จ่อคลอด‘บรรษัทวิสาหกิจ’ ตั้ง‘ซูเปอร์โฮลดิ้ง’คุม11รสก.

30 ส.ค. 2560 | 10:27 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ที่ผ่านมารัฐวิสาหกิจไทยหลายแห่งถูกวิจารณ์หนาหูว่า ไร้ประสิทธิภาพในการทำงาน เป็นแหล่งผลประโยชน์ของฝ่ายต่างๆ ไม่เฉพาะแค่ฟากนักการเมืองที่แทรกแซงตั้งพวกพ้องเข้ามาเป็นบอร์ดบริหารงาน ในขณะที่บางแห่งขาดผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความสามารถส่งผลให้ประสบปัญหาขาดทุน กระทั่ง คณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้อนุมัติหลักการร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ... ขึ้น เพื่อใช้กำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ(รสก.) ที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพ ล่าสุดสัปดาห์หน้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เตรียมพิจารณาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวเพื่อออกเป็นกฎหมายบังคับใช้

**คนร.กำหนดเป้า-นโยบาย
ในร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจฉบับนี้ ยังคงให้มี “คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)” ทำหน้าที่กำหนดเป้าหมาย นโยบายและทิศทางการพัฒนารัฐวิสาหกิจในภาพรวมทั้งระบบให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ รวมถึงส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจดำเนินกิจการอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส รับกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีการประเมินผลการดำเนินกิจการต่อเนื่อง และให้มีกลไกสนับสนุนให้คัดเลือกและการปฏิบัติงานของกรรมการรัฐวิสาหกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ให้นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ คนร. มีรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย 1 คน เป็นรองประธาน มีกรรมการโดยตำแหน่ง 8 คน ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีอื่นซึ่งครม.แต่งตั้ง 2 คน มีปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และประธานกรรมการบรรษัท และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งครม.แต่งตั้งจำนวน 5 คน มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี ให้ผู้อำนวยการ เป็นกรรมการและเลขานุการ และข้าราชการในสำนักงานซึ่งผู้อำนวยการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเลขานุการได้ไม่เกิน 2 คน

สำหรับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 5 รายนั้น ในร่างฉบับนี้ได้กำหนดคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเอาไว้อย่างชัดเจน กำหนดให้ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์อันเป็นประโยชน์ต่อการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ ต้องเป็นบุคคลที่ไม่มีลักษณะต้องห้าม 9 ข้อ อาทิ เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ไม่ว่าจะมีการรอการลงโทษหรือไม่ก็ตาม เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ, เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะรํ่ารวยผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ, เป็นข้าราชการการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง เจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น และเป็นกรรมการผู้บริหาร หรือพนักงานของรัฐวิสาหกิจหรือบรรษัท เป็นต้น

การพ้นจากตำแหน่งตามวาระแล้ว ในร่างยังกำหนดให้พ้นจากตำแหน่งได้ กรณีที่ครม.ให้ออกตามข้อเสนอแนะของ คนร. เนื่องจากทุจริตต่อหน้าที่หรือมีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรงโดยให้เหตุผลในการให้ออกอย่างชัดเจน เป็นต้น

**“ซูเปอร์โฮลดิ้ง”ถือหุ้นรสก.
อีกเรื่องสำคัญที่ปรากฎอยู่ในร่างกฎหมายฉบับนี้ คือ การให้จัดตั้ง “บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ” ขึ้นเป็นนิติบุคคลหรือที่เราเรียกกันว่า “ซูเปอร์โฮลดิ้ง” เพื่อถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจในกำกับของบรรษัท และกำกับดูแลการประกอบกิจการของรัฐวิสาหกิจในฐานะผู้ถือหุ้นให้เกิดผลตอบ แทนที่เหมาะสม และสอดคล้องกับแผนยุทธ-ศาสตร์รัฐวิสาหกิจ รวมทั้งลงทุนและบริหารทรัพย์สินของบรรษัท ตลอดจนสามารถถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินและหลักทรัพย์ มีสิทธิครอบครอง และมีทรัพยสิทธิต่างๆ สามารถก่อตั้งสิทธิหรือกระทำนิติกรรมใดๆ ทั้งในและนอกราชอาณาจักร รวมถึงการคํ้าประกันหรือรับรอง รับอาวัล หรือสอดเข้าแก้หน้าในตั๋วเงินกู้หรือยืมเงินในหรือนอกราชอาณาจักรเพื่อกิจการของบรรษัทได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่ คนร.กำหนด

โดยบรรษัทมีทุน 1 พันล้านบาท แบ่งเป็น 100 ล้านหุ้นมีมูลค่าหุ้นละ 10 บาท บรรษัทอาจเพิ่มทุนหรือลดทุนได้โดยเสนอกระทรวงการคลังเพื่อเสนอต่อ คนร.ให้ความเห็นชอบ และให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบรรษัท และหุ้นทุกหุ้นของบรรษัทต้องใช้เงินครั้งเดียวเต็มมูลค่าและโอนเปลี่ยนมือมิได้

ขณะที่ในส่วนของ “คณะกรรมการบรรษัท” นั้น ให้ คนร.แต่งตั้ง ซึ่งประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้จากการสรรหา 9 คน เป็นกรรมการ และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่เป็นกรรมการและเลขานุการ ทั้งยังกำหนดให้ คนร.แต่งตั้ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นประธานกรรมการบรรษัทและรองประธานกรรมการบรรษัท กรณีที่ประธานกรรมการบรรษัทไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือตำแหน่งประธานกรรมการบรรษัทว่างลง และยังมิได้มีการแต่งตั้งประธานกรรมการบรรษัท ให้รองประธานกรรมการบรรษัทปฏิบัติหน้าที่แทน และให้กรณีที่ไม่มี
รองประธานกรรมการบรรษัท ให้ประธาน คนร.แต่งตั้ง กรรมการบรรษัทคนหนึ่งปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการบรรษัท

สำหรับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒินั้น ได้กำหนดคุณสมบัติต้องห้ามเอาไว้หลายประการ อาทิ เป็นข้าราชการการเมือง
ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง เจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น และเป็นกรรมการผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจในการจัดการในนิติบุคคลที่บรรษัทถือหุ้นตั้งแต่ 25% ขึ้นไปหรือมีอำนาจควบคุมกิจการ เว้นแต่คณะกรรมการบรรษัทมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ผู้บริหาร หรือดำเนินกิจการใดในนิติบุคคลดังกล่าว เป็นต้น

TP14-3291-A **จับสลากเก้าอี้ก.ก.ทรงคุณวุฒิ
ที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย คือ ในกฎหมายกำหนดให้ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มีวาระดำรงตำ แหน่งคราวละ 6 ปี สำหรับวาระเริ่มแรก เมื่อครบกำหนด 2 ปี ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ คนร.แต่งตั้งขึ้น พ้นจากตำแหน่งเป็นจำนวน 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหมดด้วยวิธีการจับสลาก และเมื่อ ครบกำหนด 4 ปี ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในจำนวนที่เหลือจากการจับสลากเมื่อครบกำหนด 2 ปีพ้นจากตำแหน่ง เป็นจำนวน 1 ใน 2 ของจำนวนดังกล่าวด้วยวิธีจับสลาก โดยให้ถือว่า การ พ้นจากตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิโดยวิธีการจับสลากเป็นการพ้นจากตำแหน่งตาม วาระ ทั้งนี้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ อาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้

ขณะที่ตำแหน่ง “กรรมการผู้อำนวยการใหญ่” นั้น กำหนดให้ต้องเป็นบุคคลที่มีอายุไม่เกิน 63 ปีในวันยื่นใบสมัคร และต้องเปิดเผยหลักเกณฑ์และกระบวนการได้มาซึ่งตัวกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ต่อสาธารณชนให้รับทราบ ทั้งนี้ กฎหมายห้ามไม่ให้กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ดังกล่าว เป็นผู้ถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจในกำกับของบรรษัท นิติบุคคลที่บรรษัทหรือรัฐวิสาหกิจในกำกับดูแลของบรรษัทถือหุ้นเกินกว่า 20% หรือมีอำนาจควบคุมกิจการนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ร่วมลงทุนกับบรรษัท หรือนิติบุคคลซึ่งโดยสภาพของประโยชน์ของธุรกิจของนิติบุคคลนั้นอาจขัดหรือแย้งกับผลประโยชน์ของบรรษัท เว้นแต่เป็นเพียงผู้ถือหุ้นเพื่อประโยชน์ในการลงทุนตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการบรรษัทกำหนดไว้ เป็นต้น

ร่างกฎหมายได้กำหนดบทลงโทษเอาไว้ด้วยว่า ผู้ใดล่วงรู้ข้อมูลหรือกิจการของบรรษัท หรือรัฐวิสาหกิจเนื่องจากการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ หรือเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือผู้ที่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในกฎหมายฉบับนี้นั้น ผู้นำไปเปิดเผยแก่บุคคลอื่นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้หากใช้หรือ เปิดเผยข้อมูลหรือกิจการเพื่อแสวงหาประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 เท่าของประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงจะได้รับจากการกระทำดังกล่าว โดยต้องไม่ตํ่ากว่า 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

**หวั่นหนักกว่าแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า เท่าที่ดูกฎหมายฉบับนี้จะรวมรัฐวิสาหกิจที่มีอยู่ 11 แห่ง ให้เป็นบรรษัทรัฐวิสาหกิจบริหารในลักษณะบอร์ด โดยมีคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เป็นผู้กำกับดูแล ในมาตรา 44-48 กำหนดให้ คนร.แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ 9 คนมาบริหารบรรษัทรัฐวิสาหกิจ ซึ่งบรรษัทนี้จะรวบรวมกิจการ หุ้น ที่กระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ให้มารวมไว้ในที่เดียวกัน หรือเป็นการบริหารแทนกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะเอาสมบัติของชาติมาให้เอกชนดูแล

“บรรษัทแห่งชาติจะดูแลควบคุมการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจทั้งหมด หรือทุกอย่างอยู่ในอุ้งมือของบรรษัทสามารถบริหารอย่างไรก็ได้ และหากผู้ทรงคุณวุฒิมาจากนักการเมืองที่ไม่ดี ประเทศชาติจะเป็นอย่างไร ผมหวั่นว่า จะมีการเล่นแร่แปรธาตุสมบัติของชาติ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะหนักกว่าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอีก”

นอกจากนี้กฎหมายยังไม่ได้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนหรือผู้ที่เกี่ยว ข้องอย่างครบถ้วน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 มี
เพียงรับฟังจากผู้ถือหุ้นคนบางกลุ่ม ขณะที่ตัวแทนจากสหภาพของรัฐวิสาหกิจมีการรับฟังน้อยมาก บางแห่งก็ไม่ได้รับฟัง ถือว่าไม่ได้รับฟังอย่างครบถ้วนดีพอที่จะสามารถส่งมายัง สนช.ให้พิจารณากฎหมายนี้ได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,291 วันที่ 27 - 30 สิงหาคม พ.ศ. 2560