ตำรวจพา “ปู” หนี...ผิดอาญาจริงหรือ?

08 ต.ค. 2560 | 10:42 น.
TP07-3303-a

บทความ โดย ไพรัช วรปาณิ กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ | ข่าวดังในระยะนี้ คือ กรณี 3 ตำรวจช่วยพา “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี หนีออกนอกประเทศ ทำให้ผู้คนในแวดวงนักกฎหมาย, นักธุรกิจ ที่สนใจการบ้านการเมืองต่างพากันตั้ง “ปุจฉา” ถามมาว่า ตามหลักกฎหมายอาญา 3 เจ้าหน้าที่ตำรวจ อันมี พ.ต.ท.สามิตร ไชยอิ่นคำ สว.กก.สส.จ.นครปฐม, ด.ต.พรพิพัฒน์ มากบุญงาม ผบ.หมู่ อก.บก.ภ.จ.นครปฐม และ พ.ต.อ.ชัยฤทธิ์ อนุฤทธิ์ รอง ผบก.น.5 ซึ่งถูกระบุว่า มีส่วนเชื่อมโยงในการพา “ยิ่งลักษณ์” หลบหนี ดังเหตุการณ์ที่ปรากฏนั้น จะต้องรับโทษทางอาญาหรือไม่?

ต่อมา หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่พาดหัวตัวไม้ว่า อดีตบิ๊กกากีพันช่วย “ปู” หนี ถูกเด้งทันควัน โดย พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. เข้าทำเนียบรายงาน “บิ๊กตู่” หลังยึดเก๋งคัมรี่ พา “ยิ่งลักษณ์” อดีตนายกฯ หนีออกนอกประเทศ มี 3 ตำรวจเกี่ยวข้อง แต่ยังไม่พบผิดอาญา

จึงกลายเป็นประเด็นคำถามยอด “ฮิต” จากเพื่อน ๆ อยากรู้ว่า ในที่สุดแล้ว การที่ 3 ตำรวจ พา “ปู” หนี มีความผิดทางอาญา ตามความเห็นของนักกฎหมายใหญ่แห่งพรรคประชาธิปัตย์ ออกสื่อว่า “อย่างไรก็ผิด” ...จริงหรือไม่?


บาร์ไลน์ฐาน

ในฐานะผู้เขียน ซึ่งเป็นศิษย์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรก-ฤทธิ์ บิดาแห่งกฎหมายไทย และเป็นสมาชิกสามัญของเนติบัณฑิตยสภา จึงต้องตอบสนองเพื่อนพ้อง โดยการค้นหาหลักกฎหมายและแนวฎีกาที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ เพื่อนำมาประกอบการวิเคราะห์ศึกษาในเชิงวิชาการ จากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 จึงพอได้ข้อสรุปว่า กรณี 3 ตำรวจพา “ปู” หนี ดังกล่าว ไม่น่าเข้าข่ายองค์ประกอบความผิดตามนัยแห่งมาตรา 189 ป.กฎหมายอาญา แต่อย่างใด กล่าวคือ มาตรา 189 บัญญัติไว้ ดังนี้ ...

“ผู้ใดช่วยผู้อื่น ซึ่งเป็นผู้กระทำความผิด หรือ เป็นผู้ต้องหากระทำความผิด อันมิใช่ความผิดลหุโทษ เพื่อไม่ให้ต้องโทษ โดยให้พำนักแก่ผู้นั้น โดยซ่อนเร้น หรือ โดยช่วยผู้นั้นด้วยประการใด เพื่อไม่ให้ถูกจับกุม ต้องระวางโทษ จำคุก 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ทั้งนี้ จำต้องพิเคราะห์ในเชิงลึกจนได้ข้อสรุปว่า “ยิ่งลักษณ์” ในความเป็นจริงแล้ว จะถือว่า เป็น “ผู้กระทำผิด” หรือ “เป็นผู้ต้องหาว่ากระทำผิด” ตามนัยในองค์ประกอบความผิดแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 หรือไม่? เพราะ ... ขณะเกิดเหตุการณ์ ผู้ถูกพาหนี “ยิ่งลักษณ์” ยังไม่ได้รับผลคำตัดสินและ/หรือแม้จะได้รับผลแล้ว แต่คดีก็ยังไม่ถึงที่สุด!

การวิเคราะห์ประเด็นปัญหากฎหมาย มีหลักสำคัญว่า จำต้องอาศัยแนวคำพิพากษาของฎีกาที่ผ่านการพิสูจน์ตัดสินจากศาล อันเป็นข้อยุติแล้ว มาประกอบการวิเคราะห์-ศึกษา เพื่อเป็นแนวทาง เหตุนี้เองจึงทำให้นักศึกษากฎหมายที่สมัครสอบผู้ช่วยทั้งตุลาการและอัยการ ต้องทุ่มเวลาในการอ่าน-จำ “แนวฎีกา” อย่างหามรุ่งหามค่ำ ซึ่งในอดีตตอนจบเนฯ ใหม่ ๆ ผู้เขียนเคยสมัครสอบผู้ช่วยตุลาการมาแล้วถึง 3 ครั้ง แต่สุดท้าย “ตก” ทำให้รู้ว่า ประเด็นปัญหาทางข้อกฎหมายยากเพียงใด? (ฮา)

เหตุการณ์ตำรวจช่วยพาตัวอดีตนายกฯ หนี ยังไม่เคยปรากฏในประเทศไทยมาก่อน ดังนั้น ผู้เขียนจึงต้องค้นหาแนวฎีกาที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาเทียบเคียง เพื่อเป็นแนวทางในการเขียนบทวิเคราะห์วิจารณ์ ตามหลัก “ตรรกศาสตร์” ด้วยความเป็นกลาง

ต้องขอขอบคุณเพื่อนเก่าสูงวัย แต่ยังหนุ่มด้วยพลัง คือ พล.ต.ต.เอนก สัมพลัง อดีตนายตำรวจมือปราบคนดัง ที่ได้ช่วยค้นหาฎีกาเด็ด ๆ มาเสริมพลังให้บทความชิ้นนี้มี “สัมพล” ยิ่งขึ้น นั่นคือ แนวฎีกาที่ 207/2517 อันมีนัยดังนี้ ...

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 25 ส.ค. 2508 ถึงวันที่ 10 ก.ย. 2508 ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกัน จำเลยได้บังอาจช่วย นายทิม อยู่ดี ซึ่งเป็นผู้ต้องหาว่า กระทำผิดและถูกพนักงานอัยการจังหวัดจันทบุรีฟ้องในข้อหาฆ่า นายเจริญ มาลาวงษ์ แต่ศาลจังหวัดจันทบุรีพิพากษายกฟ้อง ตามคดีแดงที่ 797/2513

แต่โจทก์อุทธรณ์ต่อ ... ครั้นถึงวันนัดคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แต่ นายทิม อยู่ดี จงใจหลบหนี ไม่ไปฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ดังนี้ ศาลจังหวัดจันทบุรีจึงออกหมายจับ นายทิม อยู่ดี เพราะเป็นผู้กระทำผิดฐานหลบหนี ไม่ไปศาลเพื่อฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จำเลยบังอาจช่วย นายทิม อยู่ดี โดยให้พำนักและซ่อนเร้น นายทิม อยู่ดี และเมื่อตำรวจติดตามจับกุม นายทิม อยู่ดี จำเลยก็ได้บอกให้ นายทิม อยู่ดี ทราบล่วงหน้า เพื่อหลบหนี มิให้ถูกจับกุม และเพื่อไม่ให้ นายทิม อยู่ดี ต้องโทษ เหตุเกิดที่ ต.กระแจะ อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อาญา มาตรา 189

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วสั่งว่า การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้อง ไม่เป็นความจริง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 เพราะการที่ศาลออกหมายจับ นายทิม อยู่ดี จำเลยในคดีอาญา หมายเลขแดงที่ 797/2513 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 182 นั้น เป็นการออกหมายจับเพื่อให้ได้ตัว นายทิม อยู่ดี จำเลยกระทำผิดฐานหนึ่งฐานใด อันมีโทษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ไม่ให้ยกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ ... ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 บัญญัติลงโทษผู้กระทำการช่วยเหลือผู้กระทำผิด หรือ เป็นผู้ต้องหาว่ากระทำผิดเพื่อมิให้ต้องรับโทษ มิได้บัญญัติลงโทษผู้ไม่มาฟังคำพิพากษาของศาล ศาลอุทธรณ์ได้ตรวจแล้ว ไม่พบว่า มีตัวบทกฎหมายใดบัญญัติว่า คู่ความซึ่งไม่มาฟังคำพิพากษาของศาลตามวันนัด มีความผิดและมีโทษทางอาญา นายทิมจึงไม่เป็นผู้กระทำความผิด การกระทำของจำเลยจึงไม่ครบองค์ความผิดตามบทกฎหมายที่โจทก์อ้าง พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา ... ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่า นายทิมเป็นผู้กระทำความผิด หรือ เป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 189 หรือไม่?

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1

พิเคราะห์แล้ว สำหรับคดีที่นายทิมถูกฟ้อง ในข้อหาว่า ฆ่านายเจริญนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แม้คดีจะยังไม่ถึงที่สุด แต่ตราบใดที่ยังไม่มีคำพิพากษาของศาลสูงเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ก็ต้องถือว่า นายทิมไม่ใช่ผู้กระทำผิดในข้อหาฐานนี้ คงเหลือแต่เรื่องนายทิมจงใจหลบหนี ไม่ไปฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จนศาลจังหวัดจันทบุรีออกหมายจับว่า เป็นการกระทำผิดหรือไม่?

ศาลฎีกาเห็นว่า การที่ศาลจังหวัดจันทบุรีออกหมายจับนายทิม ก็เพื่อให้ได้ตัวนายทิมมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ หาใช่ออกหมายจับ เพราะนายทิมกระทำผิดฐานหลบหนีไม่ไปศาล ดังที่โจทก์กล่าว ในฟ้องไม่ นายทิมจึงไม่ใช่ผู้กระทำผิด หรือ ผู้ต้องหาว่ากระทำความผิด การที่จำเลยช่วยเหลือนายทิม ด้วยประการต่าง ๆ ดังฟ้อง จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องเสียนั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

ดังนั้น การที่ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายใหญ่ พรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ผ่านช่อง ไบรท์ทีวี เมื่อวันที่ 26 ก.ย. นี้ โดยระบุว่า “เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการพา น.ส.ยิ่งลักษณ์ หนี มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 และการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจรู้อยู่แล้วว่า พาคนที่ศาลมีคำสั่งห้ามออกนอกประเทศ และที่กำลังจะพิพากษาออกนอกประเทศ ‘อย่างไรก็ผิดอยู่แล้ว’ นั้น”

ผู้เขียน ซึ่งเป็นนักกฎหมายระดับเนติบัณฑิต เช่นเดียวกับ นายวิรัตน์ กลับไม่เห็นพ้องด้วยกับคำกล่าวของนักกฎหมายใหญ่แห่งทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ที่ฟันธงว่า มีความผิดตาม ป.อาญา ม.189 แต่อย่างใดไม่ ... เพราะมองว่า ผู้หลบหนียังไม่เข้าองค์ประกอบความผิด ม.189 เพราะแนวฎีกาดังกล่าวข้างต้น พิเคราะห์แล้ว นั่นเอง?

ขอเรียนว่า ผู้เขียนไม่เคยรู้จักทั้งอดีตนายกฯ “ปู” และตำรวจทั้ง 3 คน ดังกล่าวมาก่อน แต่เขียนวิเคราะห์โดยอาศัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย พร้อมด้วยหลักกฎหมายและแนวฎีกาที่เน้นความถูกต้องชอบธรรมเป็นที่ตั้ง

ดังนั้น เมื่อพิเคราะห์ด้วยหลักนิติธรรมและเหตุผลข้อมูลดังกล่าวแล้ว จึงสรุปตอบแฟน ๆ ผู้อ่านได้ว่า การที่ 3 เจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งถูกระบุว่า มีส่วนเชื่อมโยงการพา “ยิ่งลักษณ์” หนีหมายนัดให้มาฟังคำพิพากษา ออกนอกประเทศ ดังที่กำลังเป็นประเด็นโต้เถียงกันอยู่นั้น ถ้าพิเคราะห์จากเจตนารมย์ในมาตรา 189 และแนวฎีกาดังกล่าว ผู้เขียน เชื่อว่า “อย่างไรก็ไม่เข้าข่ายมีความผิด” ตาม ป.อาญา มาตรา 189 ...

เจ้าหน้าที่ตำรวจที่พา “ปู” หนี “อย่างไรก็ผิดอยู่แล้ว” ... จริงหรือ??

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,303 วันที่ 8-11 ต.ค. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว