“33 รัฐวิสาหกิจ” ผวา! พ.ร.บ.จัดซื้อฯ ใหม่ บีบเปิดแผนธุรกิจ บล็อกลงทุน

02 ก.ย. 2560 | 08:10 น.
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,293 วันที่ 3-6 ก.ย. 2560 รายงานว่า พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างใหม่บานปลาย! ผู้นำท้องถิ่นยอมรับ กำลังเดือดร้อนหนัก อบต. เสนอใช้ ม.44 ปลดล็อกด่วน! รัฐวิสาหกิจ 33 แห่ง เจอดีปรับตัวไม่ได้ กฟผ., บินไทย, ทีโอที, อสมท, แบงก์เฉพาะกิจ และ วสท. หนุนเดินหน้าอย่ากลัว

ความปั่นป่วนที่กำลังเกิดขึ้นในหน่วยงานรัฐทั่วประเทศ จากการจัดซื้อจัดจ้างภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับเมื่อวันที่ 23 ส.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลต่องบประมาณลงพื้นที่ ไม่นับภาคเอกชนที่กำลังรอความชัดเจนเพื่อลงทุน เนื่องจากการจัดซื้อทุกชนิดจะต้องผ่านคณะกรรมการ 5 ชุด แนวโน้มที่ต้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งตามมาตรา 44 จึงมีไม่น้อย

แหล่งข่าวจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ยอมรับว่า การยกเลิกระเบียบท้องถิ่นโดยไม่ต้องใช้ระเบียบภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ทำให้การทำงานของท้องถิ่นมีความสับสนในการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด ตอนนี้ได้แค่รอคำตอบที่ชัดเจน สำหรับวิธีปฏิบัติ

“กฎหมายลูก 7 ฉบับ ออกมาก่อนกฎหมายแม่ มีผลบังคับเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2560 แค่ 2 วัน ทำให้มีปัญหาเรื่องการรับรู้และสร้างความเข้าใจแนวทางปฏิบัติ ขณะที่เจ้าหน้าที่พัสดุนั้น จำเป็นต้องบริหารความเสี่ยงทุกวันสำหรับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะหากผิดพลาด หน่วยงานตรวจสอบต้องรับโทษ”

ที่สำคัญ กฎหมายใหม่เกี่ยวโยงกับประกาศของ คสช. ฉบับ 104/2557 เรื่องการควบคุมดูแลงบประมาณองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตั้งแต่ 5,000,000 บาทขึ้นไป ต้องรายงานผู้ว่าราชการจังหวัด หรือ นายอำเภอ อีกทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจในการสอบข้อเท็จจริง จุดนี้ยังเป็นประเด็นว่า ต้องยกเลิก/ยังคงใช้ปฏิบัติอยู่ หรือกรณีผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถอนุมัติเห็นชอบการจัดซื้อจัดจ้างวิธีพิเศษ หากยกเลิกจะเป็นการก้าวล่วงอำนาจหรือไม่

“ความล่าช้า” ยังกระทบภาคเอกชนที่จะยื่นประมูลงาน ที่ต้องเลื่อนออกไป แม้จะเป็นระยะสั้น แต่กระทบธุรกิจพอสมควร แต่ละปีเรามีงบในการลงทุนและงบในการใช้สอยประมาณ 40% ของงบทั้งหมด 600,000 ล้านบาท และยังมีเงินเหลือจ่ายปลายปีในส่วนของเงินรายได้ท้องถิ่นอีก นอกจากท้องถิ่นกังวลและสับสนแนวทางปฏิบัติแล้ว ยังไม่คุ้นเคยกับวิธี e-Market และ e-Bidding ซึ่งตอนนี้รอความชัดเจนจากคลังจังหวัด

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01

นายนพดล แก้วสุพัฒน์ ประธานที่ปรึกษาสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แห่งประเทศไทย และอดีตนายกสมาคม อบต. ให้ความเห็นว่า ปัญหาที่เกิดจากการออกกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ คือ ทำให้การจัดซื้อจัดจ้างในหน่วยงานภาครัฐและเอกชนชะงัก เดินหน้าอะไรไม่ได้ ทุกอย่างติดล็อกหมด ในกรณีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นอกจากต้องใช้ระเบียบกลางของสำนักงบประมาณ ยังต้องมีระเบียบของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงอื่น ๆ อีกหลายชั้น อย่างไรก็ดี ในระหว่างที่รอการแต่งตั้งคณะกรรมการทั้ง 5 ชุด ขอเสนอแนะให้ผู้มีอำนาจหาทางแก้ไขเป็นเฉพาะหน้าก่อน เพราะทุกข์ชาวบ้านรอคอยไม่ได้

“วิธีที่ทำได้เร็วที่สุด คือ การใช้อำนาจพิเศษ ‘มาตรา 44’ ปลดล็อกปัญหาที่ติดขัดในขณะนี้ก่อน เพื่อเป็นช่องทางนำไปสู่การปฏิบัติโดยใช้ระเบียบกลางตามที่กฎหมายกำหนด”

ด้าน นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เปิดเผยว่า มีรัฐวิสาหกิจ 33 บริษัท ที่มีการแจ้งเข้ามาว่า ทำกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างไม่ได้ ที่เหลืออีก 29 บริษัท สามารถปฏิบัติตามระเบียบที่ได้ออกมาแล้ว

สำหรับรัฐวิสาหกิจที่ไม่สามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างภายใต้ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างใหม่ เนื่องจาก พ.ร.บ.ใหม่ กำหนดให้ต้องประกาศแผนและเปิดเผยข้อมูลของการจัดซื้อจัดจ้างทุกขั้นตอน ในระบบเครือข่ายสารสนเทศของกรมบัญชีกลาง ซึ่งการประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์จะมีความลับทางการค้า อาจทำให้คู่แข่งรู้ข้อมูลและเสียเปรียบด้านการแข่งขัน

น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง ระบุว่า รัฐวิสาหกิจที่ติดปัญหาแนวทางปฏิบัติจำนวน 33 แห่ง เช่น การบินไทย, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ, ทีโอที, อสมท, สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) เป็นต้น โดยรัฐวิสาหกิจ 1 แห่งนั้น บางแห่งมีการเสนอขอเพิ่มเติม 3 กิจกรรม บางแห่งอาจจะมี 8 กิจกรรม โดยขณะนี้กรมบัญชีกลางเปิดให้แต่ละแห่งแจ้งเข้ามาว่า อยู่ได้หรือไม่ได้ ในกิจกรรมใด ซึ่งจะพิจารณาและหาทางออกให้

[caption id="attachment_203029" align="aligncenter" width="310"] นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท[/caption]

 

รสก. ขอเวลาปรับตัว
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวว่า พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ ทางกรมบัญชีกลางเปิดโอกาสให้ขอยกเว้นในประเด็นที่ไม่มีความคล่องตัวได้ ซึ่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นเรื่องใหม่ คงให้สมบูรณ์ในวันแรกไม่ได้ แต่ต้องค่อย ๆ ปรับกันไป

ด้าน นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในระหว่างที่รอจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายจัดซื้อจัดจ้างประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ ช่วงรอยต่อระหว่างนี้ ทีโอทีได้ทำหนังสือยกเว้นการจัดซื้อจัดจ้างเชิงพาณิชย์ ตามมาตรา 7(1) ของระเบียบวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งกำหนดให้การจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรง ไม่ต้องบังคับใช้ตามกฎหมายนี้

ขณะที่ นายจิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) กล่าวว่า มีโครงการเช่าและจัดซื้อรถขบวนใหม่ จำนวนราว 300 คัน ที่จะต้องนำเข้าไปดำเนินการตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ เบื้องต้น อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด คาดว่า กระทบระยะเวลาเพียงเล็กน้อย และน่าจะปรับตัวเข้ากับการใช้ระบบใหม่ในเร็ว ๆ นี้

นางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หรือ ปณท กล่าวว่า โครงสร้างใหม่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดี คือ มอบอำนาจให้หน่วยงานในองค์กรจัดซื้อจัดจ้างในราคากลางที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความคล่องตัว ส่วนข้อเสีย คือ วิธีการบางอย่างหายไป คือ การจัดซื้อจัดจ้างด้วยการประกวดราคาพิเศษ เพราะเท่าที่ทราบ คือ มีการเปลี่ยนชื่อใหม่ และขั้นตอนประกาศจัดซื้อจัดจ้างก็เพิ่มมากขึ้นด้วย

วสท. หนุนเดินหน้า
นายทศพร ศรีเอี่ยม กรรมการบริหาร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า วิศวกรรมสถานฯ สนับสนุนกฎหมายดังกล่าว เพราะมีทั้งความยืดหยุ่น ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการ 5 ชุด โดยเพิ่มคณะกรรมการภาคประชาชนด้วย การปรับราคากลางใหม่ให้ทันกับสถานการณ์ แทนราคากลางเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2551 โดยผลดีต่องานด้านวิศวกรรม คือ เจ้าของโครงการสามารถจัดจ้างเป็นการเฉพาะเจาะจงได้ กรณีโครงการไม่ใหญ่ ทำให้ผู้ที่มีฝีมือได้งานโดยไม่ต้องประมูลแข่งขันเช่นโครงการใหญ่ ๆ

“กรมบัญชีกลางได้มีการเตรียมพร้อมมาแล้วระยะหนึ่ง จากการจัดประมูลระบบ ‘อี-บิดดิ้ง’ ลดการฮั้วราคาให้น้อยลง อย่างไรก็ตาม ผมอยากให้รัฐบาลส่งสัญญาณไปยังฝ่ายพัสดุทุกหน่วยงานเร่งขับเคลื่อนงานจัดซื้อจัดจ้าง และควรนำสมาคมวิชาชีพเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย”

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว