บูธแลกเงินเดือดรับทัวร์พุ่ง

24 ส.ค. 2560 | 13:01 น.
ร้านแลกเงินแข่งเดือด แบงก์-เอ็มซี ปรับกลยุทธ์ชิงเค้ก กรุงศรีเพิ่มจุดขาย “ซูเปอร์บูธ” ทำได้มากกว่าแลกเปลี่ยนเงิน ด้านซุปเปอร์ริชสีส้มรุกดิจิตอล ยื่นแบงก์ชาติเชื่อมเกตเวย์แบงก์ซื้อขายผ่านออนไลน์

นายพงษ์อนันต์ ธณัติไตร ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจลูกค้ารายย่อยและเครือข่ายการขาย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตรามีแนวโน้มแข่งขันมากขึ้นทั้งจากธนาคารพาณิชย์และผู้ประกอบการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ(money changer:MC) ตามปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น

[caption id="attachment_71189" align="aligncenter" width="378"] พงษ์อนันต์ ธณัติไตร พงษ์อนันต์ ธณัติไตร[/caption]

การแข่งขันที่มากขึ้นทำให้ธนาคารต้องปรับตัวโดยมีการบริหารเครือข่ายให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด เช่น การเปิดบูธใหม่ในพื้นที่ที่มีศักยภาพ และปิดบางบูธที่ปริมาณธุรกรรมไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ขณะที่บางบูธได้พัฒนาให้เป็น super booth โดยลูกค้าสามารถเข้ามาทำธุรกรรมชำระเงินบิลต่างๆเพิ่มเติม

ปัจจุบันกรุงศรีมีบูธรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ จำนวน 96 แห่ง แบ่งเป็นบูธ standalone จำนวน 54 แห่ง Mobile Van จำนวน 3 แห่ง บูธหน้าสาขาของธนาคาร จำนวน 39 แห่ง นอกจากนี้ยังมีเคาน์เตอร์บริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในทุกสาขาของธนาคารกรุงศรีอีกด้วย

นายฐานิศร์ ศาสตราวาหะ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายปริวรรตเงินตราต่างประเทศ ธนาคารธนชาต กล่าวว่า ภาพรวมการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น ภายหลังจากธปท.เปิดเสรีให้ MC จดทะเบียนประกอบธุรกิจได้ และจะเห็นว่า MC รายใหญ่เริ่มมาบุกธุรกิจมากขึ้น โดยการขยายสาขาในห้างสรรพสินค้าและบนสถานีรถไฟฟ้ามากขึ้น ทำให้ธนาคารพาณิชย์ที่เดิมเคยทำธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้รับผลกระทบ จะต้องปรับเปลี่ยนแผนการทำธุรกิจ เช่น การปรับสาขาให้บริการในบางพื้นที่ หรือปรับเรตราคาให้มีความเหมาะสมและสามารถแข่งขันได้

นอกจากผู้ประกอบการ MC ที่เข้ามาแข่งขันมากขึ้น จะเห็นแนวโน้มลูกค้าที่หันมาใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น และในอนาคตการใช้เงินสดจะลดน้อยลงตามนโยบายสังคมไร้เงินสด ซึ่งจะเห็นบูธแลกเงินสดทยอยลดลงตามปริมาณธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินตราที่ลดลงด้วย ดังนั้นธนาคารจึงต้องปรับตัวรูปแบบการทำธุรกรรมที่ได้มากกว่าแลกเงิน เพื่อให้เหมาะสมกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การพัฒนาแอพพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือในการทำธุรกรรมแลกเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า หรือทำธุรกรรมที่มากขึ้นกว่าเดิม เป็นต้น

[caption id="attachment_198855" align="aligncenter" width="503"] ปิยะ ตันติเวชยานนท์ ปิยะ ตันติเวชยานนท์[/caption]

นายปิยะ ตันติเวชยานนท์ ประธานกรรมการบริษัท ซุปเปอร์ริช อินเตอร์เนชั่นแนเอ็กซ์เชนจ์ (1965)ฯ หรือ ซุปเปอร์สีส้ม เปิดเผยว่า แนวโน้มการแข่งขันธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศรุนแรงมากขึ้น โดยการแข่งขันไม่ได้เกิดขึ้นแค่ระหว่างธนาคารพาณิชย์และผู้ประกอบการ MC แต่ตอนนี้ต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับอุปกรณ์เครื่องมือที่เข้ามาทดแทนการใช้เงินสดมากขึ้น เช่น กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Wallet) บัตรเครดิต โมบายแบงกิ้ง เป็นต้น
ทั้งนี้ในส่วนของบริษัทกำลังขออนุญาตจากธปท.เพื่อเชื่อม Gate Way กับธนาคารเพื่อทำระบบรับซื้อ-จ่าย หรือรับจองแบบออนไลน์ให้สะดวกยิ่งขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,290 วันที่ 24 - 26 สิงหาคม พ.ศ. 2560