‘ดวงพร รอดพยาธิ์’ เปิดใจ 3 ปีมหากาพย์ระบายข้าว

02 ก.ย. 2560 | 12:58 น.
เป็นหนังหน้าไฟ และรับภาระในการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลมากว่า 3 ปี แม้จะเป็นงานที่หนักและเสี่ยงกับการขึ้นโรงขึ้นศาล แต่งานท้าทายนี้ก็จำเป็นต้องทำเพื่อประเทศชาติ “ฐานเศรษฐกิจ” ฉบับนี้สัมภาษณ์ “ดวงพร รอดพยาธิ์” อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ แม่งานหลักดูแลการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลที่ตกค้างมาจากโครงการรับจำนำข้าวในรัฐบาลชุดก่อนราว 18 ล้านตันให้หมดไป เพื่อไม่ให้ตกเป็นภาระและค่าใช้จ่ายของแผ่นดินอีกต่อไป ก่อนจะส่งไม้ต่อให้กับอธิบดีคนใหม่ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้

**เร่งระบายลดภาระแผ่นดิน
“ดวงพร” กล่าวว่า นับตั้งแต่รัฐบาลภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ได้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการในด้านต่างๆ ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ในการบริหารจัดการข้าวที่มีอยู่ในสต๊อกราว 18 ล้านตัน หนึ่งในนั้นคือคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และมีอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ นอกจากนี้ยังมีการแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าว 100 ชุด เพื่อตรวจสอบข้าวคงเหลือในคลังกลางของรัฐทั่วประเทศ

“การทำงานของคณะทำงานตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าว มีขั้นตอนกระบวนการอย่างตรงไปตรงมา เช่น ข้าวที่เก็บตัวอย่างมี 1,733 คลัง และมีกองข้าวที่ต้องตรวจ 12,000 กอง จะต้องมีการตรวจสอบว่าในแต่ละกองมีข้าวกี่ชนิด ปริมาณเท่าไหร่ คุณภาพเป็นอย่างไร ซึ่งก็จะมีการลงบัญชีไว้ในเบื้องต้น โดยข้าวที่เก็บตรวจสอบจะมีการแบ่งไว้เป็น 3 ส่วน คือเจ้าของโกดัง เซอร์เวเยอร์ และคณะกรรมการตรวจคุณภาพข้าว ก่อนจะส่งไปตรวจคุณภาพ ซึ่งกระบวนการคัดแยกคุณภาพจะถูกต้องตามมาตรฐานการตรวจของกระทรวงพาณิชย์”

[caption id="attachment_201080" align="aligncenter" width="333"] ดวงพร รอดพยาธิ์ ดวงพร รอดพยาธิ์[/caption]

ทั้งนี้ผลการตรวจวิเคราะห์ข้าว 18 ล้านตัน ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือข้าวที่ถูกมาตรฐาน(เกรด P) มี 2.2 ล้านตัน ข้าวที่ผิดมาตรฐานแต่ยังสามารถ
ปรับปรุงเพื่อการบริโภคได้ 10 ล้านตัน (เกรด A ปริมาณ 6.26 ล้านตัน และเกรด B ปริมาณ 3.74 ล้านตัน) และข้าวที่ตํ่ากว่ามาตรฐานมาก (ข้าวเกรด C มีปริมาณ 5.47 ล้านตัน) ที่ต้องระบายเข้าสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ทำอาหารสัตว์ ใช้ผลิตเอทานอล เป็นต้น และยังมีข้าวผิดชนิดเช่นกองข้าวเหนียวแต่เป็นข้าวขาว หรือกองข้าวขาวแต่เป็นปลายข้าวอีกประมาณ 9 หมื่นตัน

“ในการระบายข้าวแต่ละครั้ง จังหวะและเวลาถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดเพื่อไม่ให้กระทบกับราคาข้าวในตลาด และต้องดูว่าตลาดรับได้หรือไม่ เพราะตลาดเองก็มีข้อจำกัด ประกอบกับยังมีข้าวฤดูการผลิตใหม่ ๆ ออกมาอีกเรื่อยๆ จึงเป็นที่มาของการทำกรอบยุทธศาสตร์การระบายข้าวว่าจะระบายไปในช่องทางใดบ้าง”

**จาก18ล้านเหลือ 8 แสนตัน
“ดวงพร” กล่าวอีกว่า กระทรวงพาณิชย์ต้องเร่งระบายข้าวให้หมดโดยเร็วส่วนหนึ่งมาจากภาระค่าใช้จ่ายต่างๆไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าคลังเอกชนในการเก็บรักษาข้าว รวมถึงภาระดอกเบี้ย โดยในส่วนของค่าเช่าคลังเอกชนในการเก็บรักษาข้าวตกประมาณ 62.9 บาทต่อตันต่อเดือน ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงหากข้าวเก็บไว้เฉยๆ ไม่ทำอะไรเลย

อย่างไรก็ดีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าต่างประเทศ สามารถระบายข้าวในสต๊อกออกไปได้แล้ว 16.1 ล้านตัน ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายต่างๆได้เป็นอย่างมาก ซึ่งขณะนี้มีข้าวที่รอการระบายเหลืออยู่ประมาณ 8 แสนตัน แบ่งเป็นข้าวทั่วไป 2 แสนตัน และข้าวกลุ่ม 3 ที่เป็นข้าวเสื่อมคุณภาพอีกประมาณ 5 แสนตัน ส่วนที่เหลือเป็นข้าวชนิดอื่นๆ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายต่างๆในการเก็บข้าวเหลือหลัก 50 ล้านบาทต่อเดือน

**มีหลักฐานให้เอามายัน
ส่วนกรณีที่มีอดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ร้องเรียนโดยระบุตรวจสอบพบว่าการยื่นประมูลข้าวสำหรับอุตสาหกรรม มีโรงสีข้าวหรือบริษัทเอกชนบางราย ยื่นขอจดทะเบียน รง.4 (ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน) ภายหลังจากมีการยื่นซองประมูลแล้วนั้น กรมยืนยันว่าที่ผ่านมาดำเนินการประมูลโปร่งใสตามกระบวนการ หากมีข้อสังเกตหรือมีการทุจริตจริงก็ให้ผู้ที่ตรวจสอบพบหาหลักฐานมาอ้างอิงหรือยืนยัน เพราะกระบวนการทำงานของภาครัฐ ก่อนจะดำเนินการใดๆต้องมีหลักฐาน และตรวจสอบได้

**มั่นใจทุกขั้นตอนโปร่งใส
“การประมูลทุกครั้ง กรมดำเนินการตรวจสอบหลักฐาน เอกสาร คุณสมบัติต่างๆ ณ วันที่ยื่นประมูล เมื่อตรวจสอบพบว่าไม่ตรงตามเงื่อนไขข้อกำหนด ก็จะตัดสิทธิทันที ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในหลักเกณฑ์อยู่แล้ว อีกทั้งคณะทำงานในการตรวจสอบ ก็ไม่ใช่มีเพียงกรมการค้าต่างประเทศเท่านั้น แต่ยังมีคณะทำงานร่วมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ด้วย ดังนั้นยืนยันได้ว่าทุกอย่างทำตามกระบวนการ หากพบทุจริตก็ขอให้เอาหลักฐานมายืนยัน อย่ากล่าวหา”

**เร่งระบายข้าวเสื่อมต่อ
ส่วนกรณีที่บริษัททีพีเค เอทานอล จำกัด ยื่นฟ้องนบข.และกรมการค้าต่างประเทศกรณีบริษัทถูกระบุขาดคุณสมบัติในการเสนอซื้อข้าวสาร(ข้าวเสื่อมคุณภาพ)ในสต๊อกของรัฐต่อศาลปกครองสูงสุดนั้น ศาลปกครองได้มีคำสั่งยกฟ้อง ดังนั้นกระบวนการเปิดระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาล สามารถเดินหน้าประมูลต่อได้

“กรมจะเดินหน้าเปิดประมูลข้าวในสต๊อกที่เหลืออยู่ โดยจะมีการนัดหารือคณะทำงาน และเตรียมเปิดประมูลข้าวกลุ่ม 3 หรือข้าวที่ไม่ใช่เพื่อการบริโภคของคนและสัตว์ ซึ่งเหลืออยู่ราว 5 แสนตัน เป็นกลุ่มแรกภายในเดือนสิงหาคม เรื่องนี้กรมคงไม่ฟ้องกลับแต่ขอทำงานตรงนี้ให้เสร็จก่อน เพราะพอเกิดปัญหานี้ส่งผลให้การระบายข้าวล่าช้าออก ไปจากเดิมกรมตั้งเป้าจะต้องปิดการระบายข้าวเสื่อมให้หมดได้ภายในเดือนกรกฎาคม แต่พอเจอปัญหาก็ต้องเลื่อน แต่ทั้งนี้จะพยายามระบายให้หมดภายในเดือนสิงหาคมนี้หรือในเร็วๆ นี้ให้ได้”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,292
วันที่ 31 สิงหาคม - 2 กันยายน พ.ศ. 2560