วิชา:จำนำข้าว-จีทูจี กระบวนการมีข้อบกพร่อง

04 ก.ย. 2560 | 08:16 น.
สร้างปรากฏการณ์ส่งนัก การเมืองเข้าคุกอย่างน้อย 2 รายจาก “คดีจีทูจีข้าว” นายวิชา มหาคุณ อดีตคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขณะที่ “คดีจำนำข้าว” ซึ่งมีอดีตนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นจำเลยหลบหนีคดี ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้เลื่อนอ่านคำพิพากษาเป็นวันที่ 27 กันยายนนี้ ต้องรอลุ้นผลคำตัดสินกัน

นายวิชา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนการทุจริตโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี และคดีจำนำข้าว เล่าย้อนบทเรียนครั้งยิ่งใหญ่ของคดีนี้ที่ทุกฝ่ายต้องตระหนักร่วมกันเรื่องการมีส่วนร่วมในการปราบปรามการทุจริตของประเทศ โดยคดีนี้รับช่วงต่อหลังนายกล้านรงค์ จันทิก ซึ่งขณะนั้นครบวาระการดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช. เนื่องจากมีอายุครบ 70 ปี โดยมีนายประสาท พงษ์ศิวาภัย เป็นประธานคณะกรรมการไต่สวน ได้เริ่มกระบวนการไต่สวนค้นหาความจริง นับตั้งแต่การหานิยามของคำว่า “จำนำข้าว” ว่ามีกระบวนการขั้นตอนอย่างไร

อีกด้านหนึ่ง คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มอบหมายให้นายเมธี ครองแก้ว ทำการศึกษาวิจัยโครงการนี้อย่างลึกซึ้งจากผลงานวิจัยนายเมธี ได้เสนอให้ป.ป.ช. ส่งความเห็นให้รัฐบาลซึ่งเวลานั้นยังไม่ได้เริ่มโครงการ ให้ระงับยับยั้งโครงการนี้ เนื่องจากการดำเนินการรับจำนำข้าวที่ผ่านมาทุกยุคทุกสมัย กระบวนการต่างๆมีข้อบกพร่อง ทำให้มีการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นอย่างมาก เสนอว่า ควรใช้การประกันราคาข้าวจะดีกว่า แต่รัฐบาลก็ยังคงยืนยันเดินหน้าโครงการต่อ อ้างว่าได้เสียงมาจัดตั้งรัฐบาลจะต้องทำ และต้องรับผิดชอบต่อนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา

**จำนำข้าว-จีทูจีคดีใหญ่ป.ป.ช.
เมื่อเริ่มโครงการ ป.ป.ช.มีการตรวจสอบ เพราะมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาว่า เกิดการทุจริต มีการสวมสิทธิ์ และนำข้าวมาปลอมปน ในขณะที่กระบวนการต่างๆก็มีข้อร้องเรียนมาเป็นระยะๆว่า การดำเนินการระบายข้าวแบบจีทูจีไม่เกิดขึ้นจริง อีกด้านหนึ่งได้ข้อมูลจาก ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน (นายศรีราชา วงศารยางกูร) ในขณะนั้นว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนมาเช่นเดียวกันและจากการลงตรวจพื้นที่ก็พบว่าโรงสีหลายโรงเข้าข่ายการทุจริต

คดีนี้เป็นคดีใหญ่ ระหว่างการไต่สวนมีมวลชนมากดดัน มายื่นคำร้อง มาขอถอดถอน เนื่องจากผู้ที่เกี่ยวข้องเขามีอำนาจ มีกองกำลัง มีมวลชนจำนวนมาก เราได้ข้อมูลจากหลายช่องทาง จำนวนมากมาจากสมาคมค้าข้าว กลุ่มพ่อค้าข้าว ผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการค้าข้าวที่ให้ข้อมูลตั้งข้อสังเกตว่า การขายข้าวแบบจีทูจีที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นตัวแทนมณฑล ไม่ใช่ตัวแทนระดับรัฐหรือของรัฐบาลที่ต้องผ่านองค์กรพืชผลทางการเกษตรที่ทาง WTO กำหนดเอาไว้ ซึ่งของจีนนั้นต้องทำผ่าน COFCO จึงต้องเช็กว่า บริษัทที่เกี่ยวข้องนั้นเข้ามาอย่างไร ใครชักใยอยู่เบื้องหลัง กระทั่งเริ่มรู้ว่า กระบวนการนี้เสี่ยเปี๋ยง (นายอภิชาติ จันทร์-สกุลพร) กับลูกน้องเข้ามาเกี่ยวข้อง

[caption id="attachment_202917" align="aligncenter" width="503"] วิชา มหาคุณ อดีตคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) วิชา มหาคุณ อดีตคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)[/caption]

**จุดสำคัญชี้มูล“ยิ่งลักษณ์”
ต่อมาคณะกรรมการป.ป.ช.ได้ทำหนังสือเตือนรัฐบาลเป็นครั้งที่ 2 และนำไปสู่การเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้ไต่สวนคุณบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวก รวมถึงคุณยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญเพราะเป็นผู้ที่คุมและทราบเรื่องทั้งหมดตั้งแต่ต้นนํ้า กลางนํ้า และปลายนํ้า ที่น่าจะต้องรู้และเกี่ยวข้อง ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ทำให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มองว่า ละเลย หรือละเว้นการปฏิบัติ ไม่ระงับยับยั้งจนทำให้เกิดความเสียหาย?

“ใช่ครับ จะบอกว่าไม่ทราบ ไม่มีการเสนอเลยหรือ ทุกกระบวนการต้องผ่านความรู้เห็นของคณะกรรมการ กขช. ซึ่งมีข้อมูลระบุว่า ได้ตั้งคณะกรรมการปิดบัญชีขึ้นและคณะกรรมการชุดนี้ก็ทำหนังสือเตือนเช่นกันว่า ไม่ควรใช้กระบวนการรับจำนำข้าวเพราะเกิดการขาดทุนมหาศาล ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็รับทราบทุกครั้งที่มีการชี้แจงมา และในฐานะนายกรัฐมนตรี ซึ่งศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้ว่า นายกฯมีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินทุกอย่าง ควบคุมทุกกระทรวง ทบวง กรม จะอ้างว่าไม่ทราบไม่ได้ เราก็เห็นว่า จุดนี้ทำให้เป็นพิรุธ แต่ว่าท่านจะผิดหรือไม่ผิดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง”

**ทุจริตเชิงนโยบายมี2ลักษณะ
สำหรับการตั้งข้อสังเกตที่ว่า ในชั้นอัยการนั้นได้ชี้ให้ไปในทำนองที่ว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี เปิดทางให้มีการทุจริตด้วยนั้น

นายวิชา ให้ความเห็นว่า เป็นการดำเนินการทางสำนวนซึ่ง ป.ป.ช.นั้นทำหน้าที่ส่งเรื่องให้กับอัยการ ส่วนอัยการจะฟ้องอะไรบ้างในข้อเท็จจริงก็ไปดูตัวบทกฎหมายซึ่งเป็นอำนาจของอัยการเอง

เน้นยํ้าว่า ข้อมูลทุกชิ้นที่ได้ ป.ป.ช.นำไปใช้ประโยชน์ทั้งหมด จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบความปกติในการตรวจรับ ซึ่งก็สอดคล้องกับที่คณะกรรมการตรวจสอบบัญชีระบุว่า มีข้าวหายจากโกดัง นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่แสดงร่องรอยให้เห็น แต่ยังไม่มีตัวเลขยืนยันชัดเจน กระทั่งมีข้อสรุปจากคณะกรรมการตรวจสอบข้าวชุดของ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในเวลาต่อมา

รวมถึงข้อมูลที่ได้จากการอภิปรายของพรรคประชาธิปัตย์ฝ่ายค้าน ซึ่งนำโดยนายแพทย์วรงค์ เวลานั้น เป็นจุดเริ่มต้นให้เรียกของจริงมาดู และนำมาตรวจอย่างละเอียดทุกฉบับ เพราะผิดปกติที่ไม่เปิดบัญชีไว้ที่ธนาคารแล้วจ่ายเงินเข้าบัญชี แต่จ่ายเป็นแคชเชียร์เช็คให้กรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งศาลวินิจฉัยว่า การซื้อข้าวก็วนเวียนอยู่ในประเทศ เพราะเป็นการซื้อหน้าคลัง มันไม่ได้ส่งไปทางเรือ ไม่มีการส่งออกไป

