จีนกินรวบ! ค้าดิจิตอล “อาลีบาบา-JD.com" ยึดหัวหาด - แบงก์ผวาฮุบระบบชำระเงิน

24 ก.ย. 2560 | 04:57 น.
กูรูอี-คอมเมิร์ซ ชี้! ค้าออนไลน์ไทยถูกจีนยึดเบ็ดเสร็จ หลัง JD.com บุกร่วมทุน “เซ็นทรัล” ตามรอย “อาลีบาบา” ซื้อ “ลาซาด้า” หวั่นค้าปลีก-แบงก์ไทยอ่วม ... “ไทยพาณิชย์” ระบุ เสี่ยงสูงยุคดิจิตอล ด้าน “ทีเอ็มบี” ผวาถูกกินรวบตลาดชำระเงินระหว่างประเทศ

การบุกเข้ามายึดธุรกิจอี-คอมเมิร์ซเป็นที่เรียบร้อยโรงเรียนจีนของ “อาลีบาบา” และ “จีดีดอทคอม” เป็นเพียงการสยายปีกธุรกิจเข้ามาในไทยก้าวแรกในยุคดิจิตอลไล่ล่าเท่านั้น ด้วยรูปแบบธุรกิจ, บริการ, เทคโนโลยี, เงินทุน และประสบการณ์ระดับโลก จะค่อย ๆ รุกคืบเข้าไปยึดธุรกิจอื่น ๆ ทั้งค้าปลีกและธนาคาร หากผู้ประกอบการไทยไม่ปรับตัว จะแข่งขันไม่ได้

[caption id="attachment_210016" align="aligncenter" width="503"] ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย[/caption]

“อี-คอมเมิร์ซไทย” ถูกยึดแล้ว!
นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซของไทยถูกยักษ์ใหญ่อี-คอมเมิร์ซจากจีน ยึดหัวหาดไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ก่อนหน้านี้ เบอร์ 1 ในตลาดอี-คอมเมิร์ซไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ “ลาซาด้า” ถูกกลุ่ม “อาลีบาบา” ซื้อกิจการไป 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 17,000 ล้านบาท และเพิ่มทุนเพื่อขยายธุรกิจอีก 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 17,000 ล้านบาท

ล่าสุด กลุ่ม “เจดีดอทคอม (JD.com)" ผู้ให้บริการอี-คอมเมิร์ซอันดับ 2 ของจีน ร่วมเป็นพันธมิตรกับกลุ่ม “เซ็นทรัล” ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกของไทย โดยร่วมลงทุน 50:50 มูลค่ารวม 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 17,000 ล้านบาท

“การเข้ามาของยักษ์ใหญ่ทั้ง 2 ราย ระยะสั้นส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซไทยโดยตรง เนื่องจากทั้ง 2 ราย มาทั้งระบบอีโค ซิสเต็มส์ ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ไม่ว่าจะเป็น แพลตฟอร์มทางด้านอี-คอมเมิร์ซ, บริการด้านการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-เพย์เมนต์, บริการหีบห่อเพื่อจัดส่งสินค้าอี-คอมเมิร์ซ และระบบบริหารจัดการคลังสินค้าแบบครบวงจร พร้อมกับเงินทุนมหาศาลสายป่านยาว มีงบอุดหนุนราคาสินค้าและจัดโปรโมชัน ดึงลูกค้าเข้ามาซื้อสินค้า จะมีความได้เปรียบคู่แข่ง”

จ่อเขมือบ! ค้าปลีก-ธนาคาร
ส่วนในระยะกลาง เห็นว่า ด้วยการเติบโตของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ การซื้อขายออนไลน์จะส่งผลกระทบกับธุรกิจค้าปลีกของไทยแน่ และในระยะยาวจะส่งผลกระทบกับธุรกิจทางด้านการเงินการธนาคารของไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากยักษ์ใหญ่ทั้ง 2 ราย มีบริษัทลูกที่ทำธุรกิจชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดย “อาลีบาบา” มี “แอ๊นท์ ไฟแนนเชียล เซอร์วิส” ให้บริการ “อี-เพย์เมนต์” ภายใตชื่อ “อาลีเพย์” ส่วน “เจดีดอทคอม” มี “เจดี ไฟแนนซ์” ที่ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ และมีระบบ “บิ๊ก ดาต้า” ในการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า


Apporapong
แบงก์ผวา! “อาลีบาบา”
ด้าน นายอรพงศ์ เทียนเงิน ประธานกรรมการบริหารของ บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด ผู้พัฒนาฟินเทคในเครือข่ายธนาคารไทยพาณิชย์ ให้ความเห็นว่า ธุรกิจธนาคารเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิตอล (Digital Disruption) โดยในช่วงเวลา 3 ปี หากไม่มีการปรับตัว โอกาสอยู่รอดได้ลำบาก

“คู่แข่งที่น่ากลัวของธนาคาร ไม่ใช่ผู้ให้บริการอี-เพย์เมนต์ แต่เป็น บริษัท แอนท์ ไฟแนนเชียล เซอร์วิสเซส กรุ๊ป ผู้ให้บริการการเงินดิจิตอลในเครือบริษัท อาลีบาบา กรุ๊ปฯ ที่เข้ามาปักหมุดในไทยแล้ว โดยมีการจัดตั้งสำนักงานสาขาในไทย มีการจับมือเป็นพันธมิตรกับผู้ให้บริการเพย์เมนต์เกตเวย์ และเข้ามาลงทุนใน บริษัท แอคเซนต์ มันนี่ จำกัด ผู้ให้บริการอี-เพย์เมนต์ เครือซีพี”

ขณะนี้ อยู่ระหว่างการรอใบอนุญาตให้บริการจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เชื่อว่า หลัง ธปท. เปิดให้ใบอนุญาต “อาลีบาบา กรุ๊ป” พร้อมเข้ามาลงทุนให้บริการการเงินดิจิตอลในไทยโดยทันที ซึ่งจะส่งผลกระทบกับธนาคารโดยตรง เนื่องจากเขาพร้อมทั้งเงินทุน ฐานลูกค้า ประสบการณ์ องค์ความรู้ และเทคโนโลยี ขณะที่ ธนาคารไม่มีทั้งสเกล เทคโนโลยี และช่องทางเข้าถึงลูกค้า

“เอสซีบี” เร่งปรับสู่ดิจิตอล
นายอรพงศ์ กล่าวต่อไปว่า “ดิจิทัล เวนเจอร์ส” ในกลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ ตั้งขึ้นมาด้วยเงินทุนเบื้องต้น 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1,700 ล้านบาท เพื่อลงทุนศึกษาหาความรู้ที่อยู่ในกลุ่มสตาร์ตอัพ รวมถึงการพัฒนาบริการของธนาคารไปสู่ดิจิตอล โดยโพสิชันของ “เอสซีบี” ในอนาคต ไม่ใช่ตัวกลางที่มีความน่าเชื่อถือทางการเงินอีกต่อไป แต่ต้องเชื่อมต่อธุรกิจดั้งเดิมของลูกค้าเข้ากับโลกดิจิตอล โดยจะสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาสำหรับลูกค้าในแต่ละกลุ่มธุรกิจ

[caption id="attachment_131241" align="aligncenter" width="503"] นริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) หรือ ทีเอ็มบี นริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) หรือ ทีเอ็มบี[/caption]

รับกระทบธุรกรรมชำระเงิน
ด้าน นายนริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบี กล่าวว่า กรณีการร่วมมือของบริษัทฟินเทคของประเทศจีน กับวงการค้าปลีกของไทยนั้น มองว่า มีผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะพื้นที่ในส่วนของธุรกรรมการชำระเงิน (Payment) และบริการโอนเงินระหว่างประเทศ (Remittance) จะเห็นว่า ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ในประเทศจีน โดนกินตลาดการชำระเงินไปค่อนข้างมากให้กับกลุ่มอาลีบาบาภายใต้ “อาลีเพย์”

ส่วนกลุ่ม JD.com แม้จะไม่ค่อยใหญ่เมื่อเทียบกับ “อาลีบาบา” แต่จะมีแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ ที่ไม่ต้องผ่านธนาคารพาณิชย์ แต่ทำธุรกรรมผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Wallet) ซึ่งจะดึงกระแสเงินสด (Flows) ออกจากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นโมเดลที่บริษัทเหล่านี้ใช้ในจีน จนทำให้ธนาคารพาณิชย์ในจีนต้องแพ้และเสียส่วนแบ่งตลาด ด้านการชำระเงินให้กับบริษัทเหล่านี้ไป

จี้! ธุรกิจไทยปรับตัว
นายภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ในมุมมองธนาคาร เชื่อว่า การเข้ามาของกลุ่มทุนจีน หรือ บริษัทยักษ์ใหญ่ด้าน อี-คอมเมิร์ซ จะมาช่วยส่งเสริมให้เกิด Economy System และมาเป็นแรงกดดันให้ไทยต้องปรับตัวตาม เพื่อให้สามารถแข่งขันได้บนเศรษฐกิจใหม่ในยุคดิจิตอล

ธนาคารพาณิชย์ไทยปรับตัวค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา มีความพร้อมรับมือทั้งในด้านกลยุทธ์และทรัพยากรทางด้านไอที เชื่อว่า ไม่มีใครที่จะเป็นเจ้าของตลาดหรือผูกขาดตลาดได้ แต่จะเป็นพันธมิตรผ่านความร่วมมือกันมากกว่า

“เซ็นทรัล-เจดี” จ่อตั้งบริษัท
แหล่งข่าววงการค้าปลีก กล่าวว่า ภายในเดือน พ.ย. นี้ กลุ่มเซ็นทรัลกรุ๊ป, เจดีดอทคอม และเจดีไฟแนนซ์ เตรียมยื่นทะเบียนจัดตั้งบริษัท เพื่อให้บริการค้าปลีกออนไลน์ รวมถึงยื่นขอใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อทำธุรกรรมด้านการเงิน

ก่อนหน้านี้ นายเฉิน จาง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี เจดีดอทคอม (JD.com) ระบุว่า อัตราการเติบโตของ อี-คอมเมิร์ซไทย มีสัดส่วนเพียง 2% ขณะที่ สาธารณรัฐประชาชนจีนอยู่ที่ 15% และสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 10% สำหรับ JD.com เป็นผู้ค้าปลีกใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ และมีรายได้เป็นอันดับ 3 ของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทั่วโลก

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,298 วันที่ 21-23 ก.ย. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว