เนเธอร์แลนด์คว้าแชมป์ การแข่งขันรถพลังแสงอาทิตย์ที่ออสเตรเลีย

21 ต.ค. 2560 | 09:24 น.
การแข่งขันรถพลังงานแสงอาทิตย์รายการใหญ่ที่สุดในโลกเริ่มขึ้นแล้วเมื่อเร็วๆนี้ (8 ต.ค.) ที่ประเทศออสเตรเลีย โดยปีนี้มี 38 ทีมจาก 19 ประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน ใช้ระยะทางทั้งสิ้น 3,000 กิโลเมตรจากเหนือจดใต้ ทีมอัศวินสีส้ม “นูออน โซลาร์ ทีม” จากเนเธอร์แลนด์คว้าชัยชนะถึงเส้นชัยเป็นอันดับแรกในประเภท Challenger Class ใช้เวลา 5 วัน

การแข่งขันรายการ เวิลด์ โซลาร์ ชาลเลนจ์ (World Solar Challenge) จัดขึ้นทุกๆ 2 ปี และจะมีช่วงของการแข่งขันเฉพาะระหว่างเวลา 08.00 -17.00 น. เท่านั้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รถแต่ละคันจะได้รับแสงอาทิตย์อย่างเต็มที่ อัตราการทำความเร็วสูงสุดนั้นมากกว่า 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง

เส้นทางการแข่งขันมีระยะทางรวม 3,000 กิโลเมตร เริ่มจากเมืองดาร์วินทางตอนเหนือสู่เส้นชัยที่วิกตอเรีย สแควร์ เมืองแอดิเลด ทางตอนใต้ ของประเทศ ทีมที่ออกจากจุดสตาร์ตเป็นทีมแรกคือ พันช์ พาวเวอร์เทรน จากประเทศเบลเยียม ตามมาด้วยทีมสถาบันเทคโนโลยีนาโกยาจากประเทศญี่ปุ่น อีกทีมตัวเต็งจากญี่ปุ่นคือ ทีมมหาวิทยาลัยโทไค ซึ่งออกจากจุดสตาร์ตมาเป็นอันดับ 13 แต่ก็สามารถเข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 4

MP27-3306-A สำหรับผู้ชนะในปีนี้ ประเภท Challenger Class อันดับ 1 ได้แก่ นูออน โซลาร์ ทีม จากเนเธอร์แลนด์ ใช้ความเร็วเฉลี่ยที่ 81.2 กิโลเมตร/ชั่วโมง อันดับ 2 คือ โซลาร์ คาร์ ทีม จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา ความเร็วเฉลี่ย 77.1 กิโลเมตร/ชั่วโมง อันดับ 3 พันช์ พาวเวอร์เทรน โซลาร์ ทีม ความเร็วเฉลี่ย 76.2 กิโลเมตร/ชั่วโมง อันดับ 4 ทีมมหาวิทยาลัย โทไค จากญี่ปุ่น ความเร็วเฉลี่ย 75.9 กิโลเมตร/ชั่วโมง อันดับ 5 โซลาร์ ทีม ทเวนเต้ จากฝรั่งเศส ความเร็วเฉลี่ย 75.6 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขณะที่เจ้าภาพ ทีมจากออสเตรเลียนั้นเข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 6 คือ เวสเทิร์น ซิดนีย์ โซลาร์ ทีม มาด้วยความเร็วเฉลี่ย 65.5 กิโลเมตร/ชั่วโมง

แซนเดอร์ คู้ท ผู้จัดการทีมนูออนฯ แชมป์ปีนี้เปิดเผยว่า รถที่ใช้แข่งมีชื่อว่า นูนา9 (Nuna9) กลยุทธ์การแข่งขันและวิธีการขับขี่ปรับเปลี่ยนไปตามสภาพดินฟ้าอากาศ ซึ่งในช่วงของการแข่งขันนั้นมีลมแรงที่ระดับ 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง ผู้ขับจึงพยายามให้ตำแหน่งของตัวรถนั้นใช้ประโยชน์จากแรงลมช่วยส่งแบบเดียวกับที่เรือใบอาศัยแรงลมช่วยนั่นเอง 
นอกจากนี้ยังคำนึงถึงอัตราการใช้พลังงานและความเข้มของแสงแดดด้วย

อีกประเภทการแข่งขันที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือประเภทครูสเซอร์ (Cruiser Class) ที่ไม่เน้นเรื่องความเร็ว แต่เน้นเรื่องของประสิทธิภาพการใช้พลังงานและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การแข่งขันในปีนี้นับเป็นครั้งที่ 30 เป้าหมายคือการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าซึ่งเป็นพาหนะแห่งอนาคต ให้มีประสิทธิภาพมาก ยิ่งขึ้นในทุกๆด้าน และสร้างความตระหนักในหมู่สาธารณชนเกี่ยวกับศักยภาพและแนวโน้มของยานยนต์ประเภทนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,306 วันที่ 19 - 21 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว