ปตท.รื้อแผนลงทุน สั่งบริษัทลูกทบทวนงบ1.6ล้านล้านรับอีอีซี

24 ก.ย. 2560 | 10:31 น.
ปตท.สั่งบริษัทในเครือทุกแห่งทบทวนแผนการลงทุนใหม่จากแผนเดิมลงทุน1.6ล้านล้านบาท ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาอีอีซีมองหาโอกาสที่จะสร้างNewS-Curve เพื่อเติบโต

นางศรีวรรณ เอี่ยมรุ่งโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กรบริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้นักลงทุนรวมถึงปตท.อยู่ระหว่างรอร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.....(อีอีซี) ประกาศใช้บังคับ หากมีความชัดเจน เชื่อว่าจะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาการลงทุน สามารถส่งเสริมการตัดสินใจลงทุนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยคาดว่าร่างพ.ร.บ.จะผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ใน 3-4 เดือนนี้

[caption id="attachment_211801" align="aligncenter" width="335"] ศรีวรรณ เอี่ยมรุ่งโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กรบริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) ศรีวรรณ เอี่ยมรุ่งโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กรบริษัทปตท. จำกัด (มหาชน)[/caption]

โดยในส่วนของกลุ่มปตท.นั้น ขณะนี้ได้มีนโยบายแจ้งให้บริษัทในเครือทุกแห่ง เร่งไปจัดทำแผนหรือทบทวนแผนการลงทุนใหม่ในระยะ5ปี(2561-2565) จากแผนเดิมที่เสนองบลงทุนมาราว 1.6ล้านล้านบาท(แผนเดิม 2560-2564) ให้สอดรับกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจหรืออีอีซีคาดว่าจะเสนอคณะกรรมการบริษัท(บอร์ด) ปตท.ได้ภายในเดือนธันวาคมนี้

ทั้งนี้การเตรียมแผนลงทุนดังกล่าวเนื่องจากเห็นว่า เป็นโอกาสที่จะสร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) เพื่อเติบโตไปพร้อมกับประเทศ เหมือนกับเมื่อครั้งที่ไทยพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ปตท.ก็เติบโตไปพร้อมกับการพัฒนาก๊าซธรรมชาตินับตั้งแต่นั้นมา ขณะเดียวกันแผนลงทุนของบริษัทในกลุ่ม ปตท. ก็มีความชัดเจนแล้วว่า ยังมีหลายโครงการที่เตรียมขยายในอีอีซี เช่น บริษัท พีทีทีโกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือพีทีทีจีซี ที่มีโครงการGC Polyols ซึ่งนับเป็น NewS-Curveโดยมุ่งเน้นที่จะขยายธุรกิจเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์(E&E)และอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง

โดยโรงงานผลิตโพลีออล ตั้งอยู่ในนิคมเหมราชตะวันออก จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่การลงทุนภายในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยโรงงานมีกำลังการผลิตโพลีออล 1.3 แสนตันต่อปี และ PU Systems กำลังการผลิต2หมื่นตันต่อปี คาดว่าจะผลิตเชิงพาณิชย์ได้ประมาณปี 2563

นอกจากนี้บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ยังมีโครงการพลังงานสะอาด(CleanFuel Project:CFP)มูลค่าประมาณ 3-4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจะเป็นการปรับโรงกลั่นนํ้ามันให้ทันสมัย เนื่องจากในอนาคตสเปกนํ้ามันเตาจะเปลี่ยนไป จากปัจจุบันซัลเฟอร์อยู่ที่ 3% จะลดลงเหลือ 0.5% รวมทั้งทำให้ไทยออยล์มีกำลังการกลั่นเพิ่มขึ้น จาก 2.75 แสนบาร์เรลต่อวัน เป็น 4 แสนบาร์เรลต่อวัน โดยจะเน้นผลิตนํ้ามันดีเซล และนํ้ามันอากาศยาน

“ภาครัฐมีนโยบายอีอีซี ทาง ปตท.จึงให้บริษัทในเครือกลับไปทบทวนแผนลงทุนระยะยาวรวมทั้งมองหาโอกาสลงทุนใน New S-Curve ซึ่งทิศทางการลงทุนของกลุ่มปตท.จะเกาะกับEECเป็นหลัก นอกจากนี้ยังอาศัยความเก่งและทรัพย์สินที่มีอยู่ขององค์กรเพื่อต่อยอดธุรกิจ ขณะที่ฐานะการเงินก็เข้มแข็ง มีเงินสดและเงินที่ได้จากการดำเนินงานมาก อัตราหนี้สินต่อทุนตํ่าเพียง 0.73 เท่า จึงสามารถกู้เงินเพื่อขยายธุรกิจได้อีก”

[caption id="attachment_167584" align="aligncenter" width="334"] นายสรัญ รังคสิริ นายสรัญ รังคสิริ[/caption]

นายสรัญ รังคสิริ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในการขับเคลื่อนอีอีซี ของกลุ่มปตท.มีหลายส่วน ได้แก่ การพัฒนาต่อยอดจากอุตสาหกรรมที่มีฐานการผลิตอยู่ในภาคตะวันออกอยู่แล้ว เช่น ปิโตรเคมี พลังงาน และนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มในผลิตภัณฑ์ รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมในกลุ่ม New S-Curve เช่น หุ่นยนต์และ ระบบอัตโนมัติ อิเล็กทรอนิกส์ ไบโอเคมีพลาสติกชีวภาพยา อาหารเพื่อสุขภาพ เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,299 วันที่ 24 - 27 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว