ญี่ปุ่นเตรียมแบนรถที่ยังใช้ถุงลมนิรภัยทาคาตะ

06 ก.ย. 2560 | 09:40 น.
คมนาคมญี่ปุ่นเตรียมออกคำสั่งห้ามรถที่ยังติดตั้งถุงลมนิรภัยยี่ห้อทาคาตะ (Takata) วิ่งบนถนนสาธารณะ โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป หลังพบปัญหาถุงลมทำงานผิดปกติทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ขับขี่ถึงเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 18 รายทั่วโลก

สำนักข่าวเอ็นเอชเคของญี่ปุ่นรายงานว่า กระทรวงคมนาคมได้มีมติ ห้ามรถทุกคันที่ยังติดตั้งถุงลมนิรภัย “ทาคาตะ” (Takata) วิ่งบนถนนสาธารณะ ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2547 มีรายงานเกี่ยวกับข้อบกพร่องของถุงลมนิรภัยยี่ห้อดังกล่าวซึ่งมีการฉีกแตกอย่างผิดปรกติประมาณ 200 เหตุการณ์จากทั่วโลก ซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 18 คน โดยบางกรณีเป็นการระเบิดของถุงลมจนทำให้วัสดุที่เป็นโลหะเกิดการแตกกระจายเป็นชิ้นเล็กๆพุ่งใส่ผู้ขับขี่ และบางกรณีถุงลมก็ทำงานแม้ในสภาวะที่แรงปะทะมีไม่มาก

takata3

มีการเรียกคืนรถยนต์กว่า 100 ล้านคันทั่วโลก โดยในจำนวนนี้เป็นรถยนต์ที่ใช้ในสหรัฐอเมริกาประมาณ 70 ล้านคัน ข้อบกพร่องของอุปกรณ์ทำให้ถุงลมนิรภัยพองตัวอย่างรุนแรงคล้ายการระเบิด และทำให้มีชิ้นส่วนที่เป็นโลหะกระเด็นใส่ผู้ใช้รถจนเกิดอันตราย กลางปีนี้ บริษัท ทาคาตะ ยื่นขอความคุ้มครองในสถานะผู้ล้มละลายตามกฎหมายต่อทางการทั้งในสหรัฐฯและญี่ปุ่น หลังมีหนี้สินหลายพันล้านดอลลาร์จากการที่ต้องรับผิดชอบค่าเสียหายแก่บรรดาผู้ผลิตรถยนต์และค่าชดเชยแก่ผู้ได้รับบาดเจ็บ รวมทั้งค่าปรับในกรณีปกปิดความบกพร่องของสินค้า

takata2

เจ้าหน้าที่กระทรวงคมนาคมกล่าวว่า เฉพาะในประเทศญี่ปุ่น มีรถยนต์กว่า 18 ล้านคัน ถูกเรียกคืนโดยผู้ผลิตรถยนต์ 24 ราย เพื่อนำมาแก้ไขจุดบกพร่องเกี่ยวกับถุงลมนิรภัย ซึ่งนับจนถึงเดือนกรกฎาคมปีนี้ (2560) ยังคงมีรถที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขจุดบกพร่องดังกล่าว จำนวนกว่า 4 ล้านคัน “ในจำนวนนี้ มีประมาณ 1.7 ล้านคันที่อยู่ในสภาพเป็นอันตรายอย่างมากต่อผู้ขับขี่ หากยังไม่มีการนำรถมาเปลี่ยนอุปกรณ์ถุงลมนิรภัยเป็นอันใหม่ รถคันนั้นก็จะไม่ผ่านการตรวจสอบสภาพรถซึ่งผู้ขับขี่จำเป็นต้องนำมาตรวจสอบตามกฎเกณฑ์เป็นระยะๆ

สำหรับบรรดารถที่ถูกเรียกคืนเพื่อนำกลับมาแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้น เป็นรถที่ผลิตโดยบริษัทรถยนต์ของญี่ปุ่นหลายรุ่นและหลายค่ายด้วยกัน อาทิ รถรุ่น ฟิต (Fit) ของฮอนด้า และรุ่น ฟูก้า (Fuga) ของนิสสัน