ประยุทธ์ชี้แข่งขันบนโลกดิจิทัลเปลี่ยนผ่านสู่ไทยแลนด์ 4.0ต้องยกระดับทั้งระบบ

09 ก.ย. 2560 | 07:09 น.
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อคืนวันศุกร์ที่ 8 กันยายน 2560 โดยมีบางช่วงกล่าวว่า

ช่วงของการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” ในยุคดิจิทัลนี้ หากเปรียบประเทศไทยเป็นคอมพิวเตอร์แล้วตนเองเห็นว่า ส่วนประกอบต่าง ๆ ของประเทศ จำเป็นต้องได้รับการอัพเกรด ยกระดับทั้งระบบ เพื่อจะให้ประเทศของเรา ได้มีศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน บนโลกดิจิทัลได้ ส่วนประกอบเหล่านั้น ได้แก่ 1. ฮาร์ดแวร์ (Hardware) เช่น โครง สร้างพื้นฐานทั้งปวง ต้องลงทุนขนาดใหญ่ เพื่ออนาคต อาทิ ด้านการคมนาคมขนส่ง และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

2. ซอฟท์แวร์ (Software) คือ กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ ซึ่งเราจะต้องปรับปรุงให้ทันสมัย เพื่อจะอำนวยความสะดวกต่อการให้บริการประชาชน ไม่เป็นอุปสรรคต่อภาคการค้า การลงทุน และป้องกันไวรัส คือการทุจริต
3. ทรัพยากรมนุษย์ (People ware) คือ การยกระดับคุณภาพชีวิต และการพัฒนาศักยภาพให้เป็น “คนไทย 4.0” ด้วยการศึกษา สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาและตลาดแรงงานของประเทศ

primet

4. ระบบปฏิบัติการ OS คือ โครงสร้างระบบราชการ ที่ต้องอัพเดทให้ทันสมัย ทันโลก ทันเทคโนโลยี อยู่เสมอ เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงการทำงาน ระหว่าง People ware – Software – Hardware ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งรัฐบาลนี้ยกเครื่องระบบปฏิบัติการใหม่ ให้เป็นการขับเคลื่อนประเทศด้วยกลไกประชารัฐ ซึ่งข้าราชการจะเป็นผู้ประสานงาน ผู้อำนวยความสะดวก ไม่ใช่เพียงผู้คุมกฎ เหมือนในอดีตที่ผ่านมา ทั้งนี้ กลไกประชารัฐ ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน เป็นสำคัญ วันนี้ตนเองอยากจะเพิ่มเรื่องสื่อมวลชนด้วย ทั้งสื่อกระแสหลักที่มีสังกัด และสื่อออนไลน์ที่ไร้สังกัด รวมทั้งภาควิชาการ เข้าไปอยู่ในกลไกประชารัฐของเราอีกด้วย

โดยเฉพาะภาควิชาการ นั้น ในหลวงรัชกาลที่ 10 เคยมีรับสั่งให้ส่งเสริมสนับสนุนมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) อย่างเต็มที่ ใน 2 เรื่องหลัก ๆ คือ
(1) การผลิตและพัฒนาครู จะต้องวางระบบที่ดี
(2) ให้มหาวิทยาลัยราชภัฏ ทำหน้าที่พัฒนาท้องถิ่น แต่ละแห่งของตน ซึ่งต้องวิเคราะห์สภาพ ปัญหาและความต้องการของท้องถิ่นนั้น ๆ ด้วย

ในการนี้ รัฐบาลนี้ ได้น้อมนำพระราชดำรัสดังกล่าว นับเป็นอีก “ศาสตร์พระราชา” เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ โดยมีแนวทางให้ทั้งมหาวิทยาลัยต่างๆ มหาวิทยาลัยราชภัฏ สถาบันอุดมศึกษา และอาชีวศึกษาต่างๆ ต้องมีบทบาท ในเชิงวิชาการ คงไม่เพียงแต่ผลิตบัณฑิต นักศึกษา สู่ตลาดแรงงานของท้องถิ่นของตน และประเทศเท่านั้น แต่ยังคงต้องมีส่วนร่วมในการวิจัย พัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ที่สอดคล้องกับศักยภาพของตนเองท้องถิ่นด้วยคลัสเตอร์ภาคการผลิต ทั้งเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ รวมทั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ทั้ง 10 แห่ง ซึ่งมีเป้าหมายให้เป็นฐานการผลิต ที่แตกต่างกันออกไปตามศักยภาพของแต่ละภูมิภาค ซึ่งมีเป้าหมายที่ปลายทาง คือ การกระจายความเจริญไปสู่ทุกภูมิภาคของประเทศ ไม่มากระจุกตัวอยู่เฉพาะกรุงเทพฯ หรือจังหวัดใหญ่ ๆ ที่เป็นหัวเมืองของภูมิภาคเท่านั้น พี่น้องประชาชน แรงงาน นักเรียน นักศึกษา จะได้กลับไปใช้ชีวิต ประกอบอาชีพ ณ ถิ่นฐานของตน อยู่กับครอบครัวของตน ไม่ต้องเสี่ยงภัย แสวงโชคในเมืองใหญ่ อีกต่อไป ครอบครัวจะได้อยู่พร้อมหน้า สังคมก็จะเข้มแข็ง

สำหรับคำว่า “ราชภัฏ” ซึ่งหมายถึง “คนของพระราชา ข้าของแผ่นดิน” นั้น ย่อมมีนัยสำคัญ ที่ลึกซึ้งเปรียบเสมือนว่า “สถาบันราชภัฏ มหาวิทยาลัยราชภัฏ” หรือ “วิทยาลัยครู” ในอดีต จะเป็นผู้ทำงานถวาย และสนองพระราชกรณียกิจ ในเรื่องที่สำคัญ ๆ เพื่อพัฒนาประชาชนทุกหมู่เหล่า ให้ได้มีโอกาสทางการศึกษาและพัฒนาตนเองในทุก ๆ ด้าน ช่วยให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุกสถานที่รวมถึงชุมชนสังคมที่ส่วนราชการ หรือหน่วยงานอื่น ๆ ยังเข้าไม่ถึง หรือละเลยในการเข้าไปพัฒนาอย่าต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน “ตราประจำพระองค์” หรือ “พระราชลัญจกร” เพื่อให้เป็น “ตราประจำสถาบัน” ของทุกมหาวิทยาลัยราชภัฏได้ใช้มาจนตราบทุกวันนี้

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว

ดังนั้น จึงอยากให้มหาวิทยาลัยราชภัฏได้ภาคภูมิใจ และทุ่มเทพลังกาย พลังใจ พลังสมอง ในการสนองพระราชปณิธานของ “ในหลวง” รัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ของปวงชนชาวไทย รวมทั้งทุกสถาบันการศึกษา ได้ดำเนินการในบทบาทเพิ่มเติมของตน ที่เป็นส่วนหนึ่งของกลไกประชารัฐ เพื่อการพัฒนาประเทศของเราในอนาคตด้วย ฝากช่วยริเริ่ม ช่วยดำเนินการด้วย ให้ทุกคนรักที่อยู่ ที่อาศัย ภูมิลำเนาของตนเอง แล้วคาดหวังว่าจะพัฒนาได้อย่างไร ก็จะไปสู่การเรียนรู้ และการศึกษาที่สอดคล้องต้องกันกับสิ่งที่พูดไปแล้ว

การวางรากฐานด้านโครงสร้างสู่ “เศรษฐกิจ 4.0” เรื่องหนึ่งที่สำคัญ คือการวางโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงทั่วประเทศ หรือ “โครงการเน็ตประชารัฐ” ทั้งนี้ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้เข้าถึงบริการต่าง ๆ ของภาครัฐได้ดีขึ้น สร้างโอกาส สร้างอาชีพ เช่น ในเรื่องของการขายสินค้าและให้บริการต่าง ๆ เปิดช่อง ทางการเข้าสู่ถึงข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพของพี่น้องประชาชน รวมถึงการศึกษาค้นคว้าของภาคเอกชนและภาควิชาการ เป็นต้น ทั้งนี้ กว่า 70,000 หมู่บ้านทั่วประเทศพบว่า เกินกว่า 50% หรือ 40,000 กว่าหมู่บ้าน ที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์และยังไม่มีบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ในจำนวนนี้มี 3,920 หมู่บ้าน ไม่มีบริการอินเตอร์เน็ตและยากต่อการเข้าถึง

ดังนั้น รัฐบาลจึงได้วางแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศนี้ มาตั้งแต่ห้วงปลายปีที่แล้ว โดยมุ่งเน้นยกระดับการให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงแก่หมู่บ้านเหล่านี้เป็นความเร่งด่วนลำดับแรก และก็เป็นที่น่ายินดี วันนี้ได้รับรายงานว่าในเบื้องต้น บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้ส่งมอบการติดตั้งอินเตอร์ เน็ตในหมู่บ้านแล้วกว่า 11,250 หมู่บ้าน โดยส่วนที่เหลือจะได้ทยอยดำเนินการต่อไป

digital

นอกจากนี้ อีกโครงการหนึ่งที่รัฐบาลทำคู่ขนานกันไปคือ โครงการดิจิทัลชุมชนด้าน e-Commerce โดยบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้ร่วมกันดำเนินการ เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนขายสินค้าและบริการของท้องถิ่นในรูปแบบออนไลน์ได้ ในอนาคตอีกไม่นานต่อจากนี้ สำหรับความคืบหน้าโครงการนี้ ได้มีการสำรวจร้านค้าในชุมชน รวมทั้งประเมินความพร้อมของจุดรับลงทะเบียนสินค้า และคำสั่งซื้อสินค้า ครอบคลุม ทุกจังหวัด ทั่วประเทศแล้ว ให้ติดตามกัน โดยในขั้นตอนต่อไป จะเป็นการพัฒนา “ระบบe-Market Place กลาง” ที่จะเป็นฐานข้อมูลสินค้าชุมชน ซึ่งต่อไปภาคเอกชน ร้านค้ารายน้อยใหญ่ ก็จะสามารถเลือกเชื่อมโยงข้อมูลสินค้าดังกล่าว ไปวางขายในพื้นที่ e-Market Place ของตัวเองได้

อีกทั้งจะมีการพัฒนาระบบบริหารจัดการร้านค้า (Point of Sale), ระบบ e-Logistics ซึ่งเชื่อมโยงกับระบบ Prompt Pay ที่คนไทยเริ่มคุ้นเคยกันมากขึ้นแล้วในปัจจุบัน และระบบ e-Payment ในทำนองเดียวกับที่ไปรษณีย์ไทยดำเนินการอยู่ในเว็บไซต์ “ไทยแลนด์-โพส-มาร์ท” (www.thailandpostmart.com) ซึ่งได้เร่งรัดให้โครงการนี้ ดำเนินการให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ก็จะได้ช่วยให้พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ได้ขายสินค้าของตนได้ “โดยตรง” สู่ผู้บริโภคและร้านค้าขนาดใหญ่ ทั้งผลิตผลทางการเกษตร หรือสินค้า OTOP สินค้าพื้นบ้าน สินค้าประจำท้องถิ่น

otop

ซึ่งเป็นศิลปหัตถกรรม ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น สินค้า GI เป็นต้น ก็เพื่อเป็นอีกช่องทางในการจำหน่ายสินค้า เพื่อจะสร้างรายได้ให้แก่พี่น้องประชาชน ไม่ว่าอยู่มุมใดของประเทศ ก็จะได้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว ไม่มีใครช่วย ว้าเหว่ ไม่มีกำลังใจ เพราะรัฐบาลนี้ มีนโยบายว่า เราต้องทำทุกอย่างโดยคำนึงถึงคนทั้งประเทศ เราไม่เคยทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทุกคน ทุกชุมชน จะได้มีส่วนช่วยกัน ในการจะสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจ ตั้งแต่ในระดับของตน ไปจนถึงระดับชาติ เป็น “ห่วงโซ่คุณค่า”เดียวกัน เกิดความยั่งยืนต่อไปนะครับ ตามแนวทาง “เศรษฐกิจ 4.0” ที่รัฐบาลได้ตั้งใจไว้ เราต้องสร้างความเชื่อมโยงกันให้ได้ วันนี้หลายเวทีในต่างประเทศก็พูดถึงเรื่องนี้ การสร้างความเชื่อมโยง

สำหรับระยะยาว รัฐบาลนี้ ได้ยกร่างแผนปฏิบัติการดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระยะ 5 ปี พ.ศ. 2560 ถึง 2564 และร่างแผนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ ระยะ 5 ปี พ.ศ. 2560 ถึง 2564 ซึ่งก็เป็นเรื่องใหญ่ แต่คงไม่ใช่เรื่องที่ยาก หากทุกฝ่ายร่วมมือกัน หาหนทางปฏิบัติให้ได้ และถ้ามีอะไรเกิดขึ้น ก็สามารถปรับปรุง เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ตามสถานการณ์โลก สถานการณ์ภายใน ภายนอก ทั้งนี้ได้สั่งการให้ทุกกระทรวงทีเกี่ยวข้อง ได้เตรียมแผนงาน การใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม ที่คู่ขนานกันไปด้วย เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ทันที ไม่อย่างนั้นก็พอสร้างเสร็จแล้ว ก็ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเพื่อจะดำเนินการต่อ ให้คิดไปพร้อมกันเลย เมื่อติดได้ครบแล้ว ก็ไปใช้ประโยชน์อย่างที่ต้องการได้ ประชาชนก็ต้องเรียนรู้ตั้งแต่วันนี้ ไม่อย่างนั้นจะเสียเวลาอีก