ธปท.เดินเฟส2อี-วอลเล็ต

21 ส.ค. 2560 | 07:43 น.
แบงก์ชาติปลื้มยอดพร้อมเพย์กระเตื้อง หลังยอดผูกบัญชีทะลุ 32 ล้านหมายเลข ยอดโอนเงินสะสมกว่า 1.053 แสนล้านบาท รุกต่อเดินหน้าเฟส 2 เชื่อม อี-วอลเล็ตและ บริการเรียกเก็บเงินหลังสนช.ผ่านร่างพ.ร.บ.ระบบการชำระเงิน พ.ศ.2560

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ยอดลงทะเบียนบริการรับและโอนเงินรูปแบบใหม่ (PromptPay) ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมามียอดลงทะเบียนผูกบัญชีแล้วจำนวน 32 ล้านหมายเลข โดยยังคงเป้าหมายการผูกบัญชีภายในสิ้นปีอยู่ที่ 40 ล้านหมายเลข

ขณะที่มีธุรกรรมโอนเงินสะสมผ่านระบบนับจากวันที่เริ่มให้บริการมีมูลค่ามากกว่า 1.053 แสนล้านบาท ถือเป็นมูลค่าสะสมที่ค่อนข้างดี และคาดว่าจะสามารถเติบโตได้อีกค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับช่องทางบริการอื่นๆ

สำหรับปริมาณธุรกรรมเติบโตได้ค่อนข้างน่าพอใจ โดยในเดือนมิถุนายนมียอดธุรกรรมจำนวน 2.3 แสนรายการต่อวัน และในเดือนกรกฎาคมปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2.9 แสนรายการต่อวัน โดยมีมูลค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 5,238 บาทต่อรายการ

อย่างไรก็ดี แม้จะมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่าน่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อีก โดยธปท.ต้องการให้การทำธุรกรรมผ่านพร้อมเพย์เป็นส่วนหนึ่งในการโอนเงินของคนไทย ขณะที่ยอดผูกบัญชีพร้อมเพย์นิติบุคคลมีผู้ลงทะเบียนแล้ว 45,379 ราย (ณ วันที่ 13 สิงหาคม 2560)

[caption id="attachment_15485" align="aligncenter" width="503"] ดร.วิรไท สันติประภพ ดร.วิรไท สันติประภพ[/caption]

นายวิรไท กล่าวว่า ในระยะถัดไปการให้บริการพร้อมเพย์จะนำ E-Wallet เข้ามาร่วมด้วยภายในเดือนหน้า และจะให้บริการเรียกเก็บเงินผ่านพร้อมเพย์ในช่วงปลายปีนี้ที่จะช่วยสนับสนุนการค้าขายผ่านออนไลน์ หรือ E-Commerce เพื่อให้ร้านค้าสามารถตรวจสอบหรือลงบัญชียอดค้าขายได้ถูกต้องตามจริง เช่น เดิมลูกค้าซื้อของมูลค่า 800 บาท แต่ร้านค้าต้องให้ลูกค้าโอนเงิน 801 บาท เพื่อตรวจสอบยอดได้ แต่หากมี Request to pay จะช่วยตรวจสอบธุรกรรมได้อย่างถูกต้อง ส่วนการออก QR CODE มาตรฐานนั้นคาดว่าจะทำได้ภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับผู้บริโภคได้อีกทางหนึ่ง

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงิน และเทคโนโลยีทางการเงิน กล่าวว่า เมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระบบการชำระเงิน พ.ศ.2560 ซึ่งตอนนี้รอลงพระราชกิจจานุเบกษา และกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ 180 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งคาดว่าน่าจะประกาศได้ในช่วงปลายไตรมาส 3 หรือต้นไตรมาส 4 ปีนี้ และเปิดให้ผู้ให้บริการรายเดิมสามารถยื่นขอรับใบอนุญาตหรือขอขึ้นทะเบียนภายใน 120 วันนับแต่วันที่ร่างพ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ โดยจะบังคับใช้ช่วงปลายไตรมาส 1 หรือต้นไตรมาส 2 ในปีหน้า

หลักการของพ.ร.บ.ชำระเงิน นอกจากเป็นการบูรณาการกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับระบบการชำระเงินแล้ว ยังช่วยยกระดับการกำกับดูแลตามมาตรฐานสากลและเอื้อต่อนวัตกรรมใหม่ โดยมีเป้าหมายสำคัญ 4 ประการ คือ 1. ระบบชำระเงินสอดคล้องกับมาตรฐานสากล 2. กฎหมายกำกับดูแลที่เป็นเอกภาพและเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลเสถียรภาพระบบการชำระเงิน 3. การกำกับดูแลที่ยืดหยุ่นเอื้อต่อนวัตกรรมใหม่ๆ และ 4. เสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันพัฒนาระบบการชำระเงินสู่ภูมิภาค

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,29 วันที่ 20 - 23 สิงหาคม พ.ศ. 2560