เอกซเรย์ยานยนต์-ชิ้นส่วน ทุนใหม่-เก่ายึดอีอีซีปักฐานรับแข่งขัน

23 ก.ย. 2560 | 11:01 น.
อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์เริ่มมองเห็นสัญญาณบวก ล่าสุดกลุ่มยานยนต์เพิ่งปรับเป้าเพิ่มสวนทางตลาดส่งออกปรับลดตัวเลขลงเล็กน้อยขณะที่กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีผู้ผลิตทั่วประเทศมากกว่า2,500รายพบกระแสตอบรับจากตลาดส่งออกเป็นชิ้นส่วนออกไปกลับดีเกินคาด!

นายองอาจ พงศ์กิจวรสิน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศดีขึ้นหากเทียบกับปี 2559 ที่มียอดขายในประเทศ 7.7แสนคัน ปีนี้จะเพิ่มเป็น 8 แสนคันตามเป้าเดิม เมื่อต้นปีที่ตั้งไว้ แต่ล่าสุดมาปรับเพิ่มเป็น 8.3 แสนคัน ซึ่งตลอดปีนี้จะทำได้ตามเป้าหมายใหม่นี้แน่นอน วัดจาก7เดือนแรกที่ผ่านมายอดขายในประเทศเติบโตขึ้นมาแล้วประมาณ 10% เริ่มเห็นตลาดในประเทศดีขึ้นนับตั้งแต่ที่มีนโยบายรถยนต์คันแรกออกมาหลังนํ้าท่วม ตลาดในประเทศโต 1.4-1.5 ล้านคันพอหลังรถยนต์คันแรกหมดไปตลาดในประเทศก็ลดลงฮวบและก็กลับมาไต่ขึ้นเป็น 8.3 แสนคันในปีนี้ และปีหน้าก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยยอดขายในประเทศมีโอกาสขยับไปที่ 8.5 แสนคัน

[caption id="attachment_210575" align="aligncenter" width="503"] องอาจ พงศ์กิจวรสิน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) องอาจ พงศ์กิจวรสิน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)[/caption]

++4เหตุผลส่งออกร่วง
สำหรับตลาดส่งออกเมื่อต้นปี 2560 ตั้งเป้าไว้ที่ 1.2 ล้านคัน(จากปี 2559 มียอดส่งออกรวม1.17ล้านคัน) ล่าสุดปรับลดเป้าส่งออกเหลือ 1.1 ล้านคันหรือลดลงไปประมาณ6%มีสาเหตุหลักมาจาก 4 เหตุผลที่ทำให้ส่งออกลดลงคือ1.สถานการณ์ตะวันออกกลางทำให้ยอดนำเข้ารถยนต์ลดลงไปเยอะ จากปกติไทยจะส่งออกไปตะวันออกกลางประมาณ10%เป็นตลาดใหญ่ตลาดหนึ่ง นอกจากนั้นจะส่งออกไปยังเอเชียแอฟริกายุโรป อเมริกาใต้ปีนี้มีการส่งออกไปอเมริกาและแคนาดามากขึ้น โดยเฉพาะตลาดอเมริกามีรถอีโคคาร์ส่งไปมากขึ้น2.ความผันผวนของราคานํ้ามันที่ตํ่าลง 3.ประเทศผู้นำเข้ามีความเข้มงวดเรื่อง CO2 4.เป็นช่วงที่นักลงทุนมองว่าจะใช้ฐานการผลิตรถยนต์ที่ไหนดี หลังจากที่เริ่มมีทางเลือกมากขึ้น เนื่องจากเวลานี้ฐานการผลิตหลายแห่งมีต้นทุนถูก และแต่ละประเทศก็เริ่มมีฐานการผลิตชิ้นส่วนเองในประเทศ

อย่างไรก็ตามกำลังผลิตเต็มของยานยนต์โดยรวมในประเทศทำได้สูงถึง 3 ล้านคันต่อปี แต่ปัจจุบันผลิตได้จริงรวมกันที่ 1.9-2ล้านคัน (รวมทั้งขายในประเทศและส่งออก) ยังมีกำลังผลิตเหลือ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำตลาดในประเทศให้เติบโตแบบในอดีต บางค่ายก็เริ่มเหนื่อย ส่วนการพึ่งพาตลาดส่งออกมากขึ้นก็ยังเป็นโจทย์หินอยู่ในขณะนี้

++ชิ้นส่วนยานยนต์แนวโน้มดี
ส่วนความเคลื่อนไหวของชิ้นส่วนยานยนต์ปี 2560 ถือเป็นปีที่มีการขยับตัวดีอย่างมีนัยสำคัญหลังพบว่าการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ก็เป็นบวก สวนทางกับการส่งออกรถยนต์ เฉพาะตลาดส่งออก ในช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์โดยตรงมีการเติบโตประมาณ 13-14% สวนทางกับการส่งออกรถยนต์ที่ชะลอตัวโดยมีปัจจัยสนับสนุนคือชิ้นส่วนที่ผลิตมีคุณภาพ,มีแรงงานฝีมือที่มีทักษะ ซึ่งชิ้นงานได้รับการยอมรับทั้งจากลูกค้าโออีเอ็มและอาร์อีเอ็ม และส่งออกไปยังอเมริกามากเป็นอันดับ1 นอกจากนั้นก็ส่งออกไปจีนญี่ปุ่นมาเลเซีย อินโดนีเซีย จากที่ปีที่ผ่านมามีมูลค่าส่งออกชิ้นส่วน 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี

สอดคล้องกับที่นายโกวิทย์ ว่องกลกิจศิลป์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ ส.อ.ท.กล่าวว่านับจากนี้ไปทั้งกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์จะออกมาขยายตัวในพื้นที่รอยต่อชลบุรี ฉะเชิงเทรามากขึ้นโดยทุนรายเก่าออกมาขยายตัวขณะที่ทุนรายใหม่โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)ด้านชิ้นส่วนรถยนต์จากจีนและญี่ปุ่นจ่อแถวเข้ามาปักฐานเพิ่มที่น่าสนใจคือประเทศไทยจะมีการส่งออกชิ้นส่วนประกอบ(ซีเคดี)มากขึ้น เนื่องจากลูกค้าปลายทางนำเข้าชิ้นส่วนออกไปประกอบในประเทศมากขึ้น

tp11-3298-1B “ปีนี้เริ่มเห็นภาพแล้วว่า การส่งออกชิ้นส่วนโดยตรงเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ หลายประเทศแห่นำเข้าเป็นชิ้นส่วนออกไปประกอบเองโดยเฉพาะอเมริกา ญี่ปุ่น อินโดนีเซียและมาเลเซีย”

อย่างไรก็ตามแวดงวงยานยนต์ มองว่าปริมาณผลิตรถยนต์รวมในโลกยังล้นตลาดอยู่ทุกฐานผลิตพยายามสร้างโรงงานและใช้กำลังผลิตไม่หมดในขณะที่การแข่งขันก็สูง เฉพาะจีนมียอดขายในประเทศปี 2560 มากถึง 30 ล้านคัน ขณะที่อินโดนีเซียผลิตขายในประเทศ 1ล้านคัน ส่งออกปี2559อยู่ที่1แสนคันปีนี้อินโดนีเซียตั้งเป้าว่าจะส่งออกเพิ่มเป็น 2 แสนคันจากข้อมูลเมื่อปี 2559 อินโดนีเซียผลิตได้เต็มที่ 2.4ล้านคันแต่มียอดขายจริงเพียง 1-1.1 ล้านคัน น่าจับตาการแข่งขันในอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบจะสูงขึ้นกว่าเดิมมีกำลังผลิตรถยนต์เพื่อขายในตลาดโลกรวมประมาณ 90 ล้านคันต่อปีส่วนใหญ่เป็นรถเก๋ง และในจำนวนนี้ เมื่อปี 2559 พบว่าไทยอยู่ในอันดับ 11ในแง่ยอดการผลิตปีนี้ถ้าดูเฉพาะเดือนมีนาคมไทยตกไปอยู่ที่อันดับ 12 โอกาสที่ขยับไปที่เลขหลักเดียวยากขึ้นไปทุกที!

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,298 วันที่ 21 - 23 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1