ไขข้อข้องใจ‘อีอีซี’ เชื่อมโลก ให้ไทยแล่น

11 ต.ค. 2560 | 07:06 น.
จากกรณีร่างพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. ...(อีอีซี)ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ที่มีการประเมินว่าจะผ่านการพิจารณาและสามารถประกาศใช้ได้ภายในสิ้นปีนี้นั้นระหว่างนี้ก็มีคำถามเกิดขึ้นมากมายถึงสาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าวว่ามีความโปร่งใส และเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่

ในข้อสงสัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้ ทางสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือสกรศ. ได้ออกมายืนยันถึงการดำเนินการและการมีกฎหมายรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี)

-สิทธิเช่าที่ดิน 50 ปี
โดยเฉพาะข้อสงสัยที่เกี่ยวข้องกับสิทธิการใช้ที่ดินของนักลงทุนต่างชาติที่ยาวถึง 99 ปี ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ยาวนานเกินไปนั้น ก็มีคำตอบว่า ในร่างพ.ร.บ.อีอีซีระบุสิทธิการเช่าที่ดินไว้สูงสุดเพียง 50 ปี และต่อได้อีกไม่กิน 49ปีเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียกำหนดให้เช่าได้ไม่เกิน99ปี กัมพูชา ลาว กำหนดระยะเวลาการเช่าที่ดินในเขตส่งเสริมได้สูงสุด 99ปี เวียดนาม 70 ปีและต่อได้หลายครั้ง

ส่วนกรณีที่เข้าใจกันว่าสิทธิพิเศษ การลดภาษีนิติบุคคล ให้แก่นักลงทุนมากกว่าเดิมนั้น ก็เป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่มีอยู่ตามกรอบกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ที่มีอยู่เดิม และเป็นไปตามระเบียบของกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ไม่ได้มีอะไรที่มากเกินไปกว่าเพดานที่บีโอไอได้ระบุเอาไว้

นอกจากนี้ การเพิ่มสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดถึง 17% เป็นการสร้างฐานภาษีใหม่เพราะเมื่อเก็บภาษีสูง ผู้บริหารนักลงทุน ผู้เชี่ยวชาญ เหล่านี้ไม่เปิดบัญชีหรือยื่นภาษีในประเทศไทย แต่เปิดบัญชีเงินเดือนอยู่ต่างประเทศ เข้ามาทำงานโดยไม่เสียภาษี ดังนั้นการกำหนดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 17% ทำให้ประเทศไทยได้บัญชีเงินเดือนเหล่านี้มาอยู่ในประเทศไทยเพิ่มเติมแทน

tp11-3303-b -สานงานรัฐบาลชุดก่อน
อีกทั้งการมองว่าอีอีซี ใช้เงินงบประมาณในการพัฒนาถึง 1.5 ล้านล้านบาท มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ทางสกรศ.ชี้ให้เห็นว่า หากมองย้อนกลับไปรัฐบาลที่ผ่านมาก็ตั้งงบด้านการพัฒนาไว้ระดับนี้ เพื่อจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขยายให้อีอีซี เป็นประตูเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยสู่เศรษฐกิจโลก โครงการหลักๆ เกือบทั้งหมดในอีอีซีได้มีการริเริ่มมาตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้วไม่ว่าจะเป็น โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุดและมอเตอร์เวย์ ซึ่งบางโครงการได้ทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม( EIA) เสร็จไปแล้วและบางโครงการก็อยู่ในกระบวนการทำ EIA รัฐบาลปัจจุบันเข้ามาทำหน้าที่ประสานโครงการเหล่านี้ให้เชื่อมโยงกันเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ

-พีพีพีช่วยลดภาระลงทุน
ที่สำคัญโครงการต่างๆ จะใช้กระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน(พีพีพี) ไม่ได้เป็นการให้ประโยชน์กับเอกชนรายใดรายหนึ่ง การใช้วิธีนี้ เพื่อเป็นการลดภาระงบประมาณแผ่นดิน ในการลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐาน และเพื่อเป็นการไม่ทำให้รัฐบาลต้องกู้เงินเพื่อลงทุนกับโครงการต่างๆ จึงได้เลือกรูปแบบพีพีพี ที่รัฐบาลจะมีเอกชนเป็นคู่สัญญา

ดังนั้น วิธีพีพีพีจึงเหมาะสำหรับโครงการที่มีผลตอบแทนทางการเงิน และเอกชนสนใจลงทุน และรัฐอาจจะให้เงินชดเชยบ้างก็ได้ กรณีนี้เหมาะสมสำหรับ รถไฟความเร็วสูง สนามบินอู่ตะเภา และท่าเรือนํ้าลึก ซึ่งจะเป็นการประหยัดเงินงบประมาณให้ประเทศสามารถนำไปทำงานที่สำคัญให้กับประเทศ และลดภาระทางงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลได้

-หวังให้เป็นประตูเชื่อมโลก
ส่วนความเข้าใจที่ว่า การใช้จ่ายเงินงบประมาณจำนวนมากมายมหาศาล กระจุกตัวเพียง 3 จังหวัดในอีอีซี แต่ไม่กระจายลงไปในพื้นที่ต่างๆ นั้น ก็เพราะพื้นที่อีอีซี ได้ถูกวางตำแหน่ง และได้รับการพัฒนามาตั้งแต่ยุค Eastern Seaboard ให้เป็นประตูของประเทศ มีการวางแผนให้เชื่อมต่อกันอย่างสมบูรณ์แบบ เช่น การขนส่งระบบรางพื้นที่อีอีซี ที่จะต้องเชื่อมต่อกับรถไฟทางคู่ จากหนองคาย เชียงใหม่ เป็นต้น ส่วนสนามบินอู่ตะเภาที่ได้รับการพัฒนาเป็นสนามบินพาณิชย์ จะเป็นการลดภาระจากสนามบิน ดอนเมือง และสุวรรณภูมิที่แออัดอยู่แล้ว และเป็นการกระจายตัวออกมา

อีกทั้งการที่ต้องพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ๆเพราะสถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงไปมาก อีอีซีจึงวางพื้นฐานสำหรับอุตสาหกรรมใหม่ที่กำลังเติบโต และหากไม่พัฒนาตาม ความสามารถในการแข่งขันของประเทศจะลดลง โดนเพื่อนบ้านแซงหน้า

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,303 วันที่ 8 - 11 ตุลาคม พ.ศ. 2560

e-book