SCGโชว์ผลงานโตนอกบ้าน

05 ก.ย. 2560 | 14:00 น.
ปัจจุบันธุรกิจของเอสซีจีในอาเซียน คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 4 ของธุรกิจเอสซีจี ไม่ว่าจะดูจากด้านยอดขายหรือมองในแง่สินทรัพย์ แต่ที่น่าจับตาหลังจากนี้ไปอีกไม่เกิน 7 ปี รายได้ที่เกิดจากธุรกิจเอสซีจีที่ออกไปลงทุนในอาเซียนจะขยายตัวเป็นสัดส่วนมากถึง 40-50% ของรายได้รวม จากปัจจุบันผลดำเนินงานของเอสซีจี ในอาเซียนนอกเหนือจากประเทศไทยในช่วงครึ่งปีแรกปี 2560 มีรายได้จากการขายในภูมิภาคอาเซียน กว่า 5 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 24% ของรายได้รวม (รายได้จากการขายรวมครึ่งปีแรกปี 2560 ของเอสซีจีราว 2.25 แสนล้านบาท) ล่าสุด “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส” กรรมการผู้จัดการใหญ่เอสซีจี ถึงความเคลื่อนไหวธุรกิจในอาเซียน

**ทิศทางเอสซีจีปี2565
กรรมการผู้จัดการใหญ่เอสซีจี มองธุรกิจเอสซีจีในอีก 5 ปีนับจากนี้ไปว่า ต้องไปดูว่าการลงทุนของเอสซีจีอยู่ที่ไหนบ้าง เพราะมีการลงทุนต่อเนื่อง ล่าสุดประกาศลงทุนในโครงการปิโตรเคมีที่เวียดนาม 5,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 188,000 ล้านบาท ตั้งโรงงานอยู่ใกล้ๆโฮจิมินห์ จังหวัด บาเรีย-หวุงเต่า โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเรื่องไฟแนนซ์ น่าจะจบลงในสิ้นปีนี้ เมื่อเสร็จตรงนี้ ก็จะเริ่มดำเนินการก่อสร้าง โดยใช้เวลาก่อสร้างประมาณสี่ปีครึ่ง จะเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ขณะนี้มีที่ดินพร้อมแล้วประมาณ 1,000 ไร่

[caption id="attachment_202839" align="aligncenter" width="503"] รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่เอสซีจี[/caption]

ทั้งนี้โครงการดังกล่าวจะเริ่มที่เฟสแรกก่อน โดยกลุ่มโอเลฟินส์ ใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตพลาสติกชนิดต่างๆ จะเป็นปิโตรเคมีขั้นต้นคือเอทิ ลีน (ethylene) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้นที่สําคัญและโพลิโอเลฟินส์ (Polyolefins) เป็นผลิตภัณฑ์หลักหรืออัพสตรีมกับดาวน์สตรีม ขนาดกำลังผลิต 1.6 ล้านตัน อีก 5 ปีจากนี้ไปก็น่าจะมีผลผลิตออกมาในเชิงพาณิชย์ น่าจะเป็นโครงการขนาดใหญ่เท่าๆ กับไทย แต่เนื่องจากที่เวียดนามเป็นโครงการลงทุนเองทั้งหมด (Green Field) มีระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ การลงทุนจึงค่อนข้างสูง

นอกจากนั้นก็เป็นโครงการร่วมทุนปิโตรเคมีที่อินโดนีเซีย โดยบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ SCC ถือหุ้นทั้งหมด ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นบริษัท พีที จันทรา แอสซรี (PT Chandra Asri Petrochemical Tbk : CAP) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศอินโด นีเซีย โดยเราถือหุ้น 30% มีโครงการขยายกำลังผลิตอีก 1 ไลน์ผลิต

เมื่อเวียดนามขึ้นโครงการปิโตรเคมีได้ อินโดนีเซียก็น่าจะตามมาใช้เงินลงทุนไม่ต่างจากเวียดนามมาก โดยตัวคอมเพล็กซ์จะเหมือนกัน ซึ่งตรงนี้ยังบอกเรื่องตัวเลขไม่ได้เพราะอยู่ระหว่างศึกษา แต่จะลงทุนน้อยกว่าเวียดนาม เพราะเป็นโครงการร่วมทุน มีของเดิมอยู่แล้ว ตรงนี้น่าจะมีพื้นที่ 800-900 ไร่ ทั้ง 2 ตลาดนี้มีแนวโน้มดี เป็นตลาดที่ใหญ่มีศักยภาพสูง มีประชากรเยอะ 2 ประเทศรวมกันกว่า 350 ล้านคน

**ปักฐานซีเมนต์เกือบทุกประเทศ
สำหรับธุรกิจปูนซีเมนต์ เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ในประเทศที่ลงทุนเป็นหลัก จะมีการลงทุนที่สปป.ลาว โครงการเพิ่งเริ่มขึ้นเชิงพาณิชย์ ในปีนี้ มีกำลังผลิต 1.8 ล้านตัน เมียนมาเริ่มไปเมื่อต้นปี 1.8-2 ล้านตัน อินโดนีเซีย ทำเชิงพาณิชย์ได้ปีกว่าแล้ว มีกำลังผลิต 1.8 ล้านตัน กัมพูชา เมื่อปีที่แล้ว โรงที่ 2 ที่ขยายกำลังผลิตเพิ่มอีกเท่าตัว ตอนนี้มีกำลังผลิตรวม 2 เฟส 2 ล้านตัน และเวียดนามเพิ่งเข้าไปซื้อกิจการอยู่ตรงภาคกลาง จะมีของเดิมอยู่แล้ว มีกำลังผลิต 3.1 ล้านตัน

เมื่อไปปักฐานในอาเซียนมากขึ้น ทำให้ล่าสุดการส่งออกปูนซีเมนต์จากประเทศไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านลดลงจากที่เคยส่งออกรวมแต่ละค่ายสูงราว 10 ล้านตันต่อปี ในจำนวนนี้จะส่งออกไปยังภูมิภาคนี้ 7-8 ล้านตัน ตอนนี้เหลือส่งออกรวมประมาณ 4-4.5 ล้านตันในปีนี้ ในจำนวนนี้ส่งออกเฉพาะในภูมิภาคนี้ราว 1 ล้านตัน เท่านั้น เนื่องจากมีกำลังผลิตในแต่ละประเทศแล้ว ส่วนกำลังผลิตที่เหลือก็จะส่งไปเอเชียใต้ เช่น บังกลาเทศ โดยไปหาตลาดใหม่ๆ ชดเชย และมีขนาดการส่งออกไม่ใหญ่มาก ประมาณ 2-3 แสนตันต่อประเทศ ซึ่งปัจจุบันกำลังผลิตในประเทศไทยยังล้นตลาดอยู่มาก มีกำลังผลิตเต็มเพดานทุกค่ายรวมกัน 61-62 ล้านตัน ขณะที่ตลาดในประเทศมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศเพียง 40 ล้านตัน และมีการส่งออกทุกค่ายรวมกันราว 8-10 ล้านตัน เท่านั้น
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว
**ทั้งปีแค่หวังไม่ติดลบมากขึ้น
สำหรับตลาดปูนซีเมนต์ในประเทศไทย ในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ ติดลบไปแล้ว 7% ในแง่ความต้องการใช้ในประเทศ ซึ่งรัฐบาลเองก็พยายามเร่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ แต่เห็นประเด็นเหมือนกันว่าไม่ง่าย เพราะกฎระเบียบ ขั้นตอนในการอนุมัติเยอะ บางทีมีงบประมาณแล้วแต่ยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้ หรือโครงการใหญ่ๆ ก็มีการตรวจสอบเข้มข้น
อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งปีหลังของทุกปีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จะมีน้อยกว่าครึ่งปีแรก ถ้า 100% ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จะมีในครึ่งปีแรกไปแล้ว 55-57% จะมีเพียงเดือนเมษายนเดือนเดียวที่ใช้ปูนซีเมนต์น้อย แต่ครึ่งปีหลังหลายเดือนจะใช้ปูนน้อย โดยเฉพาะเดือนธันวาคม เข้าสู่เทศกาลปีใหม่คนอยากพัก รวมถึงครึ่งปีหลังเป็นช่วงฤดูฝน
ดังนั้นทั้งปีการใช้ปูนซีเมนต์น่าจะติดลบแต่ก็หวังว่าในครึ่งปีหลังจะไม่ติดลบมากเท่ากับครึ่งปีแรก

**กลุ่มปิโตรจ่อผู้นำอาเซียน
ส่วนที่มีการตั้งคำถามกันว่าปัจจุบันกลุ่มซีเมนต์เป็นผู้นำในอาเซียนหรือยัง กรรมการผู้จัดการใหญ่เอสซีจีมองว่ายังไม่ใช่ผู้นำในอาเซียน ถ้าเป็นที่ 1 ในอาเซียนจะต้องเป็นที่ 1 ในทุกตลาดได้ ซึ่งเรายังไม่ใช่ ธุรกิจปูนซีเมนต์ยังมีคู่แข่งที่มีกำลังผลิตมากกว่าเอสซีจี ดังนั้นจะเป็นที่ 1 ได้เฉพาะบางพื้นที่ เช่นในไทยเราก็มีกำลังผลิตปูนซีเมนต์มากที่สุดในประเทศ กลุ่มบรรจุภัณฑ์ เราเป็นเบอร์ 1 ในเวียดนาม ส่วนปิโตรเคมีถ้าสามารถขึ้นโครงการที่เวียดนามและอินโดนีเซียได้ ก็จะกลายเป็น 3 ตลาดใหญ่ด้านปิโตรเคมี หรือใหญ่ที่สุดในอาเซียนได้ ดังนั้นทั้งปูนซีเมนต์ที่ออกไปลงทุนในอาเซียนเกือบทุกประเทศและธุรกิจปิโตรเคมีที่ลงทุนขนาดใหญ่นั้นจะเป็นตัวเร่งที่สำคัญในการเติบโตของเอสซีจีนอกบ้าน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,293 วันที่ 3 - 6 กันยายน พ.ศ. 2560