เร่ง “พระเมรุมาศจำลอง” ... บิ๊กรับเหมาร่วมใจสร้าง 85 แห่ง ... เพื่อพ่อหลวง

09 ต.ค. 2560 | 10:06 น.
ในวันที่ 26 ต.ค. นี้ ไทยทั้งชาติจะรวมใจในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสถวายความจงรักภักดีแด่ “ในหลวง รัชกาลที่ 9” เป็นครั้งสุดท้ายอย่างทั่วถึง โดยควรจะได้สัมผัสบรรยากาศและความรู้สึกเดียวกันอย่างพร้อมเพรียงกันทั่วทั้งประเทศ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติวันที่ 29 ส.ค. ที่ผ่านมา ในการจัดสร้างพระเมรุมาศจำลอง รวมจำนวน 85 แห่ง ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมจำนวน 9 แห่ง ในส่วนภูมิภาคจำนวน 76 จังหวัด จังหวัดละ 1 แห่ง


TP12-3303-K

สำหรับภารกิจเร่งด่วนในครั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง รับไปดำเนินการก่อสร้างพระเมรุมาศจำลองในส่วนภูมิภาคทุกจังหวัด รูปแบบของพระเมรุมาศจำลองมีลักษณะเป็นทรงบุษบก ปลายยอดเป็นนพปฎลสุวรรณฉัตร (ฉัตรทอง 9 ชั้น) ความสูงจากระดับพื้นถึงปลายยอดฉัตร ชั้นเชิงกลอน 7 ชั้น ซุมบันแถลงและซุ้มรังไก่ โครงสร้างเหล็ก องค์พระเมรุมาศทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส สูง 22.35 เมตร ฐานย่อเก็จบนพื้นยกทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 16 เมตร ภายในประกอบด้วย แท่นวางดอกไม้จันทน์และพระบรมฉายาลักษณ์

นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้กล่าวถึงรายละเอียดว่า การจัดสร้างพระเมรุมาศจำลองทั่วประเทศไทยทั้งสิ้น 85 แห่ง แผนกสถาปนิกในพระองค์ฯ กรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมศิลปากร ได้ร่วมกันจัดทำแบบก่อสร้างพระเมรุมาศจำลอง โดยรูปแบบเป็นสถาปัตยกรรมไทยรูปทรงบุษบก ปลายยอดเป็นนพปฎลสุวรรณฉัตร (ฉัตรทอง 9 ชั้น) ความสูงจากระดับพื้นถึงปลายยอดฉัตร 22.35 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 16 เมตร ภายในประกอบด้วย แท่นวางดอกไม้จันทน์และพระบรมฉายาลักษณ์


TP12-3303-2K

ทั้งนี้ กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ดำเนินการจัดจ้างโครงการก่อสร้างพระเมรุมาศจำลองในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ทั้ง 76 จังหวัด จัดแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มสัญญา กลุ่มละ 19 จังหวัด รวม 76 แห่ง และในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล (1 สัญญา) จำนวน 8 แห่ง รวมทั้งสิ้น 84 แห่ง (5 สัญญา) กำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ 15 ต.ค. 2560 สถานที่ก่อสร้างของแต่ละจังหวัด ส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณศาลากลางจังหวัดและสถานที่สำคัญของจังหวัดนั้น ๆ

โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลนั้น มีจำนวน 8 แห่ง ประกอบด้วย

1.สนามกีฬากองทัพอากาศ (ธูปะเตมีย์)
2.ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา
3.สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง
4.พุทธมณฑล
5.กองสลากเดิม
6.ลานคนเมือง
7.สวนนาคราภิรมย์
8.ลานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังได้ดำเนินการก่อสร้างพระเมรุมาศจำลองอีก 1 แห่ง ณ บริเวณพระลานพระราชวังดุสิต


TP12-3303-1K

รูปแบบดำเนินการก่อสร้างจะใช้ระบบการก่อสร้าง Prefabrication ซึ่งเป็นการผลิตแต่ละชิ้นส่วนให้สำเร็จก่อนนำไปประกอบบริเวณจุดก่อสร้าง ซึ่งผลการดำเนินงานในปัจจุบัน ทั้ง 84 แห่ง ได้ขึ้นโครงสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ในช่วงขั้นตอนการติดตั้งรูปหล่อเรซินประดับในส่วนของหลังคา (ชั้นเชิงกลอน 7 ชั้น ซุ้มบันแถลงและซุ้มรังไก่) โดยกำหนดแล้วเสร็จในวันที่ 15 ต.ค. 2560

สำหรับบริษัทรับเหมาที่ได้รับงานครั้งประวัติศาสตร์ไปดำเนินการครั้งนี้ ประกอบไปด้วยสัญญากลุ่มที่ 1 บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัลชั่น จำกัด (มหาชน) วงเงินก่อสร้าง 45.6 ล้านบาท ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ รวม 19 จังหวัด, กลุ่มที่ 2 บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) วงเงินค่าก่อสร้าง 45.6 ล้านบาท ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดกลาง รวม 19 จังหวัด, กลุ่มที่ 3 บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) วงเงินค่าก่อสร้าง 45.6 ล้านบาท ดำเนินการในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 19 จังหวัด, กลุ่มที่ 4 บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) วงเงินค่าก่อสร้าง 45.6 ล้านบาท ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ รวม 19 จังหวัด และกลุ่มที่ 5 บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) วงเงินค่าก่อสร้าง 20 ล้านบาท ดำเนินการจำนวน 8 แห่ง ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร-ปริมณฑล

นับเป็นโอกาสสำคัญที่บริษัทรับเหมาชั้นนำของไทยได้มีโอกาสในการถวายงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ทั่วสารทิศ ได้มีโอกาสถวายความจงรักภักดีพระบรมศพ รัชกาลที่ 9 ได้อย่างทั่วถึงนั่นเอง

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,303 วันที่ 8-11 ต.ค. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว