- “มหาราชาแห่งแผ่นดิน” -

24 ต.ค. 2560 | 11:21 น.
1759
… “มหาราชาแห่งแผ่นดิน” ... บทความพิเศษ โดย บุรฉัตร ศรีวิลัย


| “ราชวงศ์จักรี” สถาปนาขึ้นในพุทธศักราช ๒๓๒๕ โดยการปราบดาภิเษกของ “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” ... ซึ่งการเริ่มต้นของราชวงศ์นี้ เรียกว่า “ยุครัตนโกสินทร์” ... หลังจากการสถาปนาราชวงศ์ราว ๗๐ ปีเศษ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพมหามงกุฎ บุรุษยรัตนราชรวิวงศ์วรุตมพงศบริพัตร สิริวัฒนราชกุมาร พระราชโอรสองค์ที่ ๙ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชโอรสองค์ที่ ๑ ที่ประสูติแต่สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ได้ทรงถือพระฤกษ์พระประสูติกาลในวันองคารที่ ๒๐ ก.ย. ๒๓๙๖ แรม ๓ ค่ำ ปีฉลู และต่อมา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๕ แห่งราชวงศ์จักรี โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |


1805

ตลอดระยะเวลาของการครองราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เพื่อพัฒนาสยามประเทศอย่างรอบด้าน สร้างพลังทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในราชวงศ์จักรี ที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการ และเสด็จประพาสยุโรปถึง ๒ ครั้ง เป็นผลให้พระองค์ได้ทรงพบเห็นและตระหนักในแบบแผนการเรียนรู้และการปกครองอย่างตะวันตก ตกผลึกเป็นแนวทางพัฒนาสยามประเทศอย่างรอบด้าน เทียมทันกับนานาอารยประเทศ

นอกจากนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่เสด็จประพาสหัวเมืองใหญ่ เพื่อสำราญพระราชอิริยาบถอย่างสามัญ เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะมิให้ผู้ใดทราบว่า เสด็จไปที่ใดเป็นสำคัญ ทั้งเพื่อจะทอดพระเนตรเห็นชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรและการปฏิบัติหน้าที่ของราชการอย่างแท้จริง และเรียกการประพาสเช่นนี้ว่า “ประพาสต้น”

การเสด็จประพาสต้นบ่อยครั้ง ทำให้พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นความเป็นอยู่โดยแท้จริงของปวงประชาราษฎร์ เกิดเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนา พลิกมิติการดำเนินชีวิตของประชาชนในสยามประเทศ ไปสู่การเป็นเสรีชนผ่านพระราชกรณียกิจอันใหญ่หลวงยิ่ง อย่าง “การเลิกทาส” และ “การเลิกไพร่” อย่างถาวร




MP25-3307-1A

เจ้าจอม ม.ร.ว.สดับ ลดาวัลย์ (ถึงแก่กรรมแล้ว) ได้ให้สัมภาษณ์หนังสืออนุสาร อ.ส.ท. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ปีที่ ๒๒ ฉบับที่ ๙ เดือน เม.ย. ๒๕๒๕ ฉบับสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ว่า

“ชีวิตในรัชสมัยสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตอนนั้น บ้านเมืองของเราก็เจริญรุ่งเรืองไปเรื่อย ๆ แต่มันช้า ๆ ไม่รวดเร็ววูบวาบเหมือนสมัยนี้ มันเป็นยุคสมัยที่เก่ากำลังจะไปและใหม่กำลังจะมา โดยเฉพาะเรื่องประชาธิปไตย พระองค์ท่านเป็นประชาธิปไตยที่สุด และเป็นผู้ทรงตั้งต้น แต่พระองค์ท่านทรงทำอย่างผู้ใหญ่พระทัยเย็น ค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป ทีละเล็กละน้อย ไม่ได้เปลี่ยนกันอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ อย่างเลิกทาสนี่ ท่านยังต้องทรงทำเป็นสิบ ๆ ปี ไม่ได้หักโหมพรวดพราด”


1808

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับการยกย่องจากประชาชนในทั่วทุกแว่นแคว้นในพระปรีชาสามารถ ว่า ทรงเป็นนักปกครองและนักการทูตที่ยิ่งใหญ่ ทรงตัดสินพระทัยพัฒนางานด้านต่าง ๆ ด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกล แม้ว่าการไหลเทของวัฒนธรรมตะวันตกจะเข้ามาคุกคามประเทศ แต่พระองค์ทรงยอมรับและทรงสร้างเป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้สยามประเทศก้าวสู่ความเจริญ ยิ่งไปกว่านั้น พระองค์ทรงใช้วิจารณญาณในการประยุกต์อารยธรรมตะวันตกมาผสมผสานให้กับสังคมไทยอย่างมีชั้นเชิง โดยยึดถือ “ประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง” ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปวงชนชาวไทยจึงน้อมถวายพระราชสมัญญานาม “พระปิยะมหาราช” ซึ่งแปลความหมายว่า “มหาราชผู้ทรงเป็นที่รัก”




MP25-3307-A
1811

หลังการเสด็จสู่สวรรคาลัยเมื่อวันที่ ๒๓ ต.ค. ๒๔๕๓ ได้ราว ๑๗ ปี พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่องค์ที่ ๙ แห่งราชวงศ์จักรี ได้ถือประสูติกาลในวันจันทร์ที่ ๕ ธ.ค. ๒๔๗๐ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีเถาะ “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช” พระโอรสองค์ที่ ๓ ในหม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) และสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระราชโอรสลำดับที่ ๖๙ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และลำดับที่ ๗ ในสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี

จากเจ้าชายพระองค์น้อย สู่ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร” สายพระโลหิตแห่งจักรีวงศ์ สายตรงขององค์พระปิยะมหาราช ที่หล่อเลี้ยงพระวรกาย หัวใจ ของพระมหากษัตริย์ คือ ประชาชน นับแต่การเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๕ พ.ค. ๒๔๙๓ พระราชหฤทัยที่เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตากรุณา การแจ้งประจักษ์ในพระราชหัตถเลขาถึงพระสหาย เมื่อครั้งที่ยังทรงศึกษาอยู่ในยุโรปตอนหนึ่ง ว่า

“…ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ โดยการทำงานที่นี่ว่า ที่ของข้าพเจ้าในโลกนี้ คือ การอยู่ท่ามกลางประชาชนของข้าพเจ้า นั่นคือ คนไทยทั้งปวง” จึงปรากฏเป็นพระราชปณิธานสู่ปวงประชาราษฎร์ ที่ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

นับแต่นั้นเป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงถือเอาทุกข์สุขของราษฎรเป็นทุกข์สุขของพระองค์เสมอมา พระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจในด้านต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์แก่ปวงชนชาวไทยตลอดพระชนมายุของพระองค์ และพระราชกรณียกิจที่เป็นภาพความทรงจำของคนไทยทั้งประเทศ ภาพที่ไม่อาจลืมเลือนแม้จะผ่านไปนับร้อย นับพันปี ตราบสิ้นอายุขัย คือ ภาพการเสด็จพระราชดำเนินทุกพื้นที่บนแผ่นดินไทย การเสด็จออกจากพระราชวังที่เต็มไปด้วยความสมบูรณ์พร้อม ไม่ต่างจากพระอัยกาธิราชเจ้า สู่การดำเนินพระองค์เยี่ยงสามัญ เพื่อเป้าหมายเพียงประการเดียว คือ เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรและเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของปวงประชาราษฎร์ทั้งสิ้น


1813

หัวใจของพระมหาราชาที่เปี่ยมไปด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล พระองค์มุ่งแก้ปัญหาราษฎรจากต้นเหตุ ทรงพระราชทานอาชีพ พระราชทานโอกาส พระราชทานแบบอย่าง และพระราชทานหัวใจที่มีพลังให้กับประชาชนทั้งประเทศ จนกล่าวได้ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร คือ เอกราชา ผู้ทรงเปรียบเสมือน “พ่อหลวงของปวงชนชาวไทย” ทรงพระปรีชาสามารถในทุกแขนงวิชา ทรงรักและห่วงใยพสกนิกร และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ทรงริเริ่มจัดตั้งมูลนิธิต่าง ๆ ทรงค้นคว้าวิจัยการทำฝนเทียม ด้านการเกษตร การชลประทาน การสาธารณสุข และอื่น ๆ อีกมากมาย ทรงส่งเสริมความรักและสามัคคีให้เกิดในชาติ ทรงดูแลทุกข์สุขประชาชน ตลอดพระชนมชีพของพระองค์ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงงานหนักมากที่สุดของโลก

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ “๒ มหาราชาผู้ยิ่งใหญ่” พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชนัดดา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้ประทับความจงรักภักดีครองดวงใจคนไทยทั้งชาติมิเสื่อมคลาย ... ตลอด ๙ รัชกาลแห่งจักรีวงศ์ พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ต่างล้วนทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่บ้านเมืองเป็นอันมาก มิว่าการเปลี่ยนผ่านของแต่ละแผ่นดินจะเป็นเช่นไร “เมื่อมีประเทศไทย ก็ต้องมีพระมหากษัตริย์อยู่คู่กัน”

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,307 วันที่ 22-25 ต.ค. 2560

e-book