เปิด 6 หลักการ ยกเครื่อง! รัฐวิสาหกิจ

14 ส.ค. 2560 | 09:54 น.
มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมาเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.... ขั้นตอนจากนี้จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยคาดว่ากฎหมายจะมีบังคับใช้ภายในปีงบประมาณ 2561

ความสำคัญของกฎหมายฉบับนี้จะเพิ่มประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจ สกัดการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองอย่างไร นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) แจงถึง 6 หลักการสำคัญ คือ
1.ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ จะตั้งคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เป็นคณะกรรมการระดับชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีองค์ประกอบกรรมการจากทั้งภาครัฐและเอกชน โดยที่องค์ประกอบเหล่านี้จะประกาศไว้ในราชกิจการนุเบกษา เพื่อที่ต่อไปไม่ว่ารัฐบาลไหนเข้ามา บริหารประเทศในอนาคต การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจจะมีความต่อเนื่อง

2.การจัดทำยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งต้องเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

3.วางระบบการกำกับดูแลมีธรรมาภิบาล โดยเฉพาะเรื่องความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีผู้รับผิดรับชอบ ในอนาคตหากรัฐบาลจะสั่งการอะไร ต้องอยู่ในยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจก่อน หากเป็นมาตรการที่ทำแล้วกระทบฐานะของรัฐวิสาหกิจนั้น ต้องมีการทำ PSA (Public Service Account) แยกบัญชีออกมา และให้เปิดเผยสถานะ มีการประมาณการความเสียหาย

4.กลไกสรรหากรรมการรัฐวิสาหกิจ จะกำหนดจากการทำ skill matrix (สมรรถนะ)หลักของรัฐวิสาหกิจ ทำให้ได้คนตรงตามความสามารถ จำลองแบบเดียวกับการแต่งตั้งผู้ว่าการธปท.

MP25-3287-A “คือในอดีต บอร์ดแบงก์ชาติและรัฐมนตรีจะเป็นคนแต่งตั้งผู้ว่าการแบงก์ชาติ แต่พอมีเหตุการณ์แทรกแซงทางการเมือง ผู้ว่าการไม่ยอมลดดอกเบี้ย ไม่ยอมทำตามนโยบาย รัฐบาลโดยรัฐมนตรีคลังก็เปลี่ยนผู้ว่า การ แต่กฎหมายปัจจุบันวางกลไกตั้งแต่การสรรหา การกลั่นกรอง กรรมการสรรหาต้องคัดเลือกโดยดูจาก skill matrix เสนอเข้ามา 2 ชื่อ และให้ผู้มีอำนาจเลือก 1 จาก 2 ชื่อที่เสนอ ขณะที่กลไกการสรรหาบอร์ดรัฐวิสาหกิจต่อไปก็จะไม่ต่างกัน เทียบกับปัจจุบันรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งจะมีกฎหมายตัวเอง บางแห่งคนแต่งตั้งคือรัฐมนตรี บางแห่งโดยครม. แต่ไม่เคยบอกที่มา กลายเป็นจุดบอดเปิดให้การเมืองสามารถเข้ามาแทรกแซง แต่งตั้งพวกพ้องเป็นบอร์ดทั้งที่ไม่มีความรู้ในวิสาหกิจนั้นเลย จนเกิดคอร์รัปชันได้

5.วางระบบการประเมินผลชัดเจน เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ ผู้บริหารในรัฐวิสาหกิจต้องเดินนโยบายทำตามยุทธศาสตร์ชาติให้ชัดเจน มีการประเมินผลในทุกระดับ

6.จัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ หรือโฮลดิ้งคัมปะนี มีฐานะเป็นนิติบุคคล กระทรวงการคลังถือหุ้น 100% โดยโฮลดิ้งคัมปะนี จะทำหน้าที่รวมศูนย์ โดยจะรับโอนหุ้นที่กระทรวงการคลังถือ ได้แก่ รัฐวิสาหกิจที่ตั้งในรูปแบบ “บริษัทจำกัด (บจก.)” ที่ตั้งภายใต้ พ.ร.บ. มหาชน (บมจ.) รวม 11 แห่ง คือ บจก. ขนส่ง, บจก. ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์, บจก.ไปรษณีย์ไทย, บจก.สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว, บจก.อู่กรุงเทพ, บมจ.กสท โทรคมนาคม ,บมจ.การบินไทย, บมจ.ท่าอากาศยานไทย, บมจ.ทีโอที, บมจ.อสมท และบมจ.ปตท. มาอยู่ภายใต้เพื่อให้การบริหารงานรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ในเชิงพาณิชย์ เพิ่มประสิทธิภาพสามารถแข่งขันได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,287 วันที่ 13 -16 สิงหาคม พ.ศ. 2560