จากคำพิพากษาของศาลฎีกานักการเมืองสั่งให้จำคุก นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ และนายภูมิ สาระผล เป็นเวลาหลายสิบปีในครั้งนี้ได้สร้างบรรทัดฐานใหม่เกี่ยวกับอัตราโทษหนักได้หรือไม่นั้น นายวิชา ระบุว่า โทษสูงเนื่องจากมีหลายกรรมหลายกระทง ศาลไม่ได้ทำนอกเหนือกฎหมาย

จริงๆ มีบรรทัดฐานอยู่หลายคดีแล้ว แต่ไม่ลึกเท่ากับคดีนี้ ไม่เสียหายหนักมากเท่านี้ อย่างกรณีทุจริตเรือรถดับเพลิงที่จะเห็นได้ว่า มีข้าราชการเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย แต่คดีนั้นเป็นการตั้งเรื่องจากข้างล่าง จากข้าราชการแล้วส่งไปให้นักการเมืองซึ่งเห็นชอบด้วย แต่คดีนี้วางแผนลงไปจากข้างบน

เพราะฉะนั้น กระบวนการทุจริตเชิงนโยบายอาจจะเกิดขึ้นได้ทั้ง 2 แบบ คือ ขึ้นไปจากข้างล่าง หรือลงไปจากข้างบน...

**‘วิกฤติตุลาการ’ จุดจบแทรกแซงจากฝ่ายบริหาร
ตอนหนึ่งในการสนทนา นายวิชา แลกเปลี่ยนประสบการณ์ครั้งสำคัญเมื่อปี 2534 สมัยเป็นเลขาธิการประธานศาลฎีกา ซึ่งเกิดความขัดแย้งทางความคิดขึ้นระหว่าง คณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) กับ นายประภาศน์ อวยชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่โต้แย้งกันเรื่องตัวบุคคลที่จะเป็น “ประธานศาลฎีกา” โดยฝ่ายตุลาการมองว่า เป็นการแทรกแซง เพราะเป็นการแต่งตั้งประมุขฝั่งตุลาการจึงเกิดการคัดค้านกันขึ้น มีผู้พิพากษาจำนวนมาก ทำหนังสือยื่นถึงนายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

เหตุการณ์บานปลายกระทั่งนายประภาศน์ ได้ตั้งคณะกรรมการสอบทางวินัยกลุ่มผู้ที่คัดค้าน ให้ไล่ออกจากราชการ ผู้พิพากษากลุ่มนี้ได้กราบบังคมทูลฯ ร้องทุกข์ต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เข้าไปในสำนักพระราชวัง และได้โปรดเกล้าฯมาทางรัฐบาลว่า เป็นเรื่องของความแตกแยกทางความคิดที่เห็นไม่ตรงกันได้ ไม่ใช่ความผิด หรือเป็นเรื่องร้ายแรงอะไร เพราะคนเราคิดไม่ตรงกันได้ ไม่ต้องออกจากราชการ จึงได้กลับมาตำแหน่งเดิม และได้เลื่อนตำแหน่งกันตามปกติ

“จากจุดนั้นได้สร้างการเปลี่ยนแปลงเกิดรัฐธรรมนูญปี 2540 ขึ้น มีการแยกศาลออกจากกระทรวงยุติธรรมอย่างเด็ดขาด ให้ศาลเป็นองค์กรอิสระ ไม่ให้ฝั่งบริหารมายุ่งเกี่ยวกับการบริหารจัดการ การตัดสินคดีของศาล เข้ามาแทรกแซงไม่ได้ เป็นปรากฏการณ์ เป็นประวัติศาสตร์ นี่คือ การปฏิรูปแบบถอนรากถอนโคนเลย และไม่มีทางเปลี่ยนกลับไปอีกแล้ว ไม่มีทาง

กรณีของนายศิริชัย วัฒนโยธิน อดีตประธานศาลอุทธรณ์ เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นถึงการกำกับกันเอง ผู้พิพากษาใช้กระบวนการวิธีการภายในจัดการกันเอง ไม่ใช่คนละฝั่ง มีฝ่ายเดียวแต่คิดเห็นแตกต่างกันในเรื่องการแต่งตั้งตำแหน่ง พอใจบ้างไม่พอใจบ้างก็ดำเนินการไปตามครรลอง

นี่คือ ตัวอย่างหนึ่งของการกำกับกันเอง นี่คือ การเปลี่ยนแปลงด้วยกันเอง ทำในระบบ ไม่ได้ออกไปนอกระบบแต่อย่างใด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,293 วันที่ 3 - 6 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว