วัดใจรัฐหาทางออก MUX

25 ต.ค. 2560 | 10:34 น.
นักวิชาการชี้ ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลขอยุติจ่ายค่าธรรมเนียมโครงข่ายภาคพื้นดิน MUX ปีละกว่า 170 ล้านต่อช่องนั้นเข้าใจผู้ประกอบการ เผยเรื่องนี้ “ใหญ่” และ “ท้าทาย” คนที่จะกล้าเคาะ

นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยด้านโทรคมนาคม ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้เขียนเฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลจำนวน 13 ช่อง ขอยุติจ่ายค่าธรรมเนียมโครงข่ายพื้นดิน (MUX) ปีละ 170 ล้านบาทต่อช่องว่า มองภาพรวมจากสิ่งที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลขอมาทั้งหมดและเหตุผล แม้จะค่อนข้างเข้าใจและเห็นใจในสถาน การณ์ แต่ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้ “ใหญ่” และ “ท้าทาย” คนที่จะกล้ามาเคาะมากจริงๆ!!

นอกจากนี้ นายสืบศักดิ์ ยังแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับประเด็นการขอให้รัฐเป็นผู้ออกค่า MUX แทนผู้ประกอบการทุกราย และจัดให้การออกอากาศของทีวีดิจิตอลเป็นบริการพื้นฐานแห่งรัฐนั้น เรื่องนี้มองเหมือนง่ายแต่แท้ที่จริงแล้วความยากคือ “แล้วใครจะต้องเป็นผู้จ่ายและเอางบจากตรงไหน”

อย่างไรก็ตามต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ผู้ประกอบการ MUX แต่ละราย ณ ตอนนี้นั้นต่างมีภาระของการลงทุนและขยายโครงข่ายทั่วประเทศก่อนนี้กันมาทุกราย ไม่ว่าจะเป็น ททบ.5 สทท.(สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย) อสมท หรือแม้แต่กรมประชาสัมพันธ์ แต่ละรายเองนั้นก็ได้มีการทำแผนประมาณการรายรับที่ตนเองจะได้ไปในอนาคต เพื่อที่จะเป็นผลตอบแทนการลงทุน บางแห่งรายได้จากจุดนี้จะเป็นรายได้องค์กรนั้นๆ ไปในระยะยาว อาทิ ททบ.5 อสมท.หรือแม้แต่ สทท.

“การที่อยู่ๆ จะไปขอให้การใช้ MUX ฟรีเลย จึงย่อมกระทบต่อรายได้ของผู้ลงทุนในการสร้างและให้บริการ MUX เช่นกัน แต่ถึงอย่างไร ในเมื่อขอ “ฟรี” เป็นไปไม่ได้แต่แนวทางอุดหนุนถ้าจะว่ากันตามจริงก็พอมี อาทิ รูปแบบการอุดหนุนและช่วยผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล แบบที่ทำอยู่ในการนำช่องรายการขึ้นดาวเทียม กสทช. ก็มีทำอยู่”

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01 ขณะที่ประเด็นการให้นำคลื่นย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ไปใช้ในกิจการโทรคมนาคมแทนกิจการโทรทัศน์และนำออกประมูลและเอารายได้มาชดเชยการขอให้ยุติการจ่ายค่าประมูลทีวีดิจิตอลที่เหลือ มองแยกเป็น 2 ประเด็นย่อย ประเด็นแรก เรื่องการนำคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ไปใช้ในกิจการโทรคมนาคม เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ กสทช. มีแผนนำออกประมูลใช้ในกิจการโทรคมนาคมในอนาคตอยู่แล้ว

ส่วนประเด็นที่ 2 เมื่อนำไปประมูลแล้วเกิดรายได้ รายได้ส่วน นั้นจริงๆ แล้ว แม้จะเป็น กสทช. เองที่เป็นผู้จัดประมูลมีหน้าที่นำส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน กสทช. ผู้จัดประมูลเองทั้งโทรคมนาคมและช่องทีวี ไม่สามารถคิด ตัดสินใจ หรือจะดำเนินการได้เองว่าจะเอาเงินรายได้นั้นไปทดแทนตรงที่ใด หรือทดแทนการจ่ายงวดค่าประมูลอื่นใดได้ หาก กสทช. ทำแบบนั้นก็ถือว่าผิดกฎหมาย

อีกประการคือรายได้ทั้งไม่ว่าจะเป็นค่าประมูลทีวีที่ได้ไปและยังรอจ่าย และค่าประมูลคลื่นต่างๆในอนาคต ต่างก็โดนประมาณการไว้เป็นรายได้แห่งรัฐเพื่อนำไปใช้จ่ายพัฒนาประเทศเช่นกัน การจะไปยกเว้นหรืองดเก็บจึงเป็นเรื่องที่คนจะตัดสินใจต้องพิจารณาค่อนข้างมาก ไหนจะ ยกเว้นเพราะอะไร สมเหตุสมผลไหม ใครได้ประโยชน์ ยกเว้นแล้วไป หารายได้จากไหนมาทดแทน และคล้ายๆ กับประเด็นก่อนหน้าคือที่ สำคัญต้องตอบสังคมได้ด้วยว่า “ทำไมจึงตัดสินใจทำแบบนั้น”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,307 วันที่ 22 - 25 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว