เฟด-อีซีบีส่งคำเตือนโลก ระวังการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ควบคุมธนาคาร

03 ก.ย. 2560 | 11:52 น.
ผู้นำธนาคารกลางขนาดใหญ่ที่สุด 2 แห่งของโลกออกโรงเตือนการปรับเปลี่ยนกฎระบบของธนาคารที่นำมาใช้หลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจและนโยบายกีดกันทางการค้า อาจเป็นความเสี่ยงรุนแรงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เปราะบาง แต่ไม่ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงทิศทางนโยบายการเงินนับจากนี้

ในการประชุมประจำปีของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางและนักเศรษฐศาสตร์จากทั่วโลกที่เมืองแจ๊คสัน โฮล รัฐไวโอมิง สหรัฐอเมริกาในปีนี้ แม้ว่านักลงทุนจะผิดหวังที่ผู้นำธนาคารกลางขนาดใหญ่ของโลก ทั้งนางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และนายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ไม่ได้ให้ความชัดเจนเกี่ยวกับทิศทางนโยบายต่อจากนี้ แต่ประธานธนาคารกลางทั้ง 2 แห่งถือโอกาสนี้กล่าวปกป้องกฎระเบียบสำหรับธนาคารพาณิชย์ที่นำมาใช้หลังเกิดวิฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2551-2552 รวมถึงนโยบายการค้าเสรี

TP10-3292-a แม้ว่าชื่อของนายโดนัลด์ ทรัมป์ จะไม่ถูกเอ่ยออกมาอย่างชัดเจน แต่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ชูประเด็นการพาสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงการค้าในระดับพหุภาคี และยกเลิกกฎระเบียบที่มีการตั้งขึ้นมาหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเป็นประเด็นหลักของการกระตุ้น การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ รัฐบาลทรัมป์กล่าวว่า กฎระบบที่ใช้ปกป้องธนาคารและผู้บริโภคได้ทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจกู้ยืมเงินได้ยากขึ้น ซึ่งสร้างความเสียหายต่อการเติบโต

อย่างไรก็ตาม นางเยลเลน กล่าวว่า มีการวิจัยจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่า “การปฏิรูปที่ทางการสหรัฐฯ นำมาใช้ภายหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจได้ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบธนาคาร โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงสินเชื่อและการเติบโตทางเศรษฐกิจ” ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่ามีกฎระเบียบบางประการ โดยเฉพาะกฎสำหรับธนาคารขนาดเล็กที่ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 2551 ที่อาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนหรือยกเลิก

ด้านนายดรากีก็ให้ความเห็นในทิศทางเดียวกับนางเยลเลนว่า ควรต้องรักษาความเข้มงวดของกฎระเบียบเอาไว้โดยเฉพาะในเวลาที่สุ่มเสี่ยงจะนำไปสู่ต้นเหตุของการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจได้อีกครั้ง “ในทางกลับกัน กฎระเบียบที่เข้มแข็งที่เรามีอยู่ในเวลานี้ได้ช่วยทำให้เศรษฐกิจรองรับมาตรการดอกเบี้ยตํ่าเป็นระยะเวลานานได้โดยไม่ส่งผลกระทบข้างเคียงร้ายแรงต่อเสถียรภาพทางการเงิน และในเวลาที่นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายทั่วโลก ผู้กำหนดนโยบายควรระมัดระวังไม่ให้เกิดปัจจัยเสี่ยงที่จะนำไปสู่วิกฤติ”

นอกจากนี้ นายดรากียังกล่าวเตือนถึงความเสี่ยงจากนโยบายกีดการทางการค้าที่จะมีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกที่มีความเชื่อมโยงกัน และว่าการรักษาเศรษฐกิจโลกให้แข็งแกร่งมีความสำคัญต่อการเตรียมการรับมือกับความท้าทายจากประชากรที่สูงอายุขึ้น และการตึงตัวของทรัพยากร โดยคาดว่าภายในปี 2568 สัดส่วนของประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปจะมีมากถึง 35% ของกลุ่มคนทำงานในประเทศพัฒนาแล้ว เทียบกับสัดส่วนเพียง 14% ในปี 2493 ขณะเดียวกันสัดส่วนหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจาก 56% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปี 2550 เป็น 87% ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ในประเด็นของนโยบายการเงินนั้น นายดรากีไม่ได้ส่งสัญญาณมากเท่ากับที่นักลงทุนคาดหวัง โดยกล่าวเพียงว่ามาตรการซื้อพันธบัตรมูลค่า 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนประสบความสำเร็จอย่างสูง แต่เศรษฐกิจใน 19 ประเทศสมาชิกยูโรโซนยังคงต้องมีนโยบายกระตุ้นทางการเงินคอยสนับสนุน

นักลงทุนกำลังจับตามองอย่างใกล้ชิดถึงสัญญาณใดๆ ที่จะส่งออกมาจากทางอีซีบี ว่าจะเริ่มต้นการลดขนาดการซื้อพันธบัตรลงในช่วงเวลาใด โดยกำหนดเวลาในปัจจุบันคืออีซีบีจะใช้นโยบายดังกล่าวไปจนถึงเดือนธันวาคมเป็นอย่างน้อย ซึ่งนายดรากีกล่าวว่าอีซีบีจะหารือถึงอนาคตของมาตรการดังกล่าวในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งอาจหมายถึงการประชุมในวันที่ 7 กันยายนนี้เป็นอย่างเร็ว

ขณะที่ฟากฝั่งเฟดนัก ลงทุนก็กำลังจับตามองว่าในการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 19-20 กันยายนนี้ เฟดจะประกาศแผนการลดขนาดงบดุลลงจากมูลค่า 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลงตามความคาดหมายหรือไม่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,292
วันที่ 31 สิงหาคม - 2 กันยายน พ.ศ. 2560

e-book-1-503x62