พัฒนาพื้นที่ “มักกะสัน” ลุ้นอีกเฮือก! กับเมกะโปรเจ็กต์หมื่นล้าน

27 ก.ย. 2560 | 12:08 น.
เกาะติดเมกะโปรเจ็กต์ | โครงการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ... โครงการพัฒนาบริเวณพื้นที่ย่าน “มักกะสัน” ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) บนพื้นที่ประมาณ 745 ไร่ ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและนักลงทุนไปเรียบร้อยแล้ว โดยศูนย์วิจัยขีดความสามารถในการแข่งขัน สำนักวิจัย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นผู้ได้รับมอบหมายจาก ร.ฟ.ท. ให้ดำเนินการ ก่อนที่หลังจากนี้จะเร่งสรุปรายละเอียดนำเสนอคณะกรรมการ ร.ฟ.ท. เร่งผลักดันต่อไป

โดยพื้นที่ “มักกะสัน” รวมทั้งสิ้น 745 ไร่ นั้น ประกอบไปด้วย พื้นที่ 324 ไร่ เป็นโรงงานมักกะสัน แปลง A มีพื้นที่ 139 ไร่, แปลง B มีพื้นที่ 117 ไร่, แปลง C มีพื้นที่ 151 ไร่ และแปลง D พื้นที่ 88 ไร่ ซึ่งพื้นที่สามารถนำไปพัฒนาได้มีจำนวนมากและส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่สีเขียว เพื่อรับน้ำนั่นเอง


TP12-3299-C

ตามแผนพัฒนานั้น พื้นที่แปลง A ซึ่งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์มากที่สุดนั้น จัดให้เป็นส่วน “ธุรกิจการค้า (Commercial Zone)” จะเป็นการพัฒนารูปแบบ City Air Terminal มีทั้งร้านค้าปลอดภาษี, ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว, ห้างสรรพสินค้า, โรงแรม, ศูนย์ประชุมสัมมนา, อาคารสำนักงาน และอาคารที่จอดรถ ส่วนแปลง B ที่อยู่เป็นไข่แดง โซนกลางของที่ดินแปลงงามแห่งนี้ จัดให้เป็นส่วน “ธุรกิจสำนักงาน (Bangkok Tower)” มีทั้งอาคารสำนักงาน, ธนาคาร, ศูนย์ข้อมูลธุรกิจ, อุตสาหกรรมของรัฐ และศูนย์แสดงสินค้า สำหรับแปลง C ที่อยู่ตรงข้ามแปลง B จัดให้เป็นส่วน “แสดงสินค้า (Exhibition Zone)” มีทั้งศูนย์แสดงสินค้าระดับนานาชาติ World Kitchen Mart และแปลง D จัดให้เป็นส่วน “บางกอกแฟชั่น” ประกอบไปด้วย บางกอกแฟชั่นมาร์ต คอนเวนชัน โฮเต็ล, อาคารสำนักงาน และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์

ช่วงก่อนนี้มีผลการประเมิน “ราคาที่ดิน” ก่อนนำเสนอกระทรวงการคลังเพื่อปลดภาระหนี้ได้ราว 6.3 หมื่นล้านบาท แต่ก็ได้รับการคัดค้านจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ว่า มูลค่าน้อยกว่าความเป็นจริงอย่างมาก ทั้ง ๆ ที่เป็น “ที่ดินไข่แดง” ใจกลางเมือง อีกทั้งเมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ว่า ร.ฟ.ท. สามารถพัฒนาพื้นที่ได้เอง เรื่องดังกล่าวจึงกลับมาอยู่ในความรับผิดชอบของ ร.ฟ.ท. อีกครั้ง

ท้ายสุดนั้น ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. จะออกมาเป็นอย่างไร ก่อนนำเสนอกระทรวงคมนาคมและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กำหนดรูปแบบการลงทุนให้ชัดเจน เพื่อนำเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจและรัฐบาลอนุมัติให้ดำเนินการต่อไป ยังมีลุ้นกันอีกหลายปีกับ “เมกะโปรเจ็กต์หมื่นล้านบาท” บนทำเลทองของกรุงเทพมหานคร ที่มีผลการศึกษามาหลายรอบ แต่ยังไม่สามารถดำเนินการให้สำเร็จสักที

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,299 วันที่ 24-27 ก.ย. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว