สนามบินดอนเมือง ซ้อมแผนฉุกเฉินเต็มรูปทางการแพทย์

08 ส.ค. 2560 | 08:26 น.
ท่าอากาศยานดอนเมืองจัดการฝึกซ้อมเต็มรูปแบบตามแผนฉุกเฉิน โดยใช้สถานการณ์สมมติ กรณีเหตุการณ์ฉุกเฉินทางการแพทย์ - โรคติดต่อระหว่างประเทศ

 

76_2560_4

(8 สิงหาคม 2560) เวลา 09.00 – 12.00 น. ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ดำเนินการจัดการฝึกซ้อมเต็มรูปแบบตามแผนฉุกเฉิน (Full Scale Exercise) โดยใช้สถานการณ์สมมติ กรณีเหตุการณ์ฉุกเฉินทางการแพทย์ – โรคติดต่อระหว่างประเทศที่มากับอากาศยาน โดยมีนาวาอากาศโท สุธีรวัฒน์ สุวรรณวัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง เป็นประธาน ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง

76_2560_1

นาวาอากาศโท สุธีรวัฒน์ สุวรรณวัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง ทอท.กล่าวว่า ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ได้จัดฝึกซ้อมเต็มรูปแบบตามแผนฉุกเฉินประจำปี 2560 ซึ่งเป็นการฝึกซ้อมร่วมของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยใช้สถานการณ์สมมติ กรณีเหตุการณ์ฉุกเฉินทางการแพทย์ - โรคติดต่อระหว่างประเทศที่มากับอากาศยาน ทั้งนี้ การฝึกซ้อมครั้งนี้เป็นไปตามข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน และตามมาตรฐานและข้อเสนอแนะขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) ระบุใน Annex 14 Aerodromes และ Doc 9137 Airport Service Manual Part 7 Airport Emergency Planning  ที่ระบุให้ท่าอากาศยานแต่ละแห่งจัดให้มีการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินของท่าอากาศยานเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ
นอกจากนั้นยังจะทำให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอก ทดม.ได้รับทราบ และเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน และทดสอบการสั่งการ การสื่อสาร และการประสานงานด้วยความรวดเร็ว ถูกต้อง ความชำนาญของเจ้าหน้าที่ รวมถึงการประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วยที่เกี่ยวข้องตามผังการแจ้งเหตุ ตลอดจนทดสอบการบูรณาการแผนฉุกเฉิน ทดม.กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สายการบิน ผู้ประกอบการ หน่วยงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขต่างๆ และหน่วยงานราชการอื่นที่เกี่ยวข้องตามแผน และยังเป็นการทดสอบความเพียงพอของทรัพยากรที่ใช้ในการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินอีกด้วย

76_2560_2

การฝึกซ้อมในครั้งนี้จะเป็นการจำลองสถานการณ์ โดยสายการบิน Monkey Airlines ได้แจ้งหอบังคับการบินดอนเมืองว่ามีเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ โรคติดต่อระหว่างประเทศเที่ยวบินที่ MK 555 ซึ่งกำลังเดินทางมาถึง ทดม.โดยสงสัยว่ามีผู้โดยสารอาจติดเชื้อไวรัสเมอร์ส (MERS) จำนวน        2 คน เป็นชายไทยเสียชีวิตบนเครื่อง 1 คน และเป็นหญิงไทยมีไข้และมีอาการหายใจหอบเหนื่อย 1 คน เจ้าหน้าที่หอบังคับการบินดอนเมืองได้แจ้งเหตุต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทราบ และร่วมประเมินสถานการณ์
โดยผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมืองพิจารณาเห็นว่าเป็นการสมควรที่จะดำเนินการเพื่อการป้องกันควบคุมโรคเมอร์ส ซึ่งเป็นโรคอันตราย จึงได้ประกาศใช้แผนฉุกเฉิน ทดม.บทที่ 14 กรณีเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ และตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน (Emergency Operation Centre : EOC) โดยกำหนดพื้นที่จอดอากาศยานสำหรับอากาศยาน  ที่มีผู้ติดเชื้อ (Isolate Parking Stand หลุมจอดอากาศยาน 333 ทางขับสาย B-North) และไม่อนุญาตให้ผู้โดยสารและลูกเรือลงจากเครื่อง หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสวมชุด และอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลขึ้นปฏิบัติการคัดกรองผู้โดยสารและลูกเรือบนอากาศยาน โดยใช้เครื่อง Thermo scan แบบ Handheld และแบ่งการคัดกรองผู้โดยสารและลูกเรือเป็น 4 กลุ่ม

ได้แก่ กลุ่มความเสี่ยงต่ำ ซึ่งจะนำไปยังพื้นที่รองรับผู้โดยสาร (Passenger Holding Area) ที่ได้เตรียมพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกไว้แล้ว เพื่อผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมือง และพิธีการศุลกากร ไปพื้นที่พบญาติ และให้กลับที่พักได้ กลุ่มความเสี่ยงสูง ซึ่งจะพาไปยังพื้นที่กักกัน เพื่อรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ในการยืนยันโรคเมอร์ส กลุ่มผู้ป่วย จะถูกนำขึ้นรถของสถาบันบำราศนราดูรไปทำการรับการตรวจรักษา และกลุ่มผู้เสียชีวิต โดยศพผู้เสียชิวิตจะถูกห่อศพและเคลื่อนย้ายภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่นิติเวชศาสตร์ โรงพยาบาลภูมิพล และสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

76_2560_7
หลังจากนั้นสายการบินจะทำความสะอาดอากาศยาน พื้นที่ วัสดุอุปกรณ์ ยานพาหนะตามแนวทางป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคของสายการบิน และ ทดม.ดำเนินการทำความสะอาดวัสดุ อุปกรณ์ พื้นที่ตามมาตรการกำจัดเชื้อ ณ พื้นที่พักรอผู้โดยสาร (Passenger Holding Area) และพื้นที่บริเวณหลุมจอดอากาศยาน 333 และผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมืองประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน

การฝึกซ้อมฯ อาจทำให้ผู้โดยสารไม่ได้รับความสะดวกสบายในช่วงเวลาดังกล่าว ทดม.ต้องขออภัยผู้ใช้บริการท่าอากาศยาน ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ใช้บริการในมาตรการรักษาความปลอดภัย และความปลอดภัยของท่าอากาศยานอย่างสูงสุด ซึ่งภายหลังจากเสร็จสิ้นการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉิน จะมีการประเมินผลการปฏิบัติและตรวจสอบข้อบกพร่องของแผนฉุกเฉิน ที่จะนำมาสู่ปรับปรุงแก้ไขและพัฒนา เพื่อให้แผนฉุกเฉินท่าอากาศยานดอนเมืองมีความสมบูรณ์ รวมทั้งความพร้อมของท่าอากาศยานในการจัดการกับสถานการณ์ฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพต่อไป