ยาแรง! ‘พ.ร.บ.จัดซื้อฯใหม่’ ‘ท้องถิ่น’ ผวาคุก ขอย้ายแผนก

13 ก.ย. 2560 | 12:25 น.
สคร.ห่วงงบลงทุนรัฐวิสาหกิจชะงัก ฉุดเศรษฐกิจชะลอ หลัง พ.ร.บ. จัดซื้อฯมีผล บัญชีกลางยอมรับต้อง ใช้เวลาปรับตัว แต่จะเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนให้ได้ 81% ท้องถิ่นผวา พัสดุขอย้ายแผนก หวั่นติดคุก

ภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ที่มีผลบังคับใช้ไปตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2560 แม้จะมีข้อยกเว้น สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรง ตามมาตรา 7(1) ทำให้มีรัฐวิสาหกิจ 33 แห่งขอออกจากระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างภายใต้ พ.ร.บ.ใหม่ เพราะเกรงว่าจะกระทบต่อแผนการดำเนินงานหากต้องประกาศแผนการจัดซื้อจัดจ้างประจำปี เช่น ปตท. การบินไทย ทอท. การไฟฟ้าฝ่ายผลิต

thaipublica2-เอกนิติ

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า แม้รัฐวิสาหกิจ 33 แห่ง ขอไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ และใช้ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของแต่ละหน่วยงานเอง แต่กรมบัญชีกลางเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุว่า แม้จะมีระเบียบใช้เองแต่จะต้องเป็นไปตามหลักการของพ.ร.บ.ใหม่ด้วย ซึ่งกรมบัญชีกลางเองอยู่ระหว่างการพิจารณาระเบียบจัดซื้อจัดจ้างของแต่ละแห่งที่ยื่นเสนอมา ก่อนนำเข้าพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการนโยบายครั้งต่อไป

สิ่งที่สคร.เป็นห่วงคือ การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจจะชะงักเพราะจะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยปี 2559 ที่ขยายตัวได้ 3.2% นั้น งบลงทุนรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น 10% ขณะที่ไตรมาส 1 ปี 2560 เศรษฐกิจขยายตัว 3.3% งบลงทุนรัฐวิสาหกิจขยายตัว 17% และไตรมาส 2 เศรษฐกิจขยายตัวได้ 3.7% งบลงทุนขยายตัว 20%

“ไตรมาส 3 เราตั้งเป้าการเบิกจ่ายงบรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้นเป็น 30% เพื่อเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปแต่ขณะนี้ ยังไม่เห็นว่า ผลกระทบจากพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯฉบับใหม่ จะทำให้งบลงทุนชะลอมากน้อยแค่ไหน เพราะอยู่ระหว่างการทำงานร่วมกันระหว่างกรมบัญชีกลางกับรัฐวิสาหกิจทั้ง 33 แห่ง”

ขณะที่นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลางกล่าวยืนยันว่า จะดูแลการเบิกจ่ายงบประมาณรวมให้ได้ 95% จากเป้าหมายที่ 96% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และเบิกจ่ายงบลงทุนให้ได้ 81% จากเป้าหมาย 87% และเชื่อว่าอยู่ในวิสัยทำได้ เพราะก่อนหน้าที่ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯจะมีผลบังคับใช้ ได้ประกาศให้ส่วนราชการเร่งรัดการเบิกจ่าย เพื่อให้มีการลงนามจัดซื้อจัดจ้างก่อน ซึ่งปรากฏว่ามีถึง 23 หน่วยงานที่ลงนามได้ก่อน ขณะเดียวกันกฎหมายมีผลบังคับใช้ 28 สิงหาคมถือว่า เป็นช่วงท้ายๆของปีงบประมาณ 2560

“ยอมรับว่าการมีกฎหมายใหม่ออกมาบังคับใช้ ต้องใช้เวลาในการปรับจูนกันบ้าง แต่เราก็ได้เตรียมการมาพอสมควรมีการทำ ความเข้าใจกับส่วนราชการ ขณะที่คลังจังหวัดที่ดูแลการเบิกจ่ายงบประมาณระดับท้องถิ่นเองก็มีการชี้แจงกับส่วนงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ภายใต้พ.ร.บ.ใหม่ก็เป็นกฎกติกาที่ อปท.คุ้นเคยอยู่แล้ว มีเวลาเดือนกว่าๆ ที่จะดำเนินการต่างๆให้เรียบร้อยก่อนเริ่มปีงบประมาณใหม่”

ผลการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจสะสมในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2560 ขยายตัวสูงถึง 30% ซึ่งเป็นผลมาจากการเร่งลงทุนของโครงการต่อเนื่องและโครงการใหม่ของรัฐวิสาหกิจ ส่วนผลการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจสะสม 9 เดือนของปีงบประมาณ 2560 (ตุลาคม 2559 - กรกฎาคม 2560) เท่ากับ 170,839 ล้านบาท หรือคิดเป็น 81% ของแผนการเบิกจ่ายลงทุนสะสม โดยรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการตามปีงบประมาณเบิกจ่ายได้ 73,944 ล้านบาท หรือคิดเป็น 72% ของแผนการเบิกจ่ายลงทุนสะสม และที่ดำเนินการตามปีปฏิทินเบิกจ่ายได้ 96,895 ล้านบาทหรือคิดเป็น 90% ของแผนการเบิกจ่ายลงทุนสะสม

จนท.ย้ายแผนกหนีคุก

แหล่งข่าวจากหนึ่งในตัวแทนภาคเอกชนที่ถูกเสนอชื่อเข้าร่วมเป็นกรรมการใน 5 ชุด เปิดเผยว่า สถานการณ์จะอึมครึมไปสักพักหนึ่ง ขณะนี้ยังไม่มีระเบียบปฏิบัติจนกว่าจะแต่งตั้งคณะกรรม การแล้วเสร็จ และมีการประชุมวางแนวทางในเรื่องนี้ต่อไปคาดว่าหน่วยงานที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบจ. อบต. เนื่องจากบุคลากรไม่พร้อม ไม่เคยมีใครทำงานก่อน ไม่มีกติกาที่ชัดเจน ไม่มีคำวินิจฉัยที่จะใช้อ้างอิงใด กรมบัญชีกลางก็ไม่พร้อมการจัดซื้อจัดจ้างจะชะงักสักพักหนึ่งอาจจะราว 4 เดือน

“เมื่อยังไม่มีความชัดเจนการจัดซื้อจะชะลอไปก่อนและจะไปอัดกันอีกครั้งในอีก 7 เดือนข้างหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัสดุมีการขอย้ายงานจากแผนกจัดซื้อไปอยู่แผนกอื่นกันเป็นจำนวนมากหรือไม่ก็ลาออกเพราะกลัวความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นโดยสุจริต แต่กฎหมายใหม่ถ้าตรวจสอบพบบทลงโทษหนักถึงขั้นติดคุก”