หุ้นฮอตฮิตชอร์ตเซล ปตท.-กสิกรไทยสลับเป็นแชมป์ ลูกค้าบัวหลวงแห่ให้ยืมหุ้น

08 ก.ย. 2560 | 11:12 น.
ช่วงตลาดหุ้นดี นักลงทุนลดการชอร์ตเซล ลูกค้านิยมให้โบรกเกอร์ยืมหุ้นมากขึ้น รับผลตอบแทน 3.5% ต่อปี บล.บัวหลวงฯ เผยคนโกยกำไร Single Stock Futures Block Trade ส่วนใหญ่เล่นหุ้นหลายตัว กล้าตัดสินใจตัดขาดทุน

“ฐานเศรษฐกิจ” รวบรวมข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการขายล่วงหน้า (ชอร์ตเซล) ในปี2560 (มีนาคม-สิงหาคม) พบว่าหุ้นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) มีการขายชอร์ตสูงติดอันดับที่ 1 และ 2 ตกเดือนละ กว่า 1,000 ล้านบาท ส่วนอันดับที่ 3 มีอยู่ 2-3 บริษัท เช่น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ที่มียอดชอร์ตเซลมากขึ้นแซงเป็นที่ 1 ในเดือนสิงหาคมและช่วงนี้ในหลายวัน

MP17-3294-A ส่วนกรณีที่ตลาดหุ้นพลิกกลับเป็นขาขึ้น ดัชนีหุ้นทะยานขึ้นอย่างรวดเร็วเกือบ 30 จุดเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 มีแรงซื้อนำโดยหุ้นขนาดใหญ่ พบว่าบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC มียอดชอร์ตเซลสูงสุด 295 ล้านบาท ตามด้วย AOT มูลค่า 273 ล้านบาท และบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC มูลค่า 180 ล้านบาท หลังจากนั้นAOT ครองแชมป์ยอดชอร์ตเซลสูงสุดทุกวัน วันที่ 30 สิงหาคมมีมูลค่า 206 ล้านบาท วันที่ 31 สิงหาคม จำนวน 82 ล้านบาทและวันที่ 1 กันยายน จำนวน 123 ล้านบาท

นายบรรณรงค์ พิชญากร กรรมการผู้จัดการ กิจการค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวงฯ กล่าวว่า ในช่วงนี้ที่หุ้นขนาดใหญ่ดีขึ้น ไม่เห็นการชอตหุ้นมากนัก ส่วนในเดือนสิงหาคม หุ้นขนาดใหญ่ถูกชอร์ตเซลมาก นำโดยหุ้น AOT ที่มียอดชอร์ตเซลถึง 1,800 ล้านบาท คิดเป็น 4.8% ของปริมาณการซื้อขายหุ้นในแต่ละเดือน ซึ่งแรงขายล่วงหน้าที่ออกมาจำนวนมากไม่พบว่ามีความสัมพันธ์เรื่องราคาหุ้นขึ้นมาสูงมากจึงมีการยืมหุ้นมาขายชอร์ตก่อนและรอจังหวะช้อนซื้อมาคืนในภายหลัง

ส่วนวันที่ 29 สิงหาคมที่ตลาดหุ้นพลิกกลับมาปรับตัวขึ้นแรง วันนั้น มีการเรียกให้ลูกค้ามาวางเงินเพิ่ม (คอลล์มาร์จิน) สำหรับการลงทุน Single Stock Futures Block Trade เพราะลูกค้าเล่นชอร์ต แต่ราคากลับขึ้นมาแรง ทั้งนี้ลูกค้าที่ถูกเรียกให้วางเงินเพิ่มเป็นจำนวนไม่มากนัก จึงไม่มีผลกระทบต่อตลาดโดยรวม

นายบรรณรงค์ กล่าวว่า ภาวะตลาดหุ้นขณะนี้คาดการณ์ยากว่าแนวโน้มดัชนีจะปรับตัวขึ้นต่ออีกไกลแค่ไหน หรือเป็นแรงซื้อหุ้นขนาดใหญ่เพียงช่วงสั้น ๆ เท่านั้น เพราะความคลายกังวลเรื่องการเมือง การซื้อหรือขายหุ้นเป็นการตัดสินใจของนักลงทุนเอง หากเห็นว่าราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาเร็วและถึงเป้าหมายที่วางไว้แล้ว ก็ทยอยขายออก เพื่อรอจังหวะในการซื้อกลับ หรือมองหาโอกาสจากหุ้นตัวอื่นที่ราคายังไม่ขยับขึ้นมา เพราะมีปัจจัยเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น รวมถึงรัฐบาลเร่งอัดฉีดงบลงทุนในโครงการต่างๆ

สำหรับนักลงทุนที่ซื้อหุ้นเพื่อถือลงทุนระยะยาว นอกจาก รับเงินปันผลแล้ว ยังมีโอกาสได้ผลตอบแทน ในอัตรา 3.5% ต่อปี ได้รับเงินทุกเดือน กรณีให้บริษัทหลักทรัพย์ยืมหุ้น ในส่วนบล.บัวหลวงฯ เพิ่งปรับระบบการยืมหุ้นเป็นออนไลน์เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ลูกค้าไม่ต้องเซ็นอนุมัติทางเอกสารเหมือนที่ผ่านมา เกิดความคล่องตัวในการดำเนินการ ส่งผลให้ยอดลูกค้าและจำนวนหุ้นที่มาให้บล.บัวหลวงฯ ยืม เพิ่มขึ้นมาก 2-3 เท่าตัว ส่งผลให้บัวหลวงมีหุ้นไปให้บริการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องจำนวนมาก กรณีให้ลูกค้ายืมหุ้นไปขาย คิดค่าธรรมเนียม 5.5% ต่อปี

บริษัทหลักทรัพย์บัวหลวงฯมีฐานลูกค้าที่ใหญ่ที่สุดในตลาด จำนวน 2.6 แสนราย จากนักลงทุนทั้งหมดในอุตสาหกรรมประมาณ 1.2-1.4 ล้านราย โดยเป็นผู้นำในการให้บริการ Single Stock Futures Block Trade และใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์หรือ DW แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นที่ 1 ของธุรกิจยืมและให้ยืม (SBL) หรือไม่ แต่การที่ลูกค้าให้ความสนใจเอาหุ้นมาให้ยืม ทำให้บัวหลวงมีหุ้นไปขยายทั้ง 2 ธุรกิจได้มาก เพราะ DW ออกทั้งฝั่ง Call และ Put ด้าน Put ต้องยืมหุ้นมาขาย

“เราพานักลงทุนมาเจอกัน สำหรับคนที่จะลงทุนระยะยาว กับผู้ที่ต้องการยืมหุ้นมาขายชอร์ต ส่วนนักลงทุนที่เล่น Single Stock Futures Block Trade เรามีการรวบรวมข้อมูลพบว่าคนที่ประสบความสำเร็จ มีกำไร เป็นการเล่นหุ้นกระจาย หลายตัว แต่ที่สำคัญจะต้องกล้าตัดสินใจ cut lose เมื่อลงทุนผิดทาง ไม่เหมาะถือทุนไปเรื่อยๆ เพราะอัตราทดสูง” นายบรรณรงค์กล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,294 วันที่ 7 - 9 กันยายน พ.ศ. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว