ภาระบำนาญพุ่งเท่าตัว! สปส. ลุ้น ก.ม.ปลดล็อก

17 ต.ค. 2560 | 08:55 น.
สปส. เผย ยอดผู้รับบำนาญพุ่งเท่าตัว ห่วงภาระรายจ่ายอีก 4 ปี ทะลุ 1.72 หมื่นล้าน ... แรงงานรายได้ไม่พ้นเส้นความยากจน ลุ้นร่างแก้ไข ก.ม. ใช้ปี 61 ช่วยปลดล็อก ขยายเพดานค่าจ้าง-อายุเกษียณ 60 ปี

น.พ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตั้งแต่ปี 2557 ถึงเดือน มิ.ย. 2560 สปส. ได้จ่ายเงินให้ผู้รับบำนาญเป็นจำนวนทั้งสิ้น 100,800 คน คิดเป็นมูลค่าเงินบำนาญ 4,594 ล้านบาท

(ผู้ประกันตนออมไม่น้อยกว่า 15 ปี นับตั้งแต่ ธ.ค. 41) และหากเทียบรายปีจะเห็นว่า ตัวเลขเพิ่มเป็นเท่าตัว

โดยปี 2557 ที่ สปส. จ่ายเป็นปีแรก มีผู้รับบำนาญ 2.17 หมื่นคน เป็นวงเงิน 370 ล้านบาท, ปี 2558 เพิ่มเป็น 4.75 หมื่นคน วงเงิน 1,020 ล้านบาท, ปี 2559 เป็น 7.92 หมื่นคน วงเงิน 1,864 ล้านบาท และ 6 เดือนแรกของปี 2560 เพิ่มเป็น 100,800 คน ใช้วงเงินถึง 1,340 ล้านบาท และคาดทั้งปีนี้จะใช้วงเงินร่วม 3,000 ล้านบาท


บาร์ไลน์ฐาน

“สปส. มีภาระต้องจ่ายเป็นรายเดือนและตลอดชีพ ในอนาคตรายจ่ายมีแต่จะเพิ่ม เพราะคนอายุยืนขึ้น เฉลี่ยชายที่ 80.7 ปี หญิง 84.3 ปี แต่ยืนยันได้ว่า แม้รายจ่ายจะเพิ่ม แต่สถานะกองทุนยังมีรายรับสูงกว่ารายจ่าย”

ยกตัวอย่าง ปี 2559 และ 6 เดือนแรกปี 2560 สปส. มีรายจ่ายบำนาญ 1,864 ล้านบาท และ 1,340 ล้านบาท ตามลำดับ แต่มีรายรับจากเงินสมทบกรณีชราภาพ (หักสมทบจากนายจ้าง-ลูกจ้าง ฝ่ายละ 3% รวม 900 บาท/คน/เดือน) ปี 2559 ที่วงเงิน 8.6 หมื่นล้านบาท และปี 2560 (ณ ส.ค. 60) ที่ 5.9 หมื่นล้านบาท และรายได้จากผลตอบแทนจากลงทุน จากปัจจุบันกองทุนประกันสังคมมีขนาดวงเงิน 1.637 ล้านล้านบาท จำนวนนี้เป็นผลตอบแทนสะสม 4.916 แสนล้านบาท และผลตอบแทน 6 เดือนแรกปีนี้ เพิ่ม 2.522 หมื่นล้านบาท เพิ่มจากสิ้นปีที่แล้ว 5.41%

อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์โครงสร้างประชากรและเงื่อนไขเกิดสิทธิรับบำนาญยังคงอยู่ที่ 55 ปี (อายุเกษียณ) จะส่งผลกระทบต่อกองทุนได้ในระยะยาว จากรายจ่ายที่เพิ่มต่อเนื่อง สปส. ประมาณว่า เพียงแค่ 4 ปี คือ ปี 2564 ที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยสมบูรณ์ (คนอายุ 60 ปีขึ้นไป มี 20% ของประชากร) จะมีผู้ที่รับสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ (บำเหน็จ/บำนาญ) สูงถึง 3.17 แสนคน เป็นมูลค่าเงินบำนาญ 1.72 หมื่นล้านบาท และเป็นจำนวนผู้มีสิทธิรับบำนาญสะสม 5.67 แสนคน ส่วนปี 2578 ที่ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (สูงอายุมี 30% ของประชากร) จะมีแรงงานเกษียณถึง 6.6 แสนคน เป็นมูลค่าบำนาญ 3.36 แสนล้านบาท จะเห็นได้ว่า เพียงระยะเวลา 15 ปี (2564-2578) กองทุนประกันสังคมต้องจ่ายเงินบำนาญเพิ่มถึง 20 เท่า ของการจ่ายบำนาญในปัจจุบัน โดยมีจำนวนผู้มีสิทธิรับบำนาญสะสมเพิ่มเป็น 3.82 ล้านคน


TP-15-3298-8

การที่ สปส. ใช้เกณฑ์ “อายุที่ 55 ปี ถึงจะเกษียณได้” หากผู้ประกันตนออมที่ 15 ปี เมื่อเกษียณจะได้รับบำนาญรายเดือน 3,000 บาทตลอดชีวิต (15 ปีแรก ได้อัตราบำนาญ 20% ของเพดานค่าจ้าง 15,000 บาท) และหากรับวงเงินนี้ไปอีก 30 ปีข้างหน้า จะไม่เพียงพอ รวมทั้งผู้ประกันตนที่อยู่ในระบบและจะไปรับบำนาญในอีก 10 ปีข้างหน้า เพราะเส้นความยากจนปี 2558 ประเมินไว้อยู่ที่ 2,644 บาทต่อคนต่อเดือน และปี 2580 ประมาณที่ 4,537 บาทต่อคนต่อเดือน ดังนั้น ในอีก 10 ปีข้างหน้า บำนาญที่ได้รับก็จะอยู่แถว ๆ เส้นความยากจน

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) คำนวณว่า ถ้าจะให้เพียงพอต้องให้ได้ไม่น้อยกว่า 40% ของค่าจ้างเดือนสุดท้ายที่ออกจากงาน และหากผู้ประกันตนทำงานอยู่ในระบบนานพอ คือ มีการออมสูงสุดที่ 35 ปี จะได้รับบำนาญ 50% ของเพดานค่าจ้าง คือ 7,500 บาท ซึ่งหากผู้ประกันรายนั้นมีเงินเดือนสุดท้ายที่ 3 หมื่นบาท เทียบแล้วก็ได้เพียง 1 ใน 4 หรือ 25% ของเงินเดือนเท่านั้น ซึ่งจะเห็นว่า ไม่เพียงพอ จึงเป็นความจำเป็นของ สปส. ที่ต้องปฏิรูประบบบำนาญชราภาพ

“ขณะนี้ สปส. อยู่ระหว่างรวบรวมความคิดเห็นเพื่อปรับปรุง โดยจะทยอยปรับจากเพดานค่าจ้างที่ 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท และในอนาคตจะขยับเพิ่มทุก ๆ 3 ปี หรือ 5 ปี พร้อมขยายอายุเกษียณจาก 55 ปี มาเป็น 60 ปี ตามลำดับ ซึ่งประมาณว่าจะส่งผลให้ระยะเวลาเฉลี่ยในการรับบำนาญ ชายและหญิงจะอยู่ที่ 20.7 ปี และ 24.3 ปี ตามลำดับ โดยการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม ได้ผ่านกระทรวงแรงงานสู่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ก่อนจะเสนอไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคาดประกาศใช้ไม่เกินปี 2561)”

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,305 วันที่ 15-18 ต.ค. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว