รมว.มาเลเซียชมศูนย์วิทย์ฯจุฬาผนึกพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าสู่อันดับหนึ่งฮาลาลโลก

14 ส.ค. 2560 | 12:06 น.
รัฐบาลมาเลเซีย พร้อมคณะเดินทางเยือนประเทศไทย เข้าเยี่ยมชมศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หวังสร้างความร่วมมือระหว่างมาเลเซียและประเทศไทยด้านการพัฒนางานรับรองฮาลาล และกระบวนการใช้วิทยาศาสตร์ฮาลาลที่มีความก้าวหน้าในระดับสูงของประเทศไทย หวังร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลทั้ง 2 ประเทศสู่อันดับหนึ่งฮาลาลโลก

ดาโต๊ะ สะรี ฮัมซะฮฺ ไซนุดดิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้า สหกรณ์และผู้บริโภค ประเทศมาเลเซีย นำคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงฯ พร้อมผู้แทนทางการค้าของมาเลเซีย เข้าเยี่ยมศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล พร้อมด้วยทีมบริหารของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล และรศ.ดร.ปกรณ์ ปรียากร ผู้อำนวยการสถาบันมาตรฐาน
ฮาลาลแห่งประเทศไทย
ha

รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล เผยว่า การเข้าเยี่ยมชมของคณะ รมต.มาเลเซีย ครั้งนี้ เพราะต้องการทราบความก้าวหน้าของฮาลาลประเทศไทย และประสงค์จะสร้างความร่วมมือระหว่างมาเลเซียและประเทศไทยด้านการพัฒนางานรับรองฮาลาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการใช้วิทยาศาสตร์ฮาลาล ซึ่งทางมาเลเซียยอมรับว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้าทางด้านนี้ในระดับสูง ได้เห็นระบบห้องปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาล เห็นการดำเนินงานวางระบบการมาตรฐานฮาลาล ได้ชมการสาธิตระบบไอทีและแอพพลิเคชั่นที่พัฒนาขึ้น อีกทั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลยังได้พัฒนาระบบ H-Number จนเสร็จสิ้น และเมื่อต้นปี 2560 ประเทศไทยยังได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิก OIC และ SMIIC ซึ่งเมื่อได้เห็นความแข็งแกร่งของฮาลาลประเทศไทย จึงมั่นใจว่าความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับมาเลเซียจะมีมากขึ้นในอนาคต

ประเทศมาเลเซียมีกฎหมายด้านการรับรองฮาลาล โดยกระทรวงการค้า สหกรณ์และผู้บริโภค เป็นผู้ดูแลตั้งแต่เรื่องนโยบายไปจนถึงงบประมาณ รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมาย หน่วยงานด้านศาสนาอิสลามเป็นผู้ดูแลการรับรองฮาลาลของมาเลเซีย โดยมีชื่อย่อว่า JAKIM ซึ่งดำเนินงานภายใต้กระทรวงการค้า สหกรณ์และผู้บริโภค ที่มีรัฐมนตรีกระทรวงการค้าฯ คือผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในเรื่องการรับรอง ฮาลาลของมาเลเซีย จุดสำคัญที่ทางมาเลเซียนำเสนอคือ การมีกฎหมายโดยทางกระทรวงการค้าฯ เป็นผู้ดูแลการบังคับใช้ อันเป็นคำตอบว่าเหตุใด ตราฮาลาลของมาเลเซียจึงได้รับการยอมรับสูง แต่จุดอ่อนของไทยคือ ตราฮาลาลประเทศไทยยังขาดกฎหมายเอาผิดผู้ละเมิดนั่นเอง

ha2

ทั้งได้เห็นตรงกันว่าไทยและมาเลเซียไม่ใช่คู่แข่งกัน คู่แข่งแท้จริงคือ ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีการรับรองฮาลาลทั้งสำหรับมุสลิมและผู้ที่มิใช่มุสลิม เพราะผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้เปรียบด้านราคา จึงทำให้มีโอกาสพัฒนาคุณภาพได้มากกว่า หากสองประเทศร่วมมือกันก็จะสามารถทำให้ผลิตภัณฑ์ฮาลาลแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีการรับรองฮาลาลได้ ทั้งด้านคุณภาพและราคา ผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุดคือ ผู้บริโภครวมทั้งนักธุรกิจและอุตสาหกรรมฮาลาล ความร่วมมือระหว่างสองประเทศ เพื่อพัฒนางานด้านนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง