ขาใหญ่ในตลาดหุ้น : ‘ศุภกิจ งามจิตรเจริญ’ แรงผลักจากหลายวิกฤติมุ่งมั่นสู่ความสำเร็จ

05 ส.ค. 2560 | 11:07 น.
270725

ขาใหญ่ในตลาดหุ้น 

‘ศุภกิจ งามจิตรเจริญ’ แรงผลักจากหลายวิกฤติมุ่งมั่นสู่ความสำเร็จ

ศุภกิจ งามจิตรเจริญ ซีอีโอหนุ่มวัย 40 ปีต้นๆ ของบริษัทซิก้า อินโนเวชั่นฯ (ZIGA) ว่าที่น้องใหม่ของตลาดทุน เป็นผู้บริหารหนุ่มรุ่นใหม่  ทายาทรุ่น 2 ของครอบครัว “งามจิตรเจริญ” และเป็นผู้นำพี่น้องทั้ง 5 คน ก้าวผ่านวิกฤติหลายครั้งของธุรกิจ

สู่การเติบโต ก้าวขึ้นเป็นผู้นำแถวหน้าผลิตภัณฑ์ท่อร้อยสายไฟ DAIWA และ ท่อเหล็กโครงสร้าง ประเภท PRE-ZINC แบรนด์ ZIGA ของบริษัท
กว่า  20 ปี จากธุรกิจห้องแถว ขายอุปกรณ์ไฟฟ้า รับเหมาติดตั้งไฟฟ้า และค้าของเก่ารุ่นพ่อ ยอดรับรู้รายได้หลักแสนบาท  สู่ยอดขายใกล้หลัก 1,000 ล้านบาท กำไร 226 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา และในวันที่ 17 สิงหาคมนี้ ZIGA มีมูลค่าตลาดหุ้นราว 1,000 ล้านบาท

ศุภกิจ งามจิตเจริญ

ศุภกิจ งามจิตรเจริญ


ธุรกิจห้องแถว เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2533 ในร้านชื่อ “ศิริชัยการไฟฟ้า”  คูหาเดียว ย่านแม้นศรี สวนมะลิ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เมื่อคุณพ่อของ “ศุภกิจ” ซึ่งเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตติ้ง เป็นช่างรับเหมาติดตั้งไฟฟ้าและขายอุปกรณ์ไฟฟ้า เส้นทางธุรกิจมิได้สวยหรู มีขึ้น-ลง ตามจังหวะของผู้นำรุ่นแรก แม้ว่าคุณพ่อจะเป็นนักขายฝีมือดี แต่การใช้จ่ายเงินล่วงหน้า สังคมอุปถัมภ์ ทำให้ธุรกิจครอบครัวสะดุด เข้าข่ายล้มละลาย ต้องเลิกกิจการ แต่ด้วย ดีเอ็นเอ ของการต่อสู้  ไม่หยุดคิด หยุดพัฒนา  ได้เริ่มต้นธุรกิจเล็กๆ ใหม่อีกครั้ง ซึ่งบิดาได้ไปประมูลท่อร้อยสายไฟ แล้วนำมาแปรรูป เพิ่มมูลค่าเพิ่มให้สินค้า มาตัดแต่งดัดเป็นท่อโค้ง ธุรกิจทำท่าไปด้วยดี แต่ต้องมาสะดุดอีกครั้งจากพฤติกรรมดื่มหนัก ขายหนี้ ใช้เงินล่วงหน้า และในวันที่ขาดผู้นำครอบครัว มารดาจึงลุกขึ้นมาเป็นผู้นำ สานต่อธุรกิจ วิ่งหาทุน เครื่องจักร สถานที่ประกอบการ เครดิตการทำธุรกิจเริ่มกลับมาอีกครั้ง

“ศุภกิจ” ซึ่งเป็นลูกชายคนโต แต่เป็นลูกคนที่ 2 ที่รับรู้วิกฤติต่างๆ มาหลายครั้ง หลังศึกษาจบปริญญาตรีวิศวะไฟฟ้า อายุ 21-22 ปี ได้เริ่มช่วยธุรกิจที่บ้านอย่างจริงจริง ผลิตเอง ขายเอง ขึ้นของ วางบิล เก็บเช็ค นับสต๊อกสินค้า ทำคนเดียว หาผู้รับจ้างผลิตท่อร้อยสายไฟ นำมาตัด-ชุบ ตีตรา คิดหาแบรนด์เป็นของตัวเอง โดยเริ่มต้นจากลูกค้าร้านค้าไฟฟ้าที่เคยซื้อท่อโค้งจากร้านญาติๆ เมื่อธุรกิจเริ่มเข้าสู่การแข่งขัน เขาจึงคิดให้มากกว่าเดิมไปจนถึงการวิ่งขอมาตรฐานสินค้า มอก.

ปี 2541 หลังจากสูญเสียบิดา-มารดา “ศุภกิจ” ในฐานะลูกชายคนโต จึงเริ่มตั้งบริษัท จิตรเจริญ โปรเกรสฯ โดยควบรวมกิจการท่อร้อยสายไฟของครอบครัว พร้อมภาระหนี้สิน สู่ธุรกิจผลิตท่อโค้งและท่อร้อยสายไฟ ได้ชักชวนพี่น้องรวม 5 คน กลับมาร่วมกันทำธรุกิจอีกครั้ง ผลักดันธุรกิจให้เติบโต ทั้งด้านวิศวกรรมและการบริหาร  และปี 2548 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ไดว่า อินดัสตรีฯ ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น ซิก้า  อินโนเวชั่น  (ZIGA)  ด้วยวิสัยทัศน์มองกาลไกลถึงความต้องการท่อเหล็กร้อยสายไฟ ท่อชุบกันสนิม

บรรดาพี่น้อง 5  คน แบ่งหน้าที่ตามความถนัด พี่ใหญ่ “วราลักษณ์ งามจิตรเจริญ” กรรมการผู้จัดการ  ทำหน้าที่นำเข้า-ส่งออกสินค้า, น้องชายคนเล็ก “ธีรนาท” ถนัดด้านไอที วางระบบช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสินค้า, “เมทินี” น้องสาวคนเล็ก จบวิศวะการไฟฟ้าด้านโทรคมนาคม ช่วยดูแลการผลิต

“ศุภกิจ” ยํ้าว่า วิกฤตการณ์ต่างๆ ของครอบครัว ช่วยสอนและเตือนใจในการทำธุรกิจ ไม่ให้ประมาท มีความพอเพียง ไม่นำเงินในอนาคตมาใช้ล่วงหน้า  เพราะเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน การทำงานให้มาก ใช้น้อยๆ ไม่โชว์ออฟ ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ใดๆ แต่อะไรที่ทำแล้วเป็นประโยชน์จริงๆกับธุรกิจ กับสังคม เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย

“ดีเอ็นเอของพ่อแม่ ผม และพี่น้องทุกคน เป็นดีเอ็นเอ ที่ต้องดิ้นรน ผมเคยถูกหลอกมาหลายครั้ง จึงไม่เคยวางใจกับตลาด (สินค้า) ที่ดีในปัจจุบัน จึงต้องเสริมตลาด พัฒนาสินค้า มีนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามา  ให้ลูกค้ามั่นใจผลิตภัณฑ์ของ ZIGA และ DAIWA ผมเป็นคนไม่มีฟอร์ม เป็นคนชอบทำงาน การทำงานสนุกเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่แยกจากกันไม่ได้ ทำให้ลืมเรื่องราวอดีตที่เลวร้ายแล้วมุ่งมั่นทำงานให้เกิดความมั่นคงกับบริษัท กับคนข้างหลังที่เป็นครอบครัว พี่น้อง พนักงาน และสร้างความมั่นใจให้ลูกค้า”

“ศุภกิจ” กล่าวทิ้งท้ายการสนทนา หุ้นบางส่วนที่ “ครอบครัวงามจิตรเจริญ” ขายออกมาในการเสนอขายหุ้นครั้งแรกต่อประชาชนทั่วไป (IPO) จำนวน 50 ล้านหุ้น  มีแนวคิดและฝันที่จะพัฒนาพื้นที่บางมด เขตบางขุนเทียน ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ปลูกส้มบางมดอันขึ้นชื่อของประเทศไทย ให้กลับมาก่อนที่ส้มบางมด จะถูกส้มชนิดอื่นๆ กลืนกินไปในที่สุด และให้สวนบางมด เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ของเขตบางขุนเทียน

คอลัมน์ : ขาใหญ่ในตลาดหุ้น / หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ/ ฉบับ 3285 ระหว่างวันที่ 6-9 ส.ค.2560 

E-BOOK แดง