ห้ามกะพริบตา

18 ต.ค. 2560 | 23:05 น.
TP8-3306-C การลงประชามติในเรื่องที่สำคัญระดับแยกตัวออกจากประเทศเช่น Catalonia แยกตัวออกจากสเปนนั้นไม่น่าจะเกิดขึ้นง่าย ๆ เช่นเดียวกับการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) การลงเสียงประชามติในเรื่องสำคัญทั้งสองนี้น่าจะมีมากกว่า 1 ครั้งและไม่ควรจะใช้เพียงเสียงข้างมากเป็นตัวตัดสินในกรณีอังกฤษคะแนนเสียงของฝ่าย Leave (ออกจากสหภาพยุโรป) นั้นมีเพียง 52% ส่วนกรณี Catalonia นั้นคนไปลงคะแนนเสียงเพียง 2.26 ล้านคนซึ่งนับเป็นเพียง 42% ของผู้มีสิทธิออกคะแนนเสียง (Catalonia มีประชากร 7.5 ล้านคน) แม้ว่าคะแนนเสียงให้แยกตัวนั้นจะมีถึง 90% ผมมีความเห็นว่าเรื่องทั้งสองนี้สำคัญกว่าการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้แทนราษฎรหรือผู้นำประเทศมากเพราะผลที่เกิดขึ้นกระทบรุนแรงและยาวนานมาก

ในกรณีของ Brexit นั้นเกิดผลกระทบตั้งแต่การเมืองซึ่งกำลังมีปัญหาความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ในการเจรจากับสหภาพยุโรปหรืออียูเพราะไม่มีเสียงเด็ดขาดในรัฐสภาเป็นเหตุให้ฝ่ายอียูไม่แน่ใจว่าเธอจะยังอยู่ในตำแหน่งอีกนานหรือไม่ เพราะการเจรจามีประเด็นที่เป็นเรื่องสำคัญ 3 ประเด็นคือ 1) จำนวนเงินที่ทางอังกฤษจะต้องจ่ายให้อียูในการลาออกซึ่งจำนวนประมาณ 60,000-80,000 ล้านปอนด์ 2) สิทธิของคนอังกฤษและของสมาชิกอียูที่ทำงานอยู่ในทั้ง 2 สถานที่ และ 3) การจัดการเรื่องไอร์แลนด์เหนือที่ต้องออกจากสหราชอาณาจักรในขณะที่ประเทศไอร์แลนด์ยังอยู่ ในช่วงที่ผู้เจรจาฝ่ายอียูต้องการความชัดเจนในข้อที่ 1 ข้างต้น

ขณะนี้เวลาได้ผ่านไป 6 เดือนแล้วแต่การเจรจาก็ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก จนสร้างความไม่แน่นอนว่าทั้ง 2 ฝ่ายอาจจะไม่สามารถได้ข้อตกลงภายในเดือนมีนาคม 2019 ผลที่จะตามมาคือความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นกับภาคเศรษฐกิจเป็นอย่างสูง ขณะเดียวกันก็มีปัญหาคู่ขนานที่จะตามมาคือ Scotland ที่เคยลงประชามติแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักรนั้นก็จะสร้างผลกระทบที่ค่อนข้างรุนแรงตามมาอีก(เพราะ Scotland ต้องการให้อยู่ในสหภาพยุโรป) อังกฤษจึงมีทางออกเพียง 3 ทางคือ 1) ออกจากสหภาพโดยไม่มีข้อตกลงใดๆ (Hard Brexit)ซึ่งจะต้องเผชิญกับปัญหาการค้า การลงทุน การเคลื่อนย้ายคนและการออกจากสหราชอาณาจักรของ Scotland 2) เจรจากับสหภาพคู่กันไปให้มีข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกัน ซึ่งจะต้องมีเงื่อนไขที่จะรักษาสถานภาพของ
อังกฤษให้เหมือนเดิมให้มากที่สุด (Soft Brexit) และ 3) ให้มีการลงประชามติให้กลับเข้าไปอยู่ในสหภาพเช่นเดิม

ส่วนเรื่อง Catalonia นั้น ก็ตกอยู่สภาพคล้ายๆกันคือเมื่อออกจากสเปนแล้วก็จะกลายเป็นประเทศอิสระดังนั้นข้อตกลงต่างๆก็จะหมดสภาพไปโดยอัตโนมัติเช่นต้องออกจากสหภาพยุโรป องค์การการค้าโลก และข้อตกลงอื่นๆที่สเปนได้ทำไว้กับประเทศต่างๆ ปัญหาที่สำคัญคือหาก Cataloniaออกจากสเปนวันนี้แล้วแต่ยังไม่สามารถเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปได้นั้นจะเกิดอะไรขึ้นเพราะส่งออกสินค้า 35% ไปสเปน การลงทุนจะหยุดชะงัก และการเคลื่อนย้ายคนข้ามแดนรวมทั้งคนที่มีที่อยู่อาศัยในสเปน

โลกเปลี่ยนไปเร็วมากจนตามไม่ทัน ดังนั้นจึงต้องติดตามใกล้ชิดชนิดกะพริบตาไม่ได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,306 วันที่ 19 - 21 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว