คดี‘จำนำข้าว’ผิด-ถูกอยู่ที่‘ยิ่งลักษณ์’

21 ส.ค. 2560 | 13:31 น.
TP14-3289-B เพราะทุกอย่างเป็นไปตามกรรม...ใคร?ทำกรรมอะไร?ไว้ก็ต้องได้รับผลของการกระทำนั้นๆ ไม่มีข้อยกเว้น จะดราม่าจนนํ้าตาแตก หรือนำมวลชนมาเชียร์มากน้อยขนาดไหน?ก็คงช่วยอะไร?ได้ไม่มากนัก!?!?

หลังจากรอคอยกันมาร่วม 3 ปี วันศุกร์นี้ (25 ส.ค.) คดีที่อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปล่อยปละละเลยไม่เข้าไปแก้ปัญหาทุจริตโครงการจำนำข้าว และคดีระบายข้าวแบบจีทูจี ของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ ก็ถึงกำหนดที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะมีคำพิพากษาตัดสินเสียที

และไม่ว่าคำพิพากษาของศาลฯ จะมีคำตัดสินออกมาว่าอย่างไร? วันดังกล่าวนั้น ก็จะถือเป็นวันประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยอีกครั้ง ว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ถือว่าเป็นศาลสูงสุด จะมีคำพิพากษาให้อดีตนายกรัฐมนตรีต้องโทษจำคุกเป็นรายที่ 2หรือไม่!?

เพราะก่อนหน้านี้ เคยพิพากษาให้อดีตนายกฯ นายทักษิณ ชินวัตร พี่ชายของเธอต้องโทษจำคุกในคดีที่ดินรัชดาฯ หากแต่จำเลยหลบหนีไม่ยอมมาฟังคำพิพากษา จึงเป็นเพียงคำพิพากษาที่ไม่สามารถบังคับจำเลยใดๆ ได้ตราบจนถึงวันนี้
ขณะที่คดีอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์นั้น ทีมทนายความพยายามที่จะให้ศาลฯ ยืดเวลาการตัดสินคดีไปอีกสักระยะหนึ่ง โดยเสนอคำร้องขอให้ศาลฯ พิจารณาประเด็นกฎหมายว่ามาตรา 5 ของพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 จะไปขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ปี 2560 หรือไม่?

โดยศาลฯ ได้มีคำวินิจฉัยออกมาแล้วว่า คดีนี้ศาลฯ ได้ให้โอกาสคู่ความทุกฝ่ายเต็มที่ในการนำพยานบุคคลไต่สวน เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตามหลักกฎหมายแล้ว ดังนั้นที่จำเลยยื่นขอส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยบทกฎหมายเรื่องดุลพินิจศาลในการไต่สวนพยาน จึงไม่มีเหตุให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญและให้ยกคำร้องนั้น

ซึ่งฝ่ายทนายความของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ก็ไม่ยอมยกธงขาวง่ายๆ ขออุทธรณ์คำสั่งไม่ส่งคำโต้แย้งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยดังกล่าว ว่าเป็น กระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบขอให้ศาลเพิกถอน และส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอีกครั้ง โดยอ้างว่าการใช้สิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิของคู่ความที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้...

ทำไม?ทีมทนายฝ่ายจำเลยจึงต้องใช้ความพยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประเด็นกฎหมายขัดหรือแย้งรัฐธรรมฉบับปัจจุบัน ทั้งๆ ที่หากพิจารณารายละเอียดต่างๆ แล้ว ประเด็นทีมทนายนำมาอ้างก็เป็นแค่เรื่องหยุมหยิมเท่านั้น

แต่ถ้ามองว่า ฝ่ายจำเลยเห็นว่ามี “ลุ้น” ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญใช้บังคับไม่ได้ เพื่อให้คดีไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ก็บอกตรงๆ ว่า เป็นไปได้ยากมาก

เมื่อเป็นอย่างนี้ จึงมองสิ่งที่ทีมกฎหมายอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ต้องการได้ไม่ยาก นั่นก็คือ คาดหวังว่าศาลจะเลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไปก่อนสักระยะหนึ่ง เพราะตามรัฐธรรมนูญแล้ว หากมีการโต้แย้งประเด็นเรื่องกฎหมายว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้ ศาลฯที่ดำเนินคดีอยู่นั้นจะยังอ่านคำพิพากษาไม่ได้ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะชี้ขาดประเด็นขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญลงมาเสียก่อน

แต่ที่สร้างความฮือฮาในท่ามกลางสถานการณ์มากที่สุด กลับเป็นคำให้สัมภาษณ์ของนายมีชัย ฤชุพันธ์ มือกฎหมายคนสำคัญของ “รัฐบาลและคสช.” ที่บอกว่า อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์อาจจะใช้สิทธิอุทธรณ์คดีได้ตามกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ฉบับใหม่) กล่าวคือหลังจากที่มีการอ่านคำพิพากษาในวันที่ 25 สิงหาคม ก็ให้ใช้สิทธิยื่นประกันตัวได้

มาถึงตรงนี้ ก็คงจะสรุปกันได้ไม่ยากแล้วว่า ศาลฯ จะมีคำพิพากษาตัดสินออกมาว่าอย่างไร? จึงไม่แปลกใจที่มีข่าวการเคลื่อนไหวของมวลชนที่เป็น “แฟนคลับ” อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์กันอย่างคึกคักประมาณว่ามีจำนวนมาก จนฝ่าย “รัฐบาลและคสช.” ก็ต้องมีการจัดเตรียมกำลังทหารและตำรวจเพื่อป้องปราม สกัด “กั้น” ไม่ให้แฟนคลับเดินทางเข้ากรุงเทพฯ

ดังนั้น ช่วงตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป จึงเป็นช่วงเวลาที่ทุกฝ่ายจะต้องติดตามสถานการณ์กันอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของมวลชนกลุ่มต่างๆ ไม่เว้นกระทั่ง “ลุ้น” ว่า จะมีตัวจำเลยเดินทางมาที่ศาล เพื่อฟังคำพิพากษาหรือไม่? หรือประวัติศาสตร์จะบันทึกเรื่องราวใหม่ ศาลเลื่อนอ่านคำพิพากษาตัดสิน...

ห้ามกะพริบตา เพราะคดีสำคัญนี้ เดิมพันสูงกันทั้งสองฝ่าย คำพิพากษาของศาลไม่ว่าจะออกมาว่าอย่างไร? ตัดสินลงโทษจำเลย หรือกระทั่งจำเลยไม่มีความผิด สามารถเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์การเมืองไทยได้ชั่วข้ามคืน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,289 วันที่ 20 - 23 สิงหาคม พ.ศ. 2560