Exit?

21 ก.ย. 2560 | 23:05 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

TP09-3297-1c ช่วงเดือนที่ผ่านมามีหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในอเมริกาเหนือและเอเชียที่น่าสนใจและอาจจะกระทบกับไทยทั้งในระยะสั้นและยาว เหตุการณ์แรกคือพายุเฮอริเคนถล่มรัฐเท็กซัสและหมู่เกาะแคริบเบียนซึ่งรวมถึงรัฐฟลอริดาของสหรัฐฯ นอกจากความเสียหายในชีวิตจำนวนมากแล้วยังจะต้องฟื้นฟูทั้ง 2 รัฐซึ่งยังประเมินจำนวนแน่นอนไม่ได้ (นอกจากรัฐเท็กซัสที่จะต้องใช้เงินประมาณ 1.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ทั้งนี้ยังไม่รวมค่าเสียโอกาสอีกจำนวนหนึ่ง

แม้ว่าการเกิดเฮอริเคนจะเป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเป็นประจำแต่นักวิทยาศาสตร์ได้วิเคราะห์แล้วว่าความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นและจำนวนครั้งจะถี่ขึ้นเนื่องจากอุณหภูมิของนํ้าทะเลที่เพิ่มสูงซึ่งเป็นประเด็นสำคัญและเป็นที่มาของประเทศต่างๆ ในการทำข้อตกลงลดก๊าซเรือนกระจกที่ปารีส แต่ประธานาธิบดีทรัมป์ไม่เชื่อเรื่องนี้และได้ถอนตัวออกจากข้อตกลงทันทีหลังเข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ภัยพิบัติครั้งนี้อาจจะเป็นเหตุให้ทรัมป์เปลี่ยนใจ แต่ผมเห็นว่าการทำความเข้าใจและออกกฎหมายนั้นไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญแต่ที่สำคัญกว่านั้นคือพลังของตลาดซึ่งได้เปลี่ยนไปอย่างมากในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคเรียกร้องสินค้า “เขียว” มากขึ้น การแข่งขันจึงไม่เพียงแค่ราคาขายต่อหน่วยแต่ผู้ขายยังจะต้องนำเสนอกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์ว่าไม่มีข้อต่อใดทำลายสิ่งแวดล้อม
ดังนั้นทรัมป์ (ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และโรงแรม) จะเข้าใจได้ทันทีหากผู้ซื้อหรือลูกค้าขอให้พิสูจน์ความ “เขียว” ของตึกเหล่านั้นในอนาคตอันใกล้นี้

เหตุการณ์ที่ 2 คือเรื่องการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีนาฟต้าของ 3 ประเทศ คือสหรัฐฯ แคนาดาและเม็กซิโก การปรับปรุงแก้ไขข้อตกลงฯเป็นเรื่องปกติหลังจากการใช้งานไปได้ระยะหนึ่งเพราะสภาพและเงื่อนไขการค้า การลงทุน การเคลื่อนย้ายคน ฯลฯได้เปลี่ยนแปลงไปเช่นในปีที่ข้อตกลงนี้ลงนามข้อตกลงนั้นโลกยังไม่พัฒนาระบบสื่อสาร หุ่นยนต์ รถไฟฟ้า แต่ผมก็ยังเห็นว่าพื้นฐานของความเข้าใจในปรัชญาของการมีข้อตกลงเป็นเรื่องสำคัญกว่าเพราะแม้ทั้ง 3 ประเทศจะสามารถแก้ไขให้มีข้อตกลงใหม่ที่ยังเน้นให้เปิดตลาดสินค้า การบริการและการลงทุนโดยการลดภาษีนำเข้าหรือลดมาตรการกีดกันการนำเข้าเท่านั้นแล้วปัญหาในเรื่องขาดดุลการค้าของบางประเทศและความต้องการให้มีการเจรจาใหม่ก็จะยังมีต่อไปอีกในอนาคต ประเด็นนาฟต้า Brexit (สหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป) ข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียนและข้อตกลงที่ปารีสเรื่องการลดอุณหภูมิโลก (Paris Agreement: หมายเหตุ: ขณะนี้มีผู้ผลิตรถยนต์รายหนึ่งสงสัยว่าการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่านั้นการผลิตแบตเตอรี่เพื่อเป็นพลังงานแทนนํ้ามันนั้นจะทำลายสิ่งแวดล้อมมากกว่าหรือไม่?) นั้นตั้งอยู่บนปรัชญาเดียวกัน ดังนั้นหากผู้นำประเทศไม่เข้าใจในปรัชญาของข้อตกลงและไม่กำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันใน 3 มิติคือ ต้นทุนการผลิตสินค้าต่อหน่วย กระบวนการผลิตสินค้าที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าใช้ทรัพยากรธรรมชาติน้อยกว่าคู่แข่ง การใช้แรงงานที่เป็นไปตามมาตรฐาน

ผมจึงไม่แน่ใจว่าจะมีประเทศใดถอนตัวออกจากข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียนหรือไม่? แต่หากเกิดมีขึ้นจริงผมก็คงสรุปได้เพียงว่าโลกขาดผู้นำที่สามารถ “รับมือ” กับเรื่องเหล่านี้หรือเรากำลังอยู่ในสภาพ “ผู้นำวิกฤติ”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,297 วันที่ 17 - 20 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1