เมืองไทยฯ โค่น! AIA แชมป์เบี้ยรับครั้งแรก ‘ประกัน’ แจ้งกำไรทรุด

20 ส.ค. 2560 | 11:19 น.
เมืองไทยประกันชีวิต ทำได้! กวาดเบี้ยรับปีแรกครึ่งปี 5.7 หมื่นล้านบาท แซงเจ้าตลาด AIA ขึ้นเป็นเบอร์ 1 ครั้งแรก ขณะที่“ประกัน”ประกาศงบไตรมาส 2 ปี 2560 รายได้และกำไรทรุด 3-4% เหตุรายได้เบี้ยรับปีแรกลด สำรองเพิ่มและกำไรเงินลงทุนลด “กรุงเทพ-ทิพย” มั่นใจครึ่งปีหลังสดใส

บริษัทประกันภัยและบริษัทประกันชีวิตที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2560 ปรับตัวลดลงทั้งในกำไรสุทธิและรายได้ โดยมีกำไรสุทธิ 3,240 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 3,380 ล้านบาท หรือลดลง 4%

ส่วนรายได้ไตรมาส 2/2560 รวมทั้งระบบ 29,655 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 30,590 ล้านบาท หรือลดลง 3.5%

สำหรับเบี้ยประกันชีวิตรับรวมของทั้งระบบ ณ 30 มิถุนายน 2560 มีจำนวน 297,625 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.8% แยกเป็นเบี้ยประกันชีวิตรับรายใหม่จำนวน 82,961 ล้านบาท ขยายตัว 2.7% และเบี้ยประกันรับปีต่อไป 214,663 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.48%

โดยบริษัทประกันที่มีเบี้ยประกันรับสูงสุดได้แก่ บริษัทเมืองไทยประกันชีวิตฯ จำนวน 57,894 ล้านบาท ส่วนแบ่งตลาด 19.45% อันดับ 2 บริษัทเอไอเอฯ จำนวน 57,765 ล้านบาท ส่วนแบ่งตลาด 19.41% อันดับ 3 บริษัทไทยประกันชีวิตฯ จำนวน 38,607 ล้านบาท ส่วนแบ่งตลาด 12.97% เป็นที่น่าสังเกตว่า เบี้ยรับปีแรกของบริษัทเมืองไทยประกันชีวิตฯ ในงวดไตรมาส 2 ปี 2560 เป็นครั้งแรกที่มีส่วนแบ่งตลาดขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของตลาด ชนะเจ้าตลาดตลอดกาลอย่างเอไอเอ

บริษัทกรุงเทพประกันชีวิตฯยังเป็นบริษัทที่มีกำไรสูงสุดในระบบในงวดนี้ด้วยจำนวน 1,223 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 1,392 ล้านบาท ขณะที่รายได้ลดลงจาก 11,359 ล้านบาท เหลือเพียง 11,300 ล้านบาท

ขณะที่บริษัทในเครือเดียวกันอย่างบริษัทกรุงเทพประกันภัยฯ ตามมาเป็นอันดับ 2 ประกาศกำไรสุทธิ 736 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 768 ล้านบาท ส่วนรายได้ในงวดนี้ 3,427 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 3,390 ล้านบาท

อันดับ 3 ของบริษัทประกันที่ทำกำไรมากสุดคือ บริษัททิพยประกันภัยฯ ที่กวาดกำไร 423 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่กำไร 435 ล้านบาท โดยรายได้ลดลงเช่นกันจาก 5,159 ล้านบาท มาที่ 4,600 ล้านบาท

MP24-3289-A บริษัทกรุงเทพประกันชีวิตฯ ระบุว่า ไตรมาส 2 บริษัทมีเบี้ยประกันภัยรับสุทธิ 7,920 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% เบี้ยปีแรกรับจำนวน 1,874 ล้านบาท ลดลง 6% โดยแบบประกันแบบตลอดชีพได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น

ส่วนเบี้ยประกันรับปีต่อไปมีอัตราการเติบโต 11% เนื่องจากความนิยมในผลิตภัณฑ์ที่ออกจำหน่ายและการขยายตัวของขนาดธุรกิจบริษัท

ในไตรมาส 2/2560 กรุงเทพประกันชีวิต มีรายได้จากการลงทุน 2,857 ล้านบาท และมีกำไรจากการขายเงินลงทุน 487 ล้านบาท และขาดทุนจากการปรับมูลค่า 59 ล้านบาทในด้านค่าใช้จ่าย เพิ่มขึ้นถึง 1,292% หรือ เพิ่มจากติดลบ 788 ล้านบาท เป็น 9,395 ล้านบาท มาจาก 2 ส่วน ได้แก่ 1.สำรองประกันภัยสำหรับสัญญาประกันภัยระยะยาว เพิ่มขึ้น 9,731 ล้านบาท หรือ 161% จากติดลบ 6,037 ล้านบาท เป็น 3,694 ล้านบาท และ 2.ผลประโยชน์จ่ายตามกรมธรรม์และค่าสินไหมทดแทนเพิ่มขึ้น 9.4%

นายวิพล วรเสาหฤท กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทกรุงเทพประกันชีวิตฯ กล่าวว่า ครึ่งปีหลัง ตลาดจะกลับมาฟื้นตัว เพราะว่าส่วนหนึ่งแต่ละค่ายจะปรับตัวโดยการออกผลิตภัณฑ์ใหม่มาทำตลาด ปลายปีจะมีการซื้อประกันชีวิตเพื่อเคลมภาษี และผู้บริโภคจะหันมาใช้ช่องทางประกันชีวิตเป็นทางเลือกในการออมมากขึ้น

“เราตั้งเป้าทั้งปีโต 17% แต่ครึ่งแรกได้มา 7% ครึ่งปีหลังคงจะรุกมากขึ้น ทุกคนก็เหนื่อย เราก็เหนื่อย ปัญหาสำคัญของตลาดประกันชีวิตคือการเข้าถึงคน ให้ความรู้ และให้เข้าใจกับประกันชีวิต”

นายนพพร บุญลาโภ กรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัททิพยประกันชีวิต จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ความเสี่ยงในครึ่งปีหลัง คืออัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับตํ่า และมาตรฐานบัญชีใหม่ ที่จะมีผลต่อการดำเนินธุรกิจ แต่จะเป็นโอกาสสำหรับลูกค้าเงินฝาก จะหันมาออมเงินผ่านประกันชีวิตมากขึ้น

“ไตรมาส 3 และ 4 ตลาดจะกลับมาคึกคักอีกรอบ ทิพยประกัน นอกจากจะมีโปรดักต์ใหม่ออกมาเป็นทางเลือกกับลูกค้าผ่านธนาคารออมสินแล้ว จะยกระดับตัวแทนให้แข็งแรงขึ้น”

[caption id="attachment_188797" align="aligncenter" width="333"] จีรพันธ์ อัศวะธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย จีรพันธ์ อัศวะธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย[/caption]

นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัย กล่าวว่า ครึ่งปีหลังตลาดประกันมีแต่ปัจจัยบวก เช่นกำลังซื้อมั่นใจว่ากลับมา จากเศรษฐกิจไทยที่กระจายตัวมากขึ้น และการส่งออกดี ประกอบรัฐบาลจะมีการกระจายเม็ดเงินถึงผู้บริโภคในไตรมาส 4 ปีนี้ โดยเฉพาะไตรมาส 3 และ 4 ค่ายรถยนต์จะออกรถใหม่ออกมาทำตลาดมากขึ้น บวกกับประกันสุขภาพที่คาดว่าจะหักลดหย่อนภาษีได้ 15,000 บาท จะใช้ทันในปีนี้

“ปัญหาการเคลม ไม่มีภัยใหญ่ นํ้าท่วมไม่ขยายวงมากกว่าปัจจุบัน ประกอบกับการบรรเทาสาธารณภัยทำได้รวดเร็วขึ้น จำนวนรถที่เสียหายประมาณ 600-700 คัน บ้านจำนวนหนึ่ง แต่ภาคเกษตรน่าจะเสียหายมากที่สุด รอภาครัฐสรุปอีกครั้ง”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,289 วันที่ 20 - 23 สิงหาคม พ.ศ. 2560