5 ปีเห็นผลชัดเจนแผนปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานไทย

27 ก.ย. 2560 | 10:54 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

แม้ว่าหลายโครงการจะมีการก่อสร้างและทยอยประมูลในส่วนที่เหลือไปบางส่วนสำหรับเมกะโปรเจ็กต์ตามแผนปฏิบัติการแอกชันแพลน ปี 2559-2560 ของกระทรวงคมนาคมที่รัฐบาลหวังอย่างยิ่งจะไปมีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศซึ่งก็มีส่วนได้ในระดับหนึ่งเนื่องจากยังมีกระบวนการและขั้นตอนดำเนินการตามระบบราชการอีกมากมาย

ล่าสุดนั้นนายพิชิตอัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้นำเสนอ “แผนปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานไทย เพื่อสนับสนุนธุรกิจ 4.0” ในงานสัมมนา “กรุงศรี บิซิเนส ฟอรั่ม : ซีอีโอ 4.0 การปฏิรูปทางความคิด” เพื่อเป็นแนวทางให้ภาคเอกชนปรับตัวและรับมือกับโอกาส จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านเทคโนโลยีและสังคม รวมทั้งกระตุ้นให้ภาคธุรกิจผนึกกำลังกันพัฒนาประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่รัฐบาลได้วางไว้

++รัฐเร่งเพิ่มขีดความสามารถ การแข่งขัน
ดังเป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและเพิ่มมาตรการด้านการขนส่งทางรางให้เป็นระบบการขนส่งหลักของประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งกระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและขนส่ง ด้วยการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟระหว่างเมือง การพัฒนาโครงข่ายขนส่งสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ และปริมณฑล การเพิ่มขีดความสามารถทางหลวงเชื่อมโยงฐานการผลิตของประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน การพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางนํ้า และการเพิ่มขีดความสามารถการให้บริการขนส่งทางอากาศ รวมถึงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งการดำเนินโครงการต่าง ๆ จะเห็นผลเป็นรูปธรรมในอีก 5 ปีข้างหน้า สามารถเชื่อมต่อการเดินทางและการขนส่งระหว่างภูมิภาคให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

TP12-3299-B โดยกระทรวงคมนาคมมีแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ในระยะ 5 ปีข้างหน้า วงเงินรวม 2.31 ล้านล้านบาท จาก 20% ของ GDP แบ่งเป็น 5 แผนงาน ประกอบด้วย 1.การพัฒนาเครือข่ายทางรถไฟระหว่างเมือง วงเงินลงทุน 495,596 ล้านบาท 2.ปรับปรุงบริการโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะ วงเงินลงทุน 773,920 ล้านบาท 3.เพิ่มขีดความสามารถในการเชื่อมโยงระหว่างฐานการผลิตที่สำคัญในประเทศเพื่อนบ้าน วงเงินลงทุน 567,833 ล้านบาท 4.เพิ่มเครือข่ายการขนส่งทางนํ้า วงเงินลงทุน 119,695 ล้านบาท และ 5.เพิ่มความสามารถในการขนส่งทางอากาศ วงเงินลงทุน 355,316 ล้านบาท ทั้งนี้ ยืนยันว่า หากรัฐบาลออกพันธบัตร ในการลงทุนตามกรอบวงเงินดังกล่าว สามารถดำเนินการได้ และจะไม่กระทบกับวิสัยทางการคลังของประเทศ

++เน้นเชื่อมโยง600ล้านคนกลุ่มเออีซี
ทั้งนี้ การลดต้นทุนและการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระยะ 5 ปีข้างหน้าของไทย วงเงิน 2.3 ล้านล้านบาทนั้น เพื่อเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบ อาทิ เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ที่มีประชากรรวมกว่า 600 ล้านคน ซึ่งถือเป็นโอกาสของไทย ที่จะสามารถดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ รวมถึงจะทำให้การส่งออกของไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

สำหรับแผนในการลดต้นทุนโลจิสติกส์ ตามนโยบายของรัฐบาลนั้นได้ตั้งเป้าลดต้นทุนโลจิสติกส์ให้เหลือ 12% ของ GDP ภายในปี 2564 จากในปัจจุบันอยู่ที่ 14.5% ของ GDP โดยในอนาคตจะเน้นการขนส่งทางรางมากขึ้นจากเดิม 1% ให้เป็น 15-16% เนื่องจากเป็นภาคการขนส่งที่มีต้นทุนตํ่า หรืออยู่ที่ 0.95 บาท ต่อ 1 กม.ต่อ 1 ตัน เมื่อเทียบกับการขนส่งทางถนนโดยรถบรรทุก 10 ล้อ ที่มีต้นทุนราคาอยู่ที่ 2.12 บาท ต่อ 1 กม. ต่อ 1 ตัน อย่างไรก็ตาม ในอนาคตจะผลักดันให้ใช้การขนส่งทางนํ้ามากขึ้น เพราะมีต้นทุนโลจิสติกส์ที่ตํ่าที่สุด คือ 0.65 บาท ต่อ 1 กม. ต่อ 1 ตัน ขณะเดียวกัน เตรียมเปิดให้บริการการขนรถบรรทุกสินค้า โดยเรือเฟอร์รี่ ผ่านท่าเรือบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไปยังท่าเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในสิ้นปีนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,299 วันที่ 24 - 27 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว