใจ ทำให้เขามีการเติบโตในหน้าที่การงาน โดยพนักงานจะรู้ Career Path ของตัวเอง ซึ่งเขาสามารถเติบโตได้ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน มีการพัฒนาศักยภาพการทำงาน และยังเปิดโอกาสให้พนักงานได้เลือกย้ายแผนก หรือ ย้ายหน้าที่การทำงาน ถ้าพนักงานสนใจ ต้องการเติบโต หรือ พัฒนาตัวเองไปด้านไหน อิเกียก็เปิดโอกาส เช่น วันหนึ่งคนที่ทำหน้าที่เป็นนักแปลอาจจะย้ายไปทำงานในสโตร์ รวมทั้งสามารถโยกย้ายไปทำงานกับอิเกียในประเทศอื่น ๆ ได้ด้วย

อิเกียให้ความสำคัญกับความเท่าเทียม ทั้งเรื่องการทำงานในแต่ละตำแหน่ง หน้าที่ รวมถึงเรื่องเพศ พนักงานพาร์ตไทม์ จะได้รับสวัสดิการทุกอย่างเท่ากับพนักงานฟูลไทม์ มีการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เติบโตในระดับบริหาร ขณะเดียวกัน ผู้ชายก็สามารถลาไปช่วยดูแลภรรยาที่คลอดลูกได้ โดยไม่จำเป็นว่า จะจดทะเบียนด้วยกันหรือไม่ เป็นคู่ครองต่างเพศ หรือ เพศเดียวกัน สามารถได้รับสิทธิเท่าเทียมกันหมด


MP26-3308-1B

ล่าสุด ยังเปิดโอกาสให้คนวัยเกษียณได้เข้าทำงานไพรม์ไทม์กับอิเกีย โดยสัญญาการทำงานของคนวัยเกษียณ เป็นดังนี้ 1.จะมี Contract ปีต่อปี เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุสามารถเปลี่ยนงาน หรือ หากระหว่างทำงานอยู่เกิดสุขภาพไม่ไหวจริง ๆ สามารถขอหยุดการทำงานได้ (Terminate) โดยต้องแจ้งล่วงหน้าก่อนออก 1 เดือน 2.พนักงานวัยเกษียณได้รับสวัสดิการเทียบเท่าพนักงานประจำ อย่างไรก็ตาม ด้วยธรรมชาติของธุรกิจค้าปลีก พนักงานส่วนใหญ่จะอายุไม่มาก แต่อิเกียไม่ได้ปิดกั้นสำหรับคนที่สนใจเข้ามาร่วมงานว่าจะอายุเท่าไร หากคนวัยเกษียณที่ยังต้องการทำงานต่อและสามารถทำงานได้ อิเกียก็เปิดโอกาสด้วยเช่นกัน

‘ลาร์ซ’ ย้ำว่า ที่สุดแล้ว คือ เรื่องของใจ
พนักงานที่จะเข้ามาทำงานกับอิเกีย สิ่งสำคัญ คือ เรื่องของคนที่มีค่านิยม หรือ วิสัยทัศน์เดียวกับอิเกีย ซึ่งเรื่องหลักก็คือ การสรรค์สร้างสิ่งที่ดีกว่าให้กับคนทั่วไปในทุก ๆ วัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสินค้า หรือ พนักงานที่ทำงานร่วมกัน เพื่อทำให้ธุรกิจเดินหน้าไปได้อย่างยั่งยืน ซึ่งนั่นคือ สิ่งที่หลอมรวมเป็นวัฒนธรรมการทำงานของอิเกีย

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,308 วันที่ 26-28 ต.ค. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว