“บีโอไอ” จัดหมวดลงทุนใหม่! แบ่ง 5 กอง รองรับทิศทางการส่งเสริมยุค 4.0

01 ต.ค. 2560 | 08:03 น.
“บีโอไอ” ปรับประเภทกิจการจัดระเบียบหมวดการลงทุนใหม่ แบ่งเป็น 5 กอง ให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ปัจจุบัน ล่าสุด รอประกาศกฤษฎีกา ... “กลุ่มยานยนต์” ยิ้มรับรัฐสนับสนุนต่อเนื่อง ชูเป็น 1 ใน 10 อุตฯ เป้าหมาย จับตารถยนต์ในอนาคต

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ “บีโอไอ” ปรับประเภทกิจการจัดระเบียบหมวดการลงทุนใหม่ ให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ปัจจุบัน โดยมีการปรับเปลี่ยนเป็นการภายในแล้ว ตั้งแต่วันที่ 11 ก.ย. ตอนนี้รอประกาศกฤษฎีาส่งกลับเข้าคณะรัฐมนตรี เมื่อนายกรัฐมนตรีเห็นชอบ จึงประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป โดย “บีโอไอ” ต้องการปรับปรุงการทำงานภายในให้สอดคล้องกับทิศทางการส่งเสริม เพราะ 5 กลุ่มนี้ 4 กลุ่ม เป็นเรื่องเทคโนโลยี และอีก 1 กลุ่ม เป็นเรื่องบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง แต่ละกลุ่มจะเน้นเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน การดูแลแต่ละกองก็ต้องตรงกับทักษะที่มี


TP9-3301-A

ทั้งนี้ ประเภทกิจการที่ “บีโอไอ” จัดหมวดใหม่ จะประกอบด้วย 5 กอง ดังนี้ กองบริหารการลงุทน 1: BIO and Medical Industries (อุตสาหกรรมเกษตรเทคโนโลยีชีวภาพและการแพทย์) เช่น ไบโอเทคโนโลยี, ไบโอพลาสติก ซึ่งทั้งกองนี้จะดูเรื่องสายไบโอทั้งหมด, กองบริหารการลงทุน 2: Advanced Manufacturing Industries อุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น สายผลิตที่เกี่ยวกับ IoT (Internet of Things) หรือ ยานยนต์สมัยใหม่, กองบริหารการลงทุน 3: Basic and Supporting Industries อุตสาหกรรมพื้นฐานและอุตสาหกรรมสนับสนุน จะเป็นเรื่องซัพพอร์ตติ้ง อินดัสทรี พวกโครงสร้างพื้นฐานทั้งหลาย นิคมอุตสาหกรรม, กองบริหารการลงทุน 4: High Value Services อุตสาหกรรมบริการมูลค่าเพิ่มสูง เช่น R&D, โรงแรม ท่องเที่ยว ขนส่ง ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ กิจการสนับสนุน (IHQ, ITC, TISO) และกองบริหารการลงทุน 5: Creative and Digital Industries อุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์และดิจิตอล เช่น พวกซอฟต์แวร์ อี-คอมเมิร์ซ เป็นต้น

นายองอาจ พงศ์กิจวรสิน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ ว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการส่งเสริมจากบีโอไอ ที่ยกระดับให้ไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง จะเห็นว่า วันนี้โปรดักซ์แชมเปี้ยนที่ส่งออกของไทย คือ รถปิกอัพ รถเก๋ง เมื่อก่อนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนผลิตรถปิกอัพ ในตลาดโลกมีผู้ผลิตเพียงไทยและอเมริกาเป็นหลัก ตอนนี้การผลิตรถปิกอัพก็มีฐานการผลิตใหม่เกิดขึ้น ทั้งในเซาธ์แอฟริกา สเปน ที่ต้องผลิตส่งเข้ายุโรป และจีน แต่ทั้งหมดนี้ ก็ไม่ใช่ฐานผลิตใหญ่เท่าไทยกับสเปน ในขณะที่ รถเก๋งมีฐานการผลิตทั่วโลกเยอะมาก ทั้ง ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และในยุโรป ตุรกี ดังนั้น การแข่งขันก็จะสูงกว่าเดิม มีกำลังผลิตรถยนต์เพื่อขายในตลาดในโลก รวมประมาณ 90 ล้านคัน/ปี ในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่เป็นรถเก๋ง และในจำนวนนี้ ไทยอยู่ในอันดับที่ 11 ในแง่ยอดการผลิตเมื่อปี 2016 ปีนี้ ถ้าดูที่เดือน มี.ค. อยู่ที่อันดับ 12 ล่าสุด รัฐบาลสนับสนุนให้อุตสาหกรรมยานยนต์เป็น 1 ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ก็น่าจับตาการส่งเสริมยานยนต์ในอนาคต ว่า สุดท้ายแล้ว จะมีการลงทุนมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะ “รถยนต์ไฟฟ้า”

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,301 วันที่ 1-4 ต.ค. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